เอกชนคึกพร้อมประมูล!

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนคึกพร้อมประมูล!

Date Time: 17 ส.ค. 2560 06:15 น.

Summary

  • กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยร่างเงื่อนไขทีโออาร์ เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชในอ่าวไทย ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 ในระบบพีเอสซี คาดหวังราคาก๊าซธรรมชาติ

Latest

บาร์บีคิวพลาซ่า x วิตอะเดย์ เปลี่ยน “ผัก” ข้างเตาปิ้งย่าง ให้เป็น น้ำวิตามินกะหล่ำปลี

เปิดเงื่อนไขแหล่งก๊าซ “เอราวัณ-บงกช”

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยร่างเงื่อนไขทีโออาร์ เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชในอ่าวไทย ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 ในระบบพีเอสซี คาดหวังราคาก๊าซธรรมชาติ จะต้องไม่สูงเกินกว่าราคาในปัจจุบัน เหตุหวั่นค่าไฟฟ้าพุ่ง “เชฟรอน” พร้อมเข้าแข่งประมูล ตอกย้ำการเข้ามาลงทุนในไทย 55 ปี ปตท.สผ.ประกาศพร้อมใส่ผลประโยชน์ตอบแทนเต็มพิกัด แข่งขันแย่งทั้ง 2 แหล่งเช่นกัน

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การประกาศประมูลแหล่งปิโตรเลียมรายภาค โดยในอ่าวไทย ให้ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ดังนั้น กรมฯจะเร่งเสนอร่างประมูลแข่งขัน (TOR) แหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและบงกช ต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม และเมื่อได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน ก็จะเสนอให้ ครม.พิจารณาในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเปิดให้เอกชนเสนอแข่งขันประมูลในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ขณะที่การประมูลแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ จะเปิดให้ยื่นแข่งขันได้ภายใน 3 เดือน ถัดจากการพิจารณา 2 แหล่งนี้เสร็จสิ้น

สำหรับหลักเกณฑ์พีเอสซี เป็นการกำหนดวิธีคำนวณจากรายได้ที่พบปิโตรเลียม แบ่งเป็นค่าภาคหลวง 10% กำหนดการหักค่าใช้จ่าย 50% เหลืออีก 40% เป็นการแบ่งครึ่ง หรือ 50% ทั้งรายได้และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า PROFIT SHARING โดยส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถเสนอตัวเลขเพื่อแข่งขันได้ ขณะที่ร่างทีโออาร์ ก็จะกำหนดให้เอกชนเสนอ เรื่องการวางแผนผลิตให้ต่อเนื่องในอัตราที่เหมาะสม รวมถึงการต้องจ้างแรงงานคนไทย และราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จำหน่ายจะต้องไม่สูงกว่าที่ขุดพบได้ในขณะนี้มากนัก

ขณะเดียวกัน การจะปรับสูตรรับซื้อก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ-บงกช ก็จะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งราคาตลาดโลก และมูลค่าการลงทุนใหม่ที่จะสูงขึ้น โดยหลักเกณฑ์ก็จะให้ได้ราคาที่ไม่สูงไปกว่าเดิมมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้า ส่วนพนักงานขุดเจาะสำรวจไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นรายใหม่หรือไม่ จะมีการกำหนดเรื่องการใช้พนักงานคนไทย โดยอาจกำหนดสัดส่วนจ้างงานคนไทย 70-80% ของคนงานรวม รวมถึงผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องมีประสบการณ์ในการสำรวจและผลิตในแหล่งปิโตรเลียมทั่วโลก ที่มีกำลังผลิตไม่น้อยกว่าแหล่งเอราวัณ-บงกช

“ในปัจจุบันผู้ดำเนินการหรือโอเปอเรเตอร์แหล่งเอราวัณ ได้แก่ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ส่วนแหล่งบงกช คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยผู้บริหาร ปตท.สผ.เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า เตรียมพร้อมศึกษาเพื่อเข้าประมูลทั้ง 2 แหล่ง ที่มีกำลังผลิตใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยปัจจุบันผลิตรวมกัน 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายสตีฟ กรีน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนเอเชียแปซิฟิกสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า เชฟรอนประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวในประเทศไทย ซึ่งเชฟรอนอยู่ระหว่างการเตรียมตัว เพื่อเข้าร่วมในการประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุดังกล่าว เพื่อคงความต่อเนื่องในการผลิตพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย และเชฟรอน มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ กับประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 55 ปี และได้เดินหน้าขยายการลงทุนด้านปิโตรเลียม ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.กล่าวว่า ปตท.สผ.พร้อมเข้าร่วมประมูลแหล่งก๊าซฯทั้ง 2 แหล่ง เพราะ ปตท.สผ.เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงมีเป้าหมายที่ต้องชนะการประมูล และจะเสนอผลประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดให้กับภาครัฐ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ