ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของเหล่ามนุษย์เงินเดือนไปทั่วโลก ทั้งการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการทำงานแบบ work from home และ work from anywhere หรือแม้กระทั่งการกลับมาของกระแสลดจำนวนวันทำงาน และแม้วิกฤตการณ์โควิดจะผ่านไปได้เกือบ 2 ปีแล้ว แต่พนักงานจำนวนไม่น้อยยังคุ้นชินกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน เน้นบริหารจัดการเวลาของตัวเอง เพื่อให้สามารถทำงานตามเป้าหมายได้
แนวคิดการทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงนั้น เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว แต่การแพร่ระบาดโควิด ได้ผลักดันให้แนวคิดนี้ได้รับความสนใจอีกครั้ง ทำให้บริษัทและผู้กำหนดนโยบายการทำงานทั่วโลก หันมาพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการลดจำนวนวันทำงานให้เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์
โดย 4 Day Week Global ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ ได้จัดทำโครงการทดลองทำงาน 4 วัน ร่วมกับบริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์
ผลวิจัยจากการเข้าร่วมการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ของบริษัทพาร์ตเนอร์ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา พบว่าพนักงานสามารถหาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้มากขึ้น หลังจากผ่านไป 6 เดือน พนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น เหนื่อยน้อยลง มีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น อีกทั้งยังใช้เวลาทำงานลดลง เฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง และมีชั่วโมงการทำงานเหลือ 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จาก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนพนักงานที่ทำงานตามแผนการทดลองอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 12 เดือน พบว่าชั่วโมงการทำงานลดลงเหลือประมาณ 33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการทดลองนี้ให้ความเห็นว่า การลดวันทำงานนั้นส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในระยะยาว เนื่องจากพนักงานคุ้นเคยกับชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง ถึงแม้จะลดวันทำงานเหลือ 4 วัน แต่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ขอให้พนักงานเร่งทำงานให้ครอบคลุมชิ้นงาน 5 วัน แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทเหล่านี้ลดการประชุมที่ไม่จำเป็นลง เพื่อให้พนักงานใช้สมาธิทุ่มเทเวลาให้กับงานสำคัญแทน
Jenise Uehara ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Search Engine Journal บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการตลาดดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองนี้ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้ว เธอยื่นข้อเสนอ อนุญาตให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากในตอนนั้น บริษัท ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการลาออกที่สูง จากการขยายตัวของธุรกิจ ทำให้พนักงานรู้สึกหนักใจกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น
เมื่อบริษัทได้ทดลองใช้วิธีการบริหารงานตามคำแนะนำของผู้วิจัย ด้วยการยกเลิกการประชุมทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อจัดลำดับความสำคัญประเด็นการประชุม และเปลี่ยนวิธีการประชุมมาเป็นการอัปเดตความคืบหน้าของกระบวนการทำงานของพนักงานแต่ละคน ผ่านเอกสารที่แชร์ร่วมกัน
เมื่อผ่านไป 6 เดือน พบว่าบริษัทมีอัตราการลาออกของพนักงานในองค์กรลดลง อีกทั้งภาพรวมประสิทธิภาพการทำงานยังเพิ่มขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคกับลูกค้าที่ร่วมทำงานกับบริษัท เนื่องจากสามารถรักษาคุณภาพของงานได้มากกว่าหรือเทียบเท่ากับการทำงาน 5 วัน ทำให้บริษัทวางแผนที่จะให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ต่อไป และหยุดงานทุกวันศุกร์
อย่างไรก็ตาม บริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงให้พนักงานทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ตามกฎหมายแบบเดิม การลดจำนวนวันทำงานลงเหลือ 4 วัน ยังเกิดขึ้นในบริษัทขนาดเล็กเท่านั้น.
อ้างอิง