“โครงการแจ้งเบาะแส” ให้เหตุทุจริตในองค์กรได้ผลดีเกินคาด ตรวจจับฉ้อโกง สร้างแวดล้อมการทำงานปลอดภัย

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“โครงการแจ้งเบาะแส” ให้เหตุทุจริตในองค์กรได้ผลดีเกินคาด ตรวจจับฉ้อโกง สร้างแวดล้อมการทำงานปลอดภัย

Date Time: 28 ก.ย. 2567 09:44 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ดีลอยท์ ชี้ องค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการดำเนิน “โครงการแจ้งเบาะแส (Whistleblowing)” มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดให้พนักงานภายในสามารถแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือกระทำผิดภายในองค์กร พบ 91% จากการสำรวจ กำหนดนโยบายการแจ้งเบาะแสในองค์กร เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางจริยธรรม และส่งเสริมด้านความโปร่งใส

Latest


รายงานผลสำรวจ Conduct Watch ล่าสุดของดีลอยท์ พบว่าองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการดำเนิน “โครงการแจ้งเบาะแส (Whistleblowing)” มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดให้พนักงานภายในสามารถแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือกระทำผิดภายในองค์กร ผ่านการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรกว่า 500 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งออสเตรเลีย จีน เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งการที่องค์กรมีการดำเนินโครงการแจ้งเบาะแสนี้ ช่วยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางจริยธรรม ส่งเสริมด้านความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

จากแบบสำรวจพบว่า 91% ขององค์กรที่ร่วมตอบแบบสอบถามได้มีการกำหนดนโยบายการแจ้งเบาะแสเพิ่มขึ้นจาก 87% ในปี 2566 ผู้ตอบแบบสอบถามยังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการแจ้งเบาะแสเพิ่มมากขึ้น โดยองค์กร 66% ระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเทียบกับปี 2566 ที่ตระหนักเรื่องนี้เพียง 58%

นอกจากนี้ รายงาน Conduct Watch ของดีลอยท์ ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับนโยบายการแจ้งเบาะแสขององค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ติดตามการพัฒนาของโครงการแจ้งเบาะแส จากการสำรวจครั้งแรกในปี 2566 และนำเสนอความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมองขององค์กรที่มีต่อการแจ้งเบาะแส รายงานนี้เจาะลึกถึงวัตถุประสงค์ของโครงการแจ้งเบาะแสขององค์กร ความพร้อมของช่องทางการรายงานและการสื่อสาร การรักษาความต่อเนื่องของกระบวนการดำเนินงานดังกล่าว รวมถึงวิธีการปกป้องข้อมูล

การที่องค์กรหันมาให้ความสำคัญต่อการแจ้งเบาะแสนี้ ยังส่งผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น เพิ่มความโปร่งใสขององค์กร เพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นจริยธรรม และธรรมาภิบาล จะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจพบและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในระยะยาว

บริษัท APAC ให้ความสำคัญกับนโยบายการแจ้งเบาะแสเพิ่มมากขึ้น

ผู้บริหารระดับสูงหันมาให้ความสำคัญกับโครงการแจ้งเบาะแสในองค์กรมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงการยอมรับความสำคัญของการแจ้งเบาะแสมากขึ้น ในปี 2567 ผู้บริหารระดับสูง 32% มีบทบาทสำคัญในการดูแลโครงการแจ้งเบาะแสขององค์กร ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 2566 อย่างมีนัยสำคัญ

องค์กรใช้โครงการแจ้งเบาะแสเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมทางจริยธรรมและเพิ่มความโปร่งใสในที่ทำงาน โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความซื่อสัตย์ทางการเงิน ระหว่างปี 2566 และ 2567 พบว่า

  • องค์กรได้ให้ความสำคัญมากขึ้นในการปรับปรุงวัฒนธรรมด้านจริยธรรมและความซื่อสัตย์ (เพิ่มจาก 25% เป็น 26%)
  • การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและโปร่งใส (เพิ่มจาก 21% เป็น 23%)
  • การมุ่งเน้นการตรวจจับการฉ้อโกงและการทุจริตทางการเงินอื่น ๆ (เพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 28%)
  • แต่การริเริ่มโครงการที่เป็นผลจากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดของกลุ่ม (ลดลงจาก 20% เป็น 11%)

ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงว่าองค์กรมีแรงจูงใจภายในมากขึ้นในการนำนโยบายการแจ้งเบาะแสมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำกับดูแลที่ดี

การแจ้งเบาะแสได้พัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ของตนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับปัญหาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงินและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของโครงการแจ้งเบาะแสที่องค์กรคาดหวัง คือ

  • การตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงในระยะเริ่มต้นที่ 35%
  • การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย 31%
  • การเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 20%

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์กรตระหนักถึงประโยชน์ในวงกว้างของโครงการแจ้งเบาะแสที่แข็งแกร่ง นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการรักษามาตรฐานทางจริยธรรมผ่านการตรวจจับการฉ้อโกงและการทุจริต

องค์กรต้องสื่อสารนโยบายการแจ้งเบาะแสที่ชัดเจนและสม่ำเสมอมากขึ้น

องค์กรจำเป็นต้องมีความพยายามอย่างสม่ำเสมอในการสื่อสารนโยบายการแจ้งเบาะแสของตน รวมถึงให้ความรู้และคำแนะนำที่เพียงพอเกี่ยวกับช่องทางการแจ้งเบาะแส เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากการแจ้งเบาะแสได้อย่างเต็มที่ องค์กรที่ร่วมการสำรวจ 44% ระบุว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบเวลาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการสื่อสารนโยบายการแจ้งเบาะแสของตนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะที่องค์กรน้อยกว่าหนึ่งในสี่ หรือ 24% มีการสื่อสารเกี่ยวกับโครงการแจ้งเบาะแสเป็นรายปี ดังนั้น องค์กรจึงจำเป็นต้องประเมินและปรับปรุงกลยุทธ์การสื่อสารของตนเพื่อให้แน่ใจว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนการแจ้งเบาะแสอย่างมีประสิทธิภาพ

ความท้าทายส่วนใหญ่ที่องค์กรเผชิญเมื่อนำโครงการแจ้งเบาะแสมาใช้ เป็นเรื่องความไว้วางใจของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบายขององค์กร โดย 61% ของความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญในการนำโครงการแจ้งเบาะแสมาใช้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของพนักงาน เช่น ความเป็นอิสระ การรับรู้ในเรื่องโครงการ และความกลัวการตอบโต้ แสดงถึงการพัฒนาขึ้นจากปี 2566 ที่ 69% ของความท้าทายเกี่ยวข้องกับปัญหาในลักษณะเดียวกันของพนักงาน เพื่อรับมือความท้าทายเหล่านี้และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของธุรกิจ องค์กรอาจพิจารณาใช้บริการแจ้งเบาะแสภายนอก เพื่อบรรเทาความกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแจ้งเบาะแส

ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงนโยบายการแจ้งเบาะแสให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการอุดช่องโหว่ ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และให้แน่ใจว่าโครงการสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดระบบแจ้งเบาะแสที่แข็งแกร่ง มั่นคง และตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ