คนรุ่นใหม่ บ้านไม่รวย สร้างตัวยาก เปิด 3 ทางรอด จาก World Bank แค่ขยันไม่พอ ต้องเก่งรอบด้าน

Business & Marketing

Executive Interviews

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)

Tag

คนรุ่นใหม่ บ้านไม่รวย สร้างตัวยาก เปิด 3 ทางรอด จาก World Bank แค่ขยันไม่พอ ต้องเก่งรอบด้าน

Date Time: 2 ม.ค. 2568 15:39 น.

Video

วิเคราะห์อนาคต Google เจ้าแห่งเสิร์ชเอนจิน จะอยู่ยังไง ถ้าไม่ได้ผูกขาด | Digital Frontiers

Summary

  • ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในไทยลดลงอย่างก้าวกระโดด แต่ทำไมคนรุ่นใหม่ “สร้างตัวยาก” Thairath Money ชวนร่วมหาคำตอบและทางรอดไปกับ ฐานิดา อารยเวชกิจ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย

Latest


เป็นความจริงที่ว่าเกิดเป็นคนยุคไหนก็ต้อง “ลำบาก” ก่อนที่จะ “สบาย” ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในยุคเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่จะต้องเหนื่อยกับการสร้างตัวมากขึ้น หลังวิกฤตการณ์โควิด เราจะเห็นคนรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า “สร้างตัวยาก” หลายคนหมดความหวังที่จะมีบ้านหรือรถยนต์เป็นของตัวเอง บางคนถึงกับถอดใจที่จะใช้ชีวิตเกษียณ เตรียมใจทำงานตลอดชีวิต เพราะมองว่ารายได้โตไม่ทันค่าครองชีพ

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในไทยลดลงอย่างก้าวกระโดด แต่ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงยังรู้สึกว่าสร้างตัวยาก Thairath Money ชวนร่วมหาคำตอบและทางรอดไปกับ ฐานิดา อารยเวชกิจ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย

ไทยเหลื่อมล้ำด้านโอกาส คนจนเลื่อนสถานะยาก

ก่อนที่จะไปสืบหาต้นตอสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสร้างตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ ฐานิดากล่าวว่าเราต้องเห็นภาพใหญ่ให้ตรงกันก่อนว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทยส่งผลต่อการเลื่อนสถานะทางสังคมของคนอย่างไร

ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดระดับความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านรายได้ แต่ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก สะท้อนจากกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% ถือครองความมั่งคั่ง 75% ของความมั่งคั่งทั้งประเทศ และถือครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศ

สาเหตุที่คนไทยสร้างตัวยากขึ้นเกิดจากความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เริ่มตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงระบบสาธารณสุข การเข้าถึงการศึกษา คุณภาพโรงเรียนที่แตกต่างกัน ทำให้ค่าตอบแทนของคนยุคใหม่เมื่อจบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ค่าตอบแทนที่แตกต่างกันไปด้วย ผลการศึกษาของ World Bank พบว่า คนที่จบปริญญาตรีที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีจะมีรายได้จากการทำงานสูงกว่าคนที่จบปริญญาตรีที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะด้อยกว่า

สอดคล้องผลสำรวจในปี 2562 ที่พบว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่าสถานะทางสังคมขึ้นอยู่กับสถานะครอบครัว ถ้าครอบครัวมีฐานะดีก็จะส่งเสริมให้สถานะทางสังคมของตัวเองดีไปด้วย ในทางตรงกันข้ามคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ดีก็จะยังคงอยู่ในสถานะเดิม ไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำในไทยนั้นคงอยู่ตลอดวงจรชีวิตและสามารถสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อไป

เมื่อความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ แต่ศักยภาพเศรษฐกิจเติบโตได้น้อยลง นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนรุ่นใหม่แม้จะพยายามทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่เห็นหนทางที่จะยกระดับสถานะทางสังคมของตัวเอง

“ประเทศไทยเติบโตอย่างไม่เท่าเทียมมาตลอด สมัยก่อนย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยปีละ 6-7% ซึ่งสูงมาก เมื่อเค้กมันใหญ่ แต่การแบ่งเค้กมีความเหลื่อมล้ำ คนที่ได้ส่วนแบ่งน้อยก็ยังรู้สึกว่าสร้างตัวได้ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 3% เค้กที่แบ่งได้ก็เล็กลง แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำ คนที่แทบไม่มีส่วนแบ่งในเค้กก้อนนี้เลยก็จะรู้สึกว่าสร้างตัวยาก” ฐานิดากล่าว

การสร้างตัวสมัยนี้กับสมัยก่อนเปลี่ยนไปอย่างไร

รูปแบบการสร้างตัวเปลี่ยนไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ขึ้นอยู่กับทักษะการปรับตัวของคนแต่ละกลุ่ม สำหรับแรงงานนอกระบบ การเข้ามาของเทคโนโลยี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ลดข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูล ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้มากขึ้น

เช่น การเกิดขึ้นของอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ทำให้ลักษณะงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติมและรู้สึกสร้างตัวง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบการศึกษาใหม่ จึงสามารถปรับตัวได้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนที่ติดกับดักระบบการศึกษาเก่า ได้รับการพัฒนาทักษะ เพื่อทำงานในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรม และภาคบริการก็จะรู้สึกสร้างตัวยาก เพราะปรับตัวไม่ได้

จะรวยได้ในยุคนี้ แค่ขยันไม่พอต้องเก่งรอบด้าน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะเกิดคำถามในใจว่า ในยุคเศรษฐกิจโตต่ำ เหลื่อมล้ำสูงแบบนี้ มายาคติขยันทำงานหนัก ยังทำให้เรารวยขึ้นได้อยู่ไหม

“มายาคติขยันทำงานแล้วจะรวย เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง 100% ไม่ว่าจะสภาพเศรษฐกิจแบบไหน การขยันทำงานหนัก เป็นคุณลักษณะสำคัญ ที่ทำให้คนเรามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ปัจจุบันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การทำงานหนักไม่เพียงพอแล้ว ต้องมีทักษะอื่นด้วย” ฐานิดากล่าว

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ชี้ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน ระบบเศรษฐกิจของไทย มีความต้องการแรงงาน ที่มีทักษะการทำงานแบบใช้แรงซ้ำ ๆ (Manual Routine Work) โดยยิ่งทำมาก ยิ่งมีโอกาสได้เงินมาก จึงเป็นที่ของมายาคติทำงานหนักแล้วรวย แต่ปัจจุบันความต้องการทักษะแรงงานเปลี่ยนไป ในการทำงาน ๆ หนึ่ง ต้องการทักษะทั้ง Hard skills และ Soft skills โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) และความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) และทักษะการสื่อสาร ดังนั้นการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากมีทักษะที่เป็นที่ต้องการแล้ว อีกทักษะที่ขาดไม่ได้คือ ทักษะการวางแผนการเงิน ถ้าทำงานหนัก เก็บเงินเยอะ ๆ แต่ไม่มีการวางแผนทางการเงิน ก็ไม่สามารถสร้างตัวหรือมั่งคั่งขึ้นมาได้ สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก

3 ทางรอด เปิดทางคนรุ่นใหม่สร้างตัว

ฐานิดา ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราเห็นภาพรวมของสถานการณ์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งทำให้การขยันทำงานอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะยกระดับสถานะทางสังคมได้ คนรุ่นใหม่จึงต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่ทุกปัญหาไม่สามารถแก้ได้ที่ตัวเรา เมื่อถามถึงทางรอดที่จะช่วยปลดล็อกคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสในการสร้างตัวมากขึ้น คุณฐานิดา มองว่ามี 3 แนวทางที่ทำได้

3 สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้าง

1. พัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคใหม่ รัฐบาลต้องช่วยส่งเสริม คนรุ่นใหม่ต้องพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ จากการศึกษาพบว่า ตำแหน่งงานเดิม ความต้องการทักษะในงานนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปี หมายความว่า ต่อให้เราทำงานในตำแหน่งเดิม แต่ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดจะเปลี่ยนไป เราจึงต้องปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อความอยู่รอด การมีทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) จึงสำคัญมาก

2. ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สิ่งสำคัญอย่างแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ การปลดล็อกการเข้าถึงการศึกษา และระบบพัฒนาทักษะแรงงานอย่างเท่าเทียม ทำให้คนทุกกลุ่มไม่ว่าจะมาสถานะไหน บ้านรวย หรือจนก็สามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะแรงงานที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคใหม่

3. ลดการผูกขาดธุรกิจ เมื่อย้อนดูธุรกิจในภาคเอกชนของไทยจะพบว่า ตลาดถูกครองด้วยผู้เล่นไม่กี่ราย สภาพแวดล้อมที่ขาดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ทำให้มีพื้นที่พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ น้อยลง จำกัดโอกาสของคนรุ่นใหม่

จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในการปฏิรูปนโยบายการแข่งขันทางการค้า ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เข้ามาแข่งขันในตลาดมีพื้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถส่งเสริม 3 แนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้ ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างตัวได้ แต่ยังช่วยปลดล็อกประเทศจากกับดักรายได้ปานกลาง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ติดตามข่าวสารด้านการตลาดและธุรกิจ กับ Thairath Money ที่จะทำให้ “การเงินดีชีวิตดี” ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)
Junoir Content Creator at Thairath Money