“เตชะวิบูลย์” เบอร์ 1 กล่องบรรจุผลไม้-ทุเรียนส่งออก กู้เงินก้อนแรก 200 บาท ตั้งต้นธุรกิจ

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

“เตชะวิบูลย์” เบอร์ 1 กล่องบรรจุผลไม้-ทุเรียนส่งออก กู้เงินก้อนแรก 200 บาท ตั้งต้นธุรกิจ

Date Time: 3 มิ.ย. 2567 13:57 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ทำความรู้จักครอบครัว "เตชะวิบูลย์" เจ้าของบริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC ผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ผ่านกาลเวลาหลายทศวรรษ และเติบโตเป็นผู้ผลิตกล่องในใจลูกค้ารายใหญ่จำนวนมาก

Latest


HSFC หรือ ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ เป็นบริษัทผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตมาจากผู้ผลิตกล่องกระดาษสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค กล่องบรรจุสินค้าหลายบริษัทใหญ่ล้วนเป็นลูกค้าของปัญจพลฯ ธุรกิจครอบครัวที่เติบโตต่อเนื่องมาถึงเจเนอเรชันที่ 4 และเป็นเบอร์ 1 ในตลาดผู้ผลิตกล่องบรรจุผลไม้ โดยเฉพาะในยุคที่ทุเรียนไทยส่งออกสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ชาวสวนทั้งประเทศ

#ThairathMoney สัมภาษณ์ผู้บริหาร 4 เจเนอเรชัน ถึงการก่อร่างสร้างตัว การเติบโต และทิศทางของธุรกิจเพื่อตอบรับกับโจทย์ใหม่ๆ ในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นเติบโต 

“สุทัศน์ เตชะวิบูลย์” ประธานกรรมการบริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC เป็นหัวเรือใหญ่วัย 88 ปี ของบริษัทผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เบอร์ต้นๆ ของประเทศ ครองส่วนแบ่งในตลาดสินค้ากลุ่มนี้ได้เทียบชั้นกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 


สุทัศน์ เล่าว่า เขาเข้ามาธุรกิจนี้นับตั้งแต่วันที่ช่วยคุณพ่อ (เลี้ยง เตชะวิบูลย์) ทำโรงงานลังบรรจุสินค้าอุปโภคบริโภค โดยคุณพ่อกู้เงินก้อนแรกเปิดกิจการมูลค่า 200 บาท ในปี 1932 (พ.ศ.2475) ในวันที่เขาอายุเพียง 4 ขวบ

กระทั่งในยุคที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ ปัญจพลฯ หรือ เฮี่ยงเซ้ง ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ (HSFC) ต้องทำตามมาตรฐานบรรจุภัณฑ์การขนส่งทางรถไฟ หรือที่เรียกว่า “Rule 41” จึงเป็นจุดเปลี่ยนทำให้บริษัทต้องทำโรงงานกล่องกระดาษแทนลังไม้

เขาเล่าว่า ลูกค้าคือยูนิลีเวอร์ส่งเขาไปเจรจากับ ECD ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งออกของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อเจรจาซื้อเครื่องจักรจากอังกฤษ ด้วยสัญญาเงินกู้ 5 แสนปอนด์ ดอกเบี้ย 4% ต่อปี ในยุคที่แบงก์ในประเทศในตอนนั้นคิดดอกเบี้ยเงินกู้ 12% ต่อปี 

อย่างไรก็ตาม เงินกู้ 5 แสนปอนด์จากอังกฤษ แบ่งเป็นค่าเครื่องจักรกว่า 2 แสนปอนด์ ส่วนที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน และมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องผลิตกล่องให้ยูนิลีเวอร์จนกว่าจะใช้หนี้หมด และตั้งแต่ตอนนั้นถึงปัจจุบัน “ยูนิลีเวอร์” จึงเป็นลูกค้ารายใหญ่รายเดียวที่ผูกติดกันมา แม้ปัจจุบันบริษัทจะมีลูกค้ารายใหญ่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ยูนิลีเวอร์ก็เป็นลูกค้าที่ผูกแน่นกันมาตลอด

สุทัศน์ เตชะวิบูลย์ ประธานกรรมการบริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC
สุทัศน์ เตชะวิบูลย์ ประธานกรรมการบริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC

“ธุรกิจของเราค่อยๆ เติบโต เราทำมานาน เรารักษาคุณภาพ และคำมั่นที่ให้กับลูกค้า เราลงทุนเครื่องจักร และพัฒนาระบบ ปัจจุบันเป็นคอมพิวเตอร์หมด ถ้าคุณต้องการกล่องที่มีคุณภาพ กระดาษที่มีคุณภาพ คุณซื้อที่อื่นไม่ได้นอกจากของผม ถ้าไปจันทบุรี เจ้าของล้งทั้งหลายรู้จักแต่ปัญจพลฯ” สุทัศน์ กล่าว

รักษาคุณภาพ ให้เท่ารักษาผลตอบแทนการลงทุน

ในยุคที่การซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เฟื่องฟู และทุเรียนส่งออกสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยระดับแสนล้านบาท ผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ซึ่งอยู่ในซัพพลายเชนนี้ คือ ผู้ได้รับโอกาสเติบโตทางธุรกิจอีกครั้ง


“ศรัณยู เตชะวิบูลย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC ผู้บริหารเจเนอเรชัน 3 และเล่าเรียนด้านวนศาสตร์ ป่าไม้ รู้เรื่องไม้และกระดาษอย่างถ่องแท้ เล่าว่า เขาเข้ามาดูแลธุรกิจนี้เพราะพ่อ (สุทัศน์ เตชะวิบูลย์) พาไปโรงงานตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เรียนจบจากต่างประเทศกลับมาก็มาทำงานในธุรกิจของครอบครัว 

ศรัณยู บอกว่า ลูกค้ารายเดิมที่ทำธุรกิจกันมานานๆ รู้ว่าของเรามีคุณภาพ ส่วนรายใหม่ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการสั่งซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้ธุรกิจเติบโต เพราะคนขายคนซื้อชอบบรรจุของในกล่องมากกว่าใส่ถุง เพราะกล่องรับแรงกระแทกได้ จัดวางได้ลงตัว

ศรัญยู เตชะวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC
ศรัญยู เตชะวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC

“4 ปีที่ผ่านมา เซกเมนต์ของกระดาษและกล่อง มันแยกกันชัด หลายบริษัทในอุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ติดคำว่า Return of Investment หรือผลตอบแทนการลงทุน บางแห่งผลิตของด้วยต้นทุนที่ถูกเพื่อให้ได้มาร์จิ้นเพิ่ม แต่เรายังยืนยันผลิตของตามมาตรฐานและคุณภาพของเรา เพราะเรามีลูกค้าประจำ” 

“บอกตามตรงว่า 4 ปีที่ผ่านมาก็ลำบากพอสมควร เมื่อเจอคู่แข่งที่ทำของราคาถูกและขายได้ แต่เราก็ทำตามมาตรฐานเรา ราคาเราค่อนข้างแพงกว่าทั่วไป แต่ถึงวันนี้ผ่านมา 4 ปี ตลาดก็แบ่งกันชัด อย่างกล่องบรรจุผลไม้ คุณใช้กระดาษถูกๆ ไม่ได้หรอก เสียหายหมด อย่างไรก็ตาม เราแคร์เรื่อง ROI แต่เราก็แคร์เรื่องคุณภาพด้วย เราจึงอยู่ตรงนี้ได้” ศรัณยู กล่าว

ไม่หยุดพัฒนา ผลิตสินค้าให้ทันการเปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญคือ เมื่อคุณใหญ่ คุณต้องไม่หยุดพัฒนา และนี่คือหัวใจสำคัญของธุรกิจที่ส่งต่อกันมาถึงรุ่นที่ 3-4 

“ดร.พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์” Director of Marketing บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC ซึ่งดูแลลูกค้าในประเทศของปัญจพลฯ บอกว่า ลูกค้ารายใหญ่ๆ อยู่กับเรา เพราะเขาเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า การส่งมอบ และการบริการ ไม่ว่าจะเป็น ยูนิลีเวอร์ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจกันมานาน ไทยเบฟเวอเรจ สหพัฒน์ฯ โอสถสภา TCP ฯลฯ บริษัทเหล่านี้คือลูกค้าที่ทำการค้าร่วมกันมาเนิ่นนาน

“เมื่อลูกค้าเติบโต เราก็ต้องพยายามเติบโตให้ทันความต้องการของลูกค้า”

ดร.พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์​ Director of Marketing บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC
ดร.พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์​ Director of Marketing บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การรักษาคุณภาพที่มีราคาแข่งขันได้ รวมถึงการส่งมอบให้ทันตามความต้องการที่ลูกค้ากำหนด เหล่านี้คือการบริหารจัดการระบบที่วางไว้อย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อการรักษาฐานลูกค้าเดิม

อีกด้านหนึ่งต้องพยายามขยายฐานลูกค้าใหม่ให้ใหญ่ขึ้นในสายธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งก็พบกับความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมาก็ทำได้ ยิ่งในระบบการค้าโลกปัจจุบันมีมาตรฐานที่กำหนดให้ซัพพลายเออร์ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมให้ตรงตามมาตรฐานโลก เช่น FSC (Forest Stewardship Council) คือการใช้ไม้และการปลูกทดแทน

หรือกรณีคู่ค้าของบริษัทอยู่ใน DJSI (Dow Jones Sustainality Indices) ก็ต้องการทำให้ได้ตามมาตรฐานเรื่องความยั่งยืน เหล่านี้คือการผลักดันให้บริษัทยิ่งอยู่นาน ต้องยิ่งเก่งขึ้น 

เช่น ปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์บางประเภทไม่ต้องใช้เยื่อกระดาษซึ่งราคาสูงแล้ว และเปลี่ยนมาใช้กระดาษรีไซเคิลทดแทน ซึ่งแน่นอนว่าความแข็งแรงไม่ได้เท่ากับการผลิตจากเยื่อกระดาษ แต่สิ่งที่ปัญจพลฯ ทำได้คือ การเพิ่มค่าความแข็งแรงให้กับกระดาษในกระบวนการผลิต ซึ่งที่นี่มีสูตรทำให้กล่องกระดาษที่แม้จะใช้กระดาษรีไซเคิลก็ยังแข็งแรงได้

“กฤษกร เตชะวิบูลย์” Director of Operations บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC กล่าวเสริมว่า ตอนนี้เราพยายามจะทำเป็นรีไซเคิล 100% โดยพยายามไม่ใช้เยื่อกระดาษด้วยเอาเคมีเข้ามาช่วย แต่ก็ยังมีกระดาษบางเกรด เช่น กล่องบรรจุผลไม้ หรือพวกที่ต้องเข้าห้องเย็น ที่ยังต้องใช้กล่องกระดาษที่ผลิตจากเยื่อไม้ 

เรื่องกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นสำคัญที่บริษัทนี้ให้ความมุ่งมั่นดูแล เช่น การบำบัดน้ำเสียโดยลดการใช้ไฟจากเครื่องปั่น แล้วใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนและนำมีเทนกลับไปเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือการจัดการตะกอนในน้ำ ก็ใช้วิธีรีดน้ำออกจากตะกอนก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ทิ้งน้ำที่มีตะกอนไปทำให้คูคลองตื้นเขิน หรือการกำจัดขยะจากกระบวนการผลิตต่างๆ ก็ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย

“ถ้าเราไม่ทันสมัย เราก็แข่งขันไม่ได้ เพราะลูกค้าทางยุโรป อเมริกา เขาให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้มากๆ” กฤษกร กล่าว

กฤษกร เตชะวิบูลย์ Director of Operations บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC
กฤษกร เตชะวิบูลย์ Director of Operations บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC

จุดได้เปรียบ ครบวงจรกระดาษและบรรจุภัณฑ์

เรียกได้ว่า ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ คือธุรกิจที่มีสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ มีโรงงานผลิตเยื่อ โรงงานผลิตกระดาษ ถึงโรงงานผลิตกล่องกระดาษ และมีเทคโนโลยีรองรับการเติบโตของธุรกิจ 

“โชตินนท์ เตชะวิบูลย์” กรรมการ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC และบริษัท ปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด (PPI) อธิบายวงจรธุรกิจในอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์ว่า กระดาษในกลุ่มของ Packaging Paper แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่เรียกว่า Kraft Liner,  Test Liner และ Corrugating Medium 

โดย Kraft Liner จะเป็นกระดาษที่มีส่วนของเยื่อกระดาษมาก Test Liner จะเป็นสัดส่วนที่มีสัดส่วนของเยื่อกระดาษที่น้อยลงมา หรือบางครั้งอาจจะไม่มีเลย และกลุ่มสุดท้ายก็คือ Corrugating Medium หรือกระดาษลอนลูกฟูก

สำหรับการผลิตเยื่อในกลุ่มบริษัท HSFC คือใช้ไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งซื้อจากชาวสวนที่ปลูกในประเทศไทย และในธุรกิจของเรามีอยู่ 2 บริษัทใหญ่ๆ คือ PPI หรือ ปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ ซึ่งผลิตเยื่อกระดาษ อีกบริษัทคือ HSFC หรือ ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ 

“กลุ่มของปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ เราเป็นโรงงานกระดาษโรงเดียวในประเทศไทยที่เป็น integrated mill หมายถึงมีโรงงานผลิตเยื่อและโรงงานกระดาษอยู่ในโลเคชันเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ช่วยทั้งเรื่องต้นทุน เรื่องคุณภาพ พูดง่ายๆ เหมือนเราใช้ของสด เราผลิตเยื่อเสร็จปุ๊บส่งตามท่อเข้ามาที่เครื่องจักรผลิตกระดาษเลย ถ้าไม่ได้อยู่ในโลเคชันเดียวกัน พอทำเยื่อเสร็จต้องเอาไปอบให้แห้งแล้วขนย้าย แล้วเอาไป repulse อีกครั้งที่โรงงานกระดาษ ซึ่งการทำลักษณะนี้ทำให้ความแข็งแรงของกระดาษลดลงไปด้วย”

“ส่วนการที่เรามีโรงงานผลิตเยื่อและโรงงานผลิตกระดาษในที่เดียวกัน ทำให้เราสามารถระบุได้ว่า เราเป็นผู้ผลิตกระดาษที่เป็น Kraft Liner” โชตินนท์ กล่าว

โชตินนท์ เตชะวิบูลย์ กรรมการ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC และบริษัท ปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด (PPI)
โชตินนท์ เตชะวิบูลย์ กรรมการ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC และบริษัท ปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด (PPI)

ทั้งนี้ โรงงานผลิตเยื่อและโรงงานผลิตกระดาษตั้งอยู่ที่อยุธยา ส่วนโรงงานผลิตกระดาษและกล่องกระดาษมีอีก 5 แห่ง ได้แก่ สำโรง 2 แห่ง เอกชัย 2 แห่ง และ วังน้อย 1 แห่ง ซึ่งการผลิต 60-70% เป็นการผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าในประเทศ ส่วนที่เหลือคือการผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะกล่องบรรจุผลไม้สำหรับลูกค้าในตะวันออกกลางที่มาใช้กล่องจากปัญจพลฯ ชดเชยการใช้กล่องจากสหรัฐอเมริกา 

เบอร์ 1 กล่องบรรจุผลไม้-ทุเรียน

อีกชื่อเสียงที่ ปัญจพลฯ หรือ เฮี่ยงเซ้งฯ ได้รับในปัจจุบันคือ การรุกตลาดกล่องบรรจุผลไม้ส่งออก “เสฏฐนันท์ ราฟาเอล เตชะวิบูลย์” ผู้อำนวยการฝ่ายขายกระดาษผลไม้ส่งออก บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC เจเนอเรชัน 4 ของครอบครัว “เตชะวิบูลย์” เล่าว่า ตลาดผลไม้เป็นของปัญจพลฯ มานาน เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกทุเรียน และผลไม้อีกหลายชนิดของไทย เช่น มะพร้าว 

เป็นที่มาของการลงทุนซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตกล่องบรรจุผลไม้ 3 เครื่อง ราคารวมกว่า 49 ล้านบาท เพื่อผลิตกล่องให้ทันออเดอร์ลูกค้า ซึ่งมีความเร็วเต็มศักยภาพของเครื่องจักรอยู่ที่ 15,000 กล่องต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 300,000 กล่องต่อวัน หรือคิดเป็น 300 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อ 1 เครื่องจักร 

สิ่งสำคัญที่ทำให้ กล่องบรรจุผลไม้จากปัญจพลฯ เป็นที่ยอมรับของล้งทั่วภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจันทบุรี คือ คุณภาพของกระดาษที่เป็น Kraft Liner คือมีเยื่อกระดาษที่แข็งแรง ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า “มู่เจียน” และทำลอนกระดาษที่แข็งแรง พร้อมการฉาบแป้งที่เรียกว่า “ฝังซุย” ซึ่งแม้จะทำให้ราคากล่องกระดาษของปัญจพลฯ สูงกว่าผู้ผลิตรายอื่นหลายบาท แต่ด้วยคุณภาพที่จะรักษาผลไม้ในกล่องส่งออกไปจีนได้อย่างปลอดภัย ไม่เสียหาย จึงทำให้กล่องจากปัญจพลฯ เป็นที่หนึ่งในใจผู้ส่งออกผลไม้ในปัจจุบัน 

“ผลไม้เป็นสิ่งที่บรรจุยากที่สุด ถ้ากล่องยุบ จะถูกตีกลับทันที เสียหายทั้งตู้ คุณอาจต้องจ่ายผมมากกว่าคนอื่น 5 บาทต่อกล่อง แต่คุณไม่ต้องรอกล่อง เรื่องการจัดส่งสินค้าให้ทันเวลาคือเรื่องสำคัญ คุณภาพและการบริการ นี่คือสิ่งที่ถ่ายทอดกันในครอบครัวเตชะวิบูลย์” เสฏฐนันท์ กล่าว

เสฏฐนันท์ ราฟาเอล เตชะวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายกระดาษผลไม้ส่งออก บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC
เสฏฐนันท์ ราฟาเอล เตชะวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายกระดาษผลไม้ส่งออก บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือ HSFC

และทำให้ก้าวต่อไปของ ปัญจพลฯ ที่สร้างรากฐานมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงปัจจุบัน อยู่ในตลาดผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์จนเติบโตขยายตัว และพร้อมรับกับโจทย์ใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต.

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money