“บิ๊กเทคสหรัฐฯ ไม่ได้มองข้ามไทย” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ เส้นทาง Microsoft Thailand ยกระดับเศรษฐกิจ

Business & Marketing

Executive Interviews

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

“บิ๊กเทคสหรัฐฯ ไม่ได้มองข้ามไทย” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ เส้นทาง Microsoft Thailand ยกระดับเศรษฐกิจ

Date Time: 30 เม.ย. 2567 19:50 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • Thairath Money พูดคุยกับ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด หัวเรือใหญ่ Microsoft Thailand บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยกว่า 30 ปี ฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสนามการแข่งขันทางเทคโนโลยี เจาะลึกศักยภาพด้านดิจิทัลที่ไม่แพ้ชาติไหน ที่มาที่ไปของคำมั่นสัญญากับรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเป้าหมายที่มุ่งหวังสำหรับการเยือนไทยของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Microsoft ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้

Latest


เมื่อโลกก้าวสู่ทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีในแต่ละยุคได้เข้ามาปลดล็อกการทำงานทุกภาคส่วน ‘อุตสาหกรรมดิจิทัล’ ค่อยๆ เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก พร้อมพิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวเลขชี้วัดต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด สิ่งนี้เองได้บ่งชี้ถึงความเหนือชั้นขององค์ความรู้ กำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อิทธิพลและมูลค่าที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ 

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเปลี่ยนภาพกิจกรรมเศรษฐกิจในชั่วพริบตา Digital Transformation, Cloud Computing กระทั่ง AI  ไม่ได้เป็นเพียงวาระสำคัญที่จำกัดแค่ในองค์กรธุรกิจอีกต่อไป เทคโนโลยีที่ขึ้นชื่อว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์ประมวลผลเทียบชั้นสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์นี้เอง ได้กลายเป็นสนามแข่งขันของผู้นำประเทศทั่วโลก รวมถึง ‘ประเทศไทย’ ที่ตื่นตัวและมีแผนการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อชิงถ้วยรางวัลใหญ่ของการแข่งขันนี้เช่นเดียวกัน  

Thairath Money พูดคุยกับ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด หัวเรือใหญ่ Microsoft Thailand บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยกว่า 30 ปี ฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสนามการแข่งขันทางเทคโนโลยี เจาะลึกศักยภาพด้านดิจิทัลที่ไม่แพ้ชาติไหน ที่มาที่ไปของคำมั่นสัญญากับรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเป้าหมายที่มุ่งหวังสำหรับการเยือนไทยของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Microsoft ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 

7 ปีแห่งการนั่งเก้าอี้ผู้นำของอุตสาหกรรม 

ธนวัฒน์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการชวนมองไทม์แสตมป์ยุคต่างๆ ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร Big Tech ในประเทศไทย ตนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญและมีผลต่อภาคธุรกิจอย่างไร สิ่งที่ตนตกตะตอนจากการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจต่อเนื่องยันภาครัฐ ความประทับใจในศักยภาพธุรกิจไทยในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ไม่แพ้ใครในภูมิภาค  

“หนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นเรื่องการปรับใช้เทคโนโลยี คือ ภาคธุรกิจธนาคาร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมชำระเงินที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นอย่างภาคโทรคมนาคมและค้าปลีก เป็นยุคที่ทุกคนเริ่มพูดถึง ‘Digital Transformation’ มากขึ้น เรียกได้ว่าเหล่านี้เป็นภาคส่วนแรกๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมทางเทคโนโลยีให้กับระบบเศรษฐกิจ”

ธนวัฒน์ เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว สิ่งที่แตกต่างกับปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด คือ องค์ความรู้ในตลาด ธุรกิจหลายแห่งยังไม่คุ้นชินกันเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Cloud Computing หรือ AI ในยุคนั้น ทำให้เราต้องให้เวลากับการสร้างความเข้าใจในตลาดพอสมควร โดยช่วงต่อมาเหตุการณ์ใหญ่ที่เข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญในภาคเทคโนโลยี นั่นก็คือ การแพร่ระบาดโควิดในปี 2562 ที่ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นประโยชน์ของการปรับใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการทำ ‘Digital Transformation’ ในองค์กร เพื่อรองรับปริมาณการบริโภคสินค้าและบริการทางดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น 

“ทุกคนเริ่มเข้าใจว่า Digital Transformation เป็นเรื่องของความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจ เป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น เกิด Productivity เกิด Customer Experience ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของโปรแกรม หรือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของแผนก IT อย่างเดียว ทำให้เห็นเลยว่าธุรกิจไหนที่ไม่มีเทคโนโลยี หรือระบบการทำงานบนแพลตฟอร์ม ธุรกิจนั้นเสี่ยงที่จะหยุดชะงักได้”  

ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกับเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยหันหน้าเข้าหาเทคโนโลยี ช่วงเวลาสำคัญของโลกใบนี้ที่ว่ากันว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมิติของประสบการณ์การใช้งาน นั่นก็คือการเปิดตัว ‘ChatGPT’ แชตบอตอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI ของ OpenAI ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 เอนจิ้นที่ทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างน่าประทับใจ ตัวเร่งที่ทำให้ไม่ว่าจะบริษัทเล็กกลางใหญ่ แม้กระทั่งภาครัฐ ได้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น

ในยุคที่ผันผวนไปด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่ ไทยอยู่ตรงไหน? 

ธนวัฒน์ มัดรวมภาพให้เห็นชัดขึ้นว่าตลอด 7 ปี ต้องขอชื่นชมองค์กรไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำองค์กรหลายแห่งมีความสนใจที่จะเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจไปจนถึงการเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานโดยมี AI เป็นหนึ่งในหมุดหมายแห่งอนาคต 

ธนวัฒน์ นิยามประเทศไทยว่าอยู่ในกลุ่มของ ‘ผู้นำ’ แม้จะไม่ได้ติดอันดับผู้นำเบอร์ต้น แต่ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่โดดเด่นเรื่องการรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Generative AI

พร้อมกับยกข้อมูลจากผลสำรวจ Microsoft Work Trend Index 2023 ที่พบว่า “91% ของคนไทยเปิดรับการใช้งาน AI มาช่วยงานทั่วไปในแต่ละวัน”  ซึ่งสถิติดังกล่าวสะท้อนนัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเรื่อง Mindset หรือการเปิดรับของผู้ใช้งาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดย ธนวัฒน์ กล่าวว่า “ถ้าคนมี Mindset เปิดรับแล้ว ทุกผลลัพธ์ก็เป็นไปได้”  พร้อมกล่าวต่อถึงการปรับตัวด้าน Digital Transformation ของภาครัฐไทยที่มีการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ-เอกชน-บริษัทเทคโนโลยี อีกทั้งมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง 

ธนวัฒน์ อธิบายว่า สิ่งที่ต่างชาติมองไทยนั้นพิจารณาจากหลายมิติ และศักยภาพของประเทศไทยก็เป็นอะไรที่น่าดึงดูด ไทยโพสิชันตนเองได้ดีในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ภาคเอกชนของไทยมีศักยภาพที่บริษัทระดับโลกสามารถต่อยอดธุรกิจได้ หรือแม้กระทั่งการมองในเรื่องของจำนวนประชากร เราอาจจะไม่ได้มีจำนวนเยอะเท่ากับอินโดนีเซีย 240-260 ล้านคน แต่ก็ไม่ได้น้อยเกินไป เราเป็นอะไรที่ Sizable 

“หากตอบคำถามที่ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีส่วนร่วมในการผลักดันด้านดิจิทัลหรือไม่ ตอบเลยว่าเรื่องการปรับตัวสู่ดิจิทัล ไทยไม่ได้ด้อยกว่าชาติอื่น ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นมุมมองด้านดิจิทิลที่เปิดกว้างในขาท่ีเป็นภาครัฐมากขึ้น การออกนโยบายสนับสนุนธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุน สะท้อนถึงการเปิดรับโอกาส เปิดรับพาร์ตเนอร์ เปิดรับการสร้างความร่วมมือ สะท้อนดีมานด์ดิจิทัลในประเทศที่ไม่ได้มาจากภาคเอกชน แต่มาจากภาครัฐด้วย และที่สำคัญเรามีกำลังคนที่พร้อมจะพัฒนา เหล่านี้ล้วนเป็นจุดที่น่าดึงดูด”

“ตามสถิติจาก IMD World Digital Competitiveness Ranking ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศที่มีการปรับตัวด้านดิจิทัลสูง ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จากทั้งหมด 64 ประเทศ โดยมีมาตรวัดหลักสามด้านด้วยกัน อันดับแรกด้าน Knowledge คุณภาพแรงงานดิจิทัล-ทักษะดิจิทัล ไทยอยู่อันดับที่ 41 และสามด้าน Future Readiness ไทยอยู่อันดับที่ 42 และที่นำมาอย่างโดดเด่น คือ ด้าน Technology หรือโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ไทยอยู่ในอันดับ 15 เพราะประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องความพร้อมของโครงสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน"

จุดเริ่มต้นคำมั่นสัญญา ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล Microsoft และรัฐบาลไทย 

ธนวัฒน์ เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางบนถนนธุรกิจอันยาวนานของ Microsoft ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะครบรอบ 31 ปี ธนวัฒน์ บอกว่าในฐานะองค์กรธุรกิจระดับโลก เราให้ความเชื่อมั่นกับประเทศไทยในระยะยาว

สำหรับความร่วมมือล่าสุดในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีที่มีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยกันครั้งแรกของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และ แบรด สมิธ (Brad Smith) Vice Chair and President ของ Microsoft ระหว่างการเดินทางไปร่วมเวทีประชุมทวิภาคี UNGA ในเดือนกันยายนปี 2566

ธนวัฒน์ เล่าว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยได้สร้างความมั่นใจและแสดงถึงการเปิดรับทางธุรกิจต่อบริษัทเทคโนโลยี การเปิดกว้างของรัฐบาล ปลดล็อกอุปสรรคและสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยหลังจากนั้นทาง Microsoft ก็ได้เริ่มทำงานร่วมกับทีมของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา จนกระทั่งดำเนินมาสู่การร่าง MOU ที่ถูกลงนามอย่างเป็นทางการในงานประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566  

“MOU ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI และขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้เริ่มดำเนินการเพื่อสร้าง Competitive Advantage ให้กับคนไทย ต่อเนื่องถึงการลงทุนในประเทศไทยของ Microsoft ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะมาต่อยอดการพัฒนา Digital Infrastructure"

"การเอายูสเคสและเอาประสบการณ์ของเรา Microsoft ทั่วโลกมาแชร์กับทางประเทศไทย สร้างโอกาสและ Digital Skilling ใหม่ๆ ในการจ้างงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย ปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค”


เมื่อคุยกันมาถึงตรงนี้ ธนวัฒน์ เปิดประเด็นต่อว่า Generative AI ได้ทำให้ทุกอุตสาหกรรมปรับตัวทั้งสิ้น ทุกคนตื่นตัวในการ Leverage AI ในธุรกิจ แต่เขายังมองว่า ด่านสำคัญที่ไม่ว่าจะภาคส่วนไหนต้องเผชิญในสนามการแข่งขันทางเทคโนโลยีนี้ คือ ความต่อเนื่องที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ความกล้าในการตีความกรอบเดิมของธุรกิจ 

“สิ่งที่ธุรกิจควรกังวลไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่คือเรื่องของการลงมือทำ เพราะตอนนี้มีกลยุทธ์ชัดเจนแล้ว มีเป้าหมายชัดเจนแล้ว แต่ทำให้เกิดผลลัพธ์จริงนั้นยากยิ่งกว่า ธุรกิจต้องนั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร ทำให้คนในองค์กรรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนด้านใดบ้าง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ นี่คือสิ่งที่ต้องมานั่งคิดกัน เราเห็นแต่ละประเทศว่าไม่มีใครหยุด ทุกคนวิ่ง ตอนนี้ในสนามทุกประเทศวิ่งกันเต็มสตรีม ประเทศไทยเรามีจังหวะการออกสตาร์ตที่ดี สิ่งที่ต้องเอาจริงหลังจากนี้ คือ จังหวะไปต่อ จะทำยังไงให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง” ธนวัฒน์ กล่าว 

นอกจากนี้ ธนวัฒน์ ยังชวนคิดถึงอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในเรื่อง ทักษะและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี โดยกล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีไม่เพียงพอ ความท้าทายในตอนนี้ คือ เรื่องของทักษะดิจิทัลของคนไทยต่อเนื่องจนถึงการสร้างช่องทางให้ได้ใช้ทักษะนั้นอย่างแท้จริง เช่น การอัดฉีดคนบุคลากรอุตสาหกรรมดิจิทัลให้สามารถพัฒนาตนเองได้ สนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและระบบนิเวศในสายงาน 


"หมุดหมายและความมุ่งหวังเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการการมาเยือนของ สัตยา นาเดลลา ในงาน Microsoft Build : AI Day วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ที่จะมีการประกาศรายละเอียดของความร่วมมือที่ชัดเจนมากขึ้น แสดงถึงการตอกย้ำความเชื่อมั่นระหว่าง Microsoft กับประเทศไทยในการช่วยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง ตอกย้ำเป้าหมายสำคัญของ Microsoft ที่จะสานต่อในเรื่อง Digital Skill ให้กับคนไทย โดยเฉพาะขาคนทำงานภาคดิจิทัลที่ต้องการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาเหล่านี้ คือ กำลังหลักในการสร้างความต่อเนื่องให้กับการพัฒนาทางดิจิทัลเทคโนโลยี องค์ประกอบสำคัญที่จะกำหนดตำแหน่งในสนามแข่งขันของประเทศไทย" 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory