“อีก 10 ปี AI จะอยู่ในชีวิตเรา เหมือนที่วันนี้เราขาดมือถือไม่ได้” ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

“อีก 10 ปี AI จะอยู่ในชีวิตเรา เหมือนที่วันนี้เราขาดมือถือไม่ได้” ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์

Date Time: 20 เม.ย. 2567 11:50 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • Thairath Money พูดคุยกับ ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ นักพัฒนา AI ผู้คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีกว่าครึ่งชีวิตถึงพัฒนาการของ AI ที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์

Latest


กระแสความต้องการ AI ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการและเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือคำถามที่ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอีกสิบปีข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะเข้ามากระทบกับการใช้ชีวิตของผู้คนได้มากขนาดไหนจากในทุกวันนี้

Thairath Money พูดคุยกับ ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ (น็อต) นักพัฒนา AI ผู้ร่วมก่อตั้ง Looloo Technology และอดีต Software Engineer ที่ Google ถึงมุมมองต่ออนาคตของเทคโนโลยี AI ที่วิวัฒนาการจนกลายเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก ว่าจะมีประโยชน์หรือข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

บทบาทกว่า 20 ปีในวงการ AI

ดร.ธรรมนิติ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความชอบของศาสตร์ด้าน AI ที่เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการใช้งานจริง และไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับเรื่องของหุ่นยนต์แต่ยังทำหน้าที่เป็นสมองของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดตัวเขาให้ตัดสินใจเลือกศึกษาด้าน AI โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับปริญญาตรี

ซึ่ง ณ เวลานั้นเขาได้รับทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในสหรัฐฯ และมีโอกาสได้เรียนวิชา AI ที่ในขณะนั้นยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ 

จนกระทั่งมีโอกาสเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้าน AI โดยเขาเล่าว่า ณ ตอนนั้นเลือกทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์ใช้ตรรกะหรือใช้เหตุผลให้เป็น’ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคอมพิวเตอร์จะเก่งอย่างเดียวคือการคำนวณซึ่งเป็นเหมือนเครื่องคิดเลขขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้รู้จักการใช้เหตุผลซึ่งมนุษย์มีหน้าที่สอนคอมพิวเตอร์อีกที

หลังจบการศึกษาแล้ว ดร.ธรรมนิติ์ก็ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Google โดยรับผิดชอบโปรดักต์ที่เกี่ยวข้องกับ AI หลายตัว ตั้งแต่ Google Search, Speech-to-Text และ Google Assistant 

และขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่บริษัทเทคโนโลยีต่างสู้กันในเรื่องเทคโนโลยีผู้ช่วยส่วนตัวบนอุปกรณ์ต่างๆ อย่าง Apple ที่เปิดตัว ‘Siri’ ออกมาในปี 2011 และตามด้วย ‘Alexa’ จาก Amazon และ ‘Cortana’ จาก Microsoft ในอีกสามปีต่อมา ขณะที่ Google เปิดตัว ‘Google Assistant’ ในปี 2016

ซึ่ง Google Assistant ก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ ดร.ธรรมนิติ์ได้ร่วมกับทีมพัฒนามาตั้งแต่เริ่มต้นโดยมีส่วนร่วมตั้งแต่วิเคราะห์ข้อมูล เก็บข้อมูล พัฒนาโปรแกรม อัลกอริทึมจนออกมาเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Looloo Technology
ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Looloo Technology

การเติบโตของเทคโนโลยี AI ในสายตาของนักพัฒนา

เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันถือเป็นเทคโนโลยีสะเทือนวงการที่เป็นโอกาสให้กับคนหลายกลุ่มโดย ดร.ธรรมนิติ์ได้ให้ข้อมูลว่าย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2000 คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่า AI เป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่มีทางจะฉลาดไปกว่าคนได้

จนมาในยุคหลังปี 2000 ที่การพัฒนา AI ได้ประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และทำให้มีข้อมูลจำนวนมหาศาลเกิดขึ้น นำไปสู่การพัฒนาโมเดล AI ชนิดใหม่ที่เรียกว่า “Machine Learning” ซึ่งเป็นการให้ AI เรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมากและจับแพตเทิร์นได้เองแทนที่จะให้คนไปสอน จึงทำให้สามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์เพราะคอมพิวเตอร์สามารถรับข้อมูลได้เยอะกว่าคน

จากนั้นจึงพัฒนาต่อมาเป็น “Deep Learning” โมเดล AI ที่มีต้นแบบมาจากสมองของมนุษย์ที่มีเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันทำให้เรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้นและจดจำสิ่งต่างๆ ได้เยอะขึ้น และยังมีโมเดลอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจการทำงานที่แตกต่างกันออกไป

และในฐานะคนในวงการ AI ดร.ธรรมนิติ์มีความเห็นกับพัฒนาการของ AI ว่าสุดท้ายแล้ว AI จะมาเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ที่สามารถสื่อสารกับเราได้เหมือนเป็นคนคนหนึ่ง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเป็นก็สามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือสั่งงาน AI ได้ด้วยภาษาธรรมดา ซึ่งมันจะเข้าใจความต้องการของเราและไปเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ เพื่อที่จะทำงานให้เราได้และจะเป็นภาพที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น 

อีก 10 ปี หน้าตาและการพัฒนา AI จะเป็นอย่างไร 

เมื่อมาถึงประเด็นเรื่องความสามารถของ AI ในอนาคตที่หลายคนจับตาดูว่ามันจะมีทิศทางการพัฒนาเป็นอย่างไรต่อไป ดร.ธรรมนิติ์ เผยว่า การแข่งขันหรือการพัฒนา AI จะยังไม่ได้จบภายใน 1-2 ปีนี้แน่นอน แต่ต้องดูกันไปยาวๆ อีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี

และก็อาจจะมีบริษัทอื่นนอกจากบิ๊กเทคเข้ามาร่วมทัพด้วยซึ่งก็จะต้องแข่งขันกันต่อไป เหมือนกับในยุคก่อนๆ ที่สมาร์ทโฟน Android กับ iOS แข่งกันมาตลอดจนถึงปัจจุบันซึ่ง AI เองก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน 

สำหรับบริษัทที่จะได้เปรียบในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี AI จะเป็นบริษัทที่มี “เงินทุน” ที่เอาไปลงทุนกับคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวนมาก และมี “Data” อย่างเช่น Google และ Facebook ที่มีคลังข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่สุดท้ายแล้วประโยชน์จะตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคที่จะได้เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตลอดเวลา

แต่ถ้ามองเป็นตัวเลขกลมๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ดร.ธรรมนิติ์ มองว่า “AI มันจะมาอยู่ในชีวิตเรา เหมือนที่วันนี้เราขาดโทรศัพท์มือถือไม่ได้” และหากมองย้อนกลับไปในยุคก่อนที่ AI จะบูมเราจะรู้เลยว่าตอนนั้นอยู่ไปได้อย่างไร ทำงานไปได้อย่างไร โดยที่ไม่ได้ใช้ AI เป็นตัวช่วยเพราะเดี๋ยวนี้ AI เป็นได้ทุกอย่าง

ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Looloo Technology
ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Looloo Technology

ขณะเดียวกัน ดร.ธรรมนิติ์ ก็เล่าให้เราฟังถึงภาพรวมบทบาทที่สำคัญของ AI ในอนาคต ได้แก่

  1. พลังการทำนายของ AI - AI จะสามารถคิดและเข้าใจบริบทของโลกมากขึ้นจาก Data ที่เรียนรู้เข้าไปจนทำให้สามารถทำนายอนาคตได้ดีขึ้นในแง่ของการทำนายสภาพเศรษฐกิจ สภาพอากาศ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้นและคนที่มี AI ที่มีพลังการทำนายก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพื่อมีอิทธิพลกับความคิดของคนได้โดยไม่ทันรู้ตัว
  2. AI จะเห็นสิ่งที่มนุษย์ไม่เห็น - AI จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างของมนุษย์ อย่างเช่น ในทางการแพทย์ที่ต้องมี AI มาช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาโรคร้ายเพราะ AI มีพลังความคิดและการทำนายที่อาจเห็นในสิ่งที่คนมองข้ามไป หรือแม้แต่ปัญหาสภาพอากาศก็จะมี AI เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า

มอง AI เป็นผู้ช่วยมากกว่าศัตรู

สุดท้าย ดร.ธรรมนิติ์ ได้ฝากในเรื่องความรู้ความเข้าใจหรือ AI Literacy ไว้เป็น 2 ประเด็น อย่างแรกคือ ให้พิจาณาว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จาก AI มายกระดับการทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไรโดยระบุว่า “ผมว่าคนควรจะมองว่า AI เป็นผู้ช่วยมากกว่าศรัตรู ถ้าเขาสามารถมาช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น แม่นยำขึ้นได้ ผมว่าเราต้องเปิดใจเอามันมาใช้ให้ดีที่สุดไม่งั้นเราจะโดนดิสรัปต์เองจากคนที่เค้าใช้ AI เก่งกว่าเรา”

และสุดท้ายคือ ให้ระวังในเรื่องของข้อมูลมากกว่าเดิมและไม่เชื่อทุกอย่างในโซเชียล เพราะปัจจุบันเรารู้กันอยู่แล้วว่าข้อมูลมันมีมาไม่ขาดสาย แต่การเลือกใส่ใจกับข้อมูลที่เชื่อถือได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็ม “กว่า AI จะฉลาด ลำบากกันมาเท่าไหร่ ?” ได้ในรายการ Digital Frontiers ทาง Youtube Thairath Money 

และสามารถติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เพ็ญพิชชา ขุนสุทน (นีน่า)

เพ็ญพิชชา ขุนสุทน (นีน่า)
ผู้สื่อข่าวธุรกิจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี Thairath Money