“ไม่ใช่แค่ความสวยที่ทำให้คนซื้อ” ภิพัชรา แก้วจินดา กับแนวคิดพา PIPATCHARA สู่รันเวย์ระดับโลก

Business & Marketing

Executive Interviews

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

“ไม่ใช่แค่ความสวยที่ทำให้คนซื้อ” ภิพัชรา แก้วจินดา กับแนวคิดพา PIPATCHARA สู่รันเวย์ระดับโลก

Date Time: 8 มี.ค. 2567 15:49 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • อีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมากบนเวทีต่างประเทศในขณะนี้ หลังการเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่อย่างเป็นทางการกับ ‘Infinitude’ ที่นำขยะพลาสติกจากแหล่งต่างๆ มาอัปไซเคิลใหม่เป็นกระเป๋า เครื่องประดับ และเสื้อผ้าสุดประณีต จนเรียกได้ว่า ก้าวใหม่ในครั้งนี้ ทำให้ PIPATCHARA น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

Latest


Thairath Money คอลัมน์ BrandStory ครั้งนี้เปิดบ้านพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ ‘เพชร ภิพัชรา แก้วจินดา’ ดีไซเนอร์สาวผู้ก่อตั้ง PIPATCHARA เจาะลึกเส้นทางที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหน กว่า 6 ปีในการเย็บปักถักทอธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ความประณีตสะดุดตา หากแต่เต็มไปด้วยจุดยืนในการสร้างแฟชั่นแบรนด์ที่มีอะไรลึกซึ้งมากกว่าความสวยงาม

เบื้องหลังการผลักดันแบรนด์ไทยให้ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ พร้อมเรื่องราวการพัฒนาคอลเลกชันใหม่ล่าสุด ‘Infinitude’ ที่เปลี่ยนขยะพลาสติกไร้ที่ไปสู่กระเป๋าและเครื่องแต่งกายที่หลายคนหมายตา ชวนคุยต่อถึงการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในวงการแฟชั่น บทเรียนคนทำธุรกิจที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนหลังได้รู้จักกับ PIPATCHARA 

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ PIPATCHARA ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดย ภิพัชราและพี่สาว ‘ทับทิม จิตริณี แก้วจินดา’ โดยมีจุดเริ่มต้นจากแบรนด์เครื่องหนังที่เต็มเปี่ยมไปงานอาร์ตแอนด์คราฟต์ พร้อมกับอุดมการณ์ที่ต้องการให้ PIPATCHARA เป็นมากกว่าแบรนด์แฟชั่นแต่ต้องเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย 

“PIPATCHARA เติบโตมาพร้อมกับ ‘คุณครู’ และชุมชนในภาคเหนือที่เข้ามาเป็นกำลังหลักสำคัญในการผลิตงานหัตถกรรมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกชิ้นงานตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน” ภิพัชรา เปิดบทสนทนาด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์เมื่อ 6 ปีที่แล้วก่อนพาเราเข้าสู่ก้าวต่อไปกับการพัฒนาไลน์โปรดักต์ใหม่ที่เลือกหยิบ ‘ขยะพลาสติกกำพร้า’ มาเป็นชิ้นส่วนสำคัญของแบรนด์ 

“INFINITUDE” จากขยะพลาสติกสู่แฟชั่นระดับโลก 

เรานำขยะพลาสติกที่ใช้แล้วเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า ‘พลาสติกกำพร้า’ เป็นขยะพลาสติกที่ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการและเหลือทิ้งจำนวนมาก เช่น ช้อนส้อมพลาสติก ฝาขวดน้ำ กล่องอาหารมาหมุนเวียนใหม่ด้วยกรรมวิธีเฉพาะของแบรนด์ แปรสภาพออกมาเป็นแผ่นรูปทรง Infinitude สีตามขยะนั้นๆ นำมาคล้องกับห่วงและร้อยเชื่อมต่อกันเป็นกระเป๋า 

“Infinitude เกิดขึ้นตั้งแต่สองปีที่แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นที่อยากจะเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก เราอยากทำอะไรที่เป็นส่วนช่วยเหลือและยังเป็นจุดยืนของ PIPATCHARA ด้วย”

ถามว่าอิมแพกต์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นตอนไหน มันเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น เราต้องการที่จะลดขยะได้ไม่มากก็น้อย 

ถ้าพูดง่ายๆ กระเป๋า 1 ใบจะใช้แผ่น Infinitude ประมาณ 250 ชิ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกว่าจะได้ละแผ่นต้องผ่านการผสมกับช้อนส้อมพลาสติกหรือผสมกับทัปเปอร์แวร์ ไม่ใช่แค่ใช้เพียงหนึ่งฝาเท่านั้น แต่ การที่เราบอกว่า '1 ฝา = 1 แผ่น Infinitude' ถือเป็นตัวเลขที่ทำให้เราสามารถคาดคะเนได้

ซึ่งในปีที่แล้วเราใช้ถึง 980,000 ชิ้น และด้วยโปรเจกต์หนึ่งที่ชื่อว่า ‘White Balance’ ที่เรานำฝาขวดน้ำสิงห์สีขาวมาเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้เราใช้ขยะพลาสติกถึง 1,000,000 ชิ้นในปีที่ผ่านมา  

“ของที่เราต้องการผลิต บางทีมันอยู่ที่บ้านลูกค้า แต่เราต้องการจำนวนมากในเวลานั้น เราก็จะมีการเปิดรับบริจาคว่า โอเคตอนนี้ขอซื้อทัปเปอร์แวร์นะ เอามาให้เราได้เลย ลูกค้าบางคนถึงขนาดบดมาให้ด้วย เขาแยกและบดมาให้ด้วย เขารู้สึกว่าขยะที่ทิ้งไปจะกลายมาเป็นกระเป๋าของฉันในอนาคต”  

หลังจาก ภิพัชรา เล่าถึงความสนใจของลูกค้า หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับ PIPATCHARA จำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคขยะ การพูดคุยเรื่องความต้องการด้านแฟชั่นไปพร้อมกับผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ไปจนถึงความต้องการในการทำโปรดักต์ของตนเอง เราก็ได้ชวน ภิพัชรา คุยต่อถึงมุมมองต่อกระแสรักษ์โลกในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่กำลังเป็นเทรนด์ในตอนนี้

มองเรื่องกระแส Sustainable Fashion อย่างไรบ้าง?

ภิพัชรา กล่าวว่า เธอมองว่าจุดเริ่มต้นมาจากช่วงโควิดที่ทำให้คนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพ ดูแลตัวเอง

การได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่พักมีผลเยอะมากับการที่ทำให้คนเปลี่ยนวิธีการช็อปปิ้ง เพราะเขาไม่ต้องถือกระเป๋าไปไหน เขาทำงานอยู่ที่บ้าน จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป โดยเธอกล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนไม่ค่อยไปตามความเร็วของแฟชั่นขนาดนั้น อาจจจะมีส่วนหนึ่งที่ตาม แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่เริ่มรู้สึกว่าจำเป็นต้องตามมากน้อยแค่ไหน

“คนไทยอยากรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นในทุกๆ วัน เขาเริ่มมองว่าแบรนด์นี้เป็นแบรนด์ Sustainable Mind สำหรับเขา ไม่ใช่แค่เพราะเป็นแฟชั่น เขาชอบที่จะอธิบายสิ่งที่เขาถือ เพื่อบ่งบอกว่าเขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน การที่เขาถือ PIPATCHARA แล้วรู้สึกว่า เขาแคร์โลกนะ เขาถือยาคูลท์ เขาถือกล่องทัปเปอร์แวร์ ถือขวดน้ำ เขาชอบที่จะอธิบาย สิ่งพวกนี้ทำให้คนเริ่มมีมายด์เซตที่เปลี่ยนไป” 

ยิ่งแบรนด์แข่งกันรักษ์โลกยิ่งเป็นเรื่องที่ดี

“ในเรื่องของ Sustainable อย่างที่ทุกคนพูดว่ามันเป็นเทรนด์ในตอนนี้ เราคิดว่าอย่างน้อยมันคือการที่เพิ่มเข้าไปใน 1% ของทุกแบรนด์ว่าเขาต้องคิดถึงเรื่องนี้ ทุกคนต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับ Sustain ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องที่นึกถึงโลก อะไรที่จะรักโลก อะไรที่จะไม่รักโลกเลย รวมๆแล้วมันก็เข้าไป 2-3%”  

ภิพัชรา กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นข้อดีในปีนี้ที่คนไทยหันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ยิ่งทำให้แบรนด์เพื่อความยั่งยืนเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตนมองว่าการแข่งขันไม่ได้เป็นข้อเสียซะทีเดียว และยิ่งแบรนด์แข่งขันกันรักษ์โลก นั่นยิ่งเป็นเรื่องที่ดี 

สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าซื้อ…เขาไม่ได้ซื้อเพราะมันเป็นแฟชั่นแบรนด์

ภิพัชรา เสริมว่า ปีแรกลูกค้าของ PIPATCHARA จะเป็นคนที่ชอบอะไรเกี่ยวกับศิลปะ แต่หลังๆ ลูกค้าเริ่มพูดถึงเรื่องของ Sustainable เขาจะเริ่มดูว่าแบรนด์นี้เป็น Sustainable Mind สำหรับเขา เขาจะช่วยแนะนำรายละเอียดต่างๆ  มันยิ่งทำให้เราเกิดไอเดียใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่อง Sustainable ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าเองด้วย เขาเองต้องมีส่วนในการพัฒนาไปด้วย ไม่ใช่ซื้อกระเป๋าแต่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม 

“PIPATCHARA เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้คนมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น การผลิตกระเป๋าแต่ละใบเกี่ยวโยงกับลูกค้าโดยตรง เขาต้องการอะไร ตอบโจทย์เขามากน้อยแค่ไหน เขามีส่วนที่จะทำให้เราดีไซน์อะไรออกไปด้วย จุดนี้สำคัญมากสำหรับ PIPATCHARA ในก้าวต่อๆไป”  

สื่อสาร ‘จุดยืนแบรนด์’ ให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก 

ภิพัชรา แชร์มุมมองต่อธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อมว่า จริงๆ แล้วเรื่องการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ Sustainable ไม่จำเป็นที่จะต้องตอนนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ทุกๆ แบรนด์จำเป็นต้องมีก่อน คือ ‘จุดยืนแบรนด์ที่ชัดเจน’  

“แต่ละคอลเลกชันเราไม่ได้ทำจากความชอบส่วนตัว แต่ทำจากความชอบของลูกค้า ความชอบของทีม ความชอบของคนที่คิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะซื้อ เราทำเซอร์เวย์อยู่ตลอดเวลา ถามลูกค้าตลอดว่าเขาชอบสีไหน ทำไมถึงชอบสีนี้ หรือทำไมแบบนี้เล็กไปเหรอใหญ่เกินไปเหรอ มันเลยทำให้สิ่งต่างๆ ที่ผลิตออกมาเป็นสิ่งที่เขาต้องการอยู่แล้ว ง่ายสำหรับการขาย” 

ภิพัชรา แชร์สิ่งที่เรียนรู้ตลอด 6 ปี ว่า ‘แพสชัน’ คือสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้เธอรู้สึกดีในการทำงาน นอกจากนั้นยังเป็นข้อดีที่ทำให้แบรนด์แตกต่าง

เธอรู้ว่าของที่ขาย จะขายให้ใคร ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์บ้าง นอกจากนี้ PIPATCHARA เติบโตมาได้ถึงปัจจุบันก็เพราะ ‘ทีมงาน’ ที่มีความเชื่อร่วมกัน ทุกคนสามารถเล่าหรือส่งสารจากแบรนด์ถึงผู้คนได้

“สองปีที่ผ่านมาเราจะพับโปรเจกต์ไปหลายรอบมาก มันไม่ใช่ว่าเรายิงตรงสองปีแล้วมันเวิร์กเลย ยิงมาสามเดือนแล้วก็พับ เราหยุดแล้วก็มาทำใหม่ สามเดือนหกเดือนอย่างนี้เป็นสองปีที่เราไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าโปรเจกต์นี้จะเกิดขึ้น จนกระทั่งวันที่เราทำใบแรกออกมา เราเห็นรีแอ็กชันของผู้คน เขาคิดว่ามันสวยและจะใช้ได้จริง มันทำให้เรารู้สึกเชื่อในโปรดักต์ของตัวเอง เชื่อว่าเราไปได้แน่ๆ” 

อิมแพกต์ที่มากกว่าของสวยหรือของดี

ภิพัชรา กล่าวว่า  PIPATCHARA เดินทางมาจนถึงปัจจุบันนี้มีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำประโยชน์ให้ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราทำไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคน เรื่องของการทำแมททีเรียล เรื่องของขยะล้วนเกิดขึ้นในประเทศไทย ตนอยากสื่อสารกับสังคมต่อไป อยากทำให้ PIPATCHARA เป็นส่วนรวม เป็นคอมมูนิตี้ทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้ในอนาคต อยากให้คนมองมาที่ PIPATCHARA แล้วได้อะไรกลับไป PIPATCHARA อาจจะเป็นแบรนด์ที่เป็นตัวอย่างว่า หากมีเป้าหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกคนก็สามารถทำได้ 

“PIPATCHARA เรามองไปที่สิ่งที่เราอยากช่วยและสิ่งที่เราอยากจะทำ มากกว่าสิ่งที่เราอยากจะขาย การขายมันช่วยให้เราอยู่รอด แต่เราคิดว่าถ้าคิดแต่จะขายอย่างเดียว คงยอมแพ้ไปแล้ว เพราะว่ามันเหนื่อยมาก แต่ว่าการที่เราทำในสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ด้วยไม่มากก็น้อย มันทำให้เราไปต่อได้…”

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory