สันติพล เจนวัฒนไพศาล พา JPARK เข้าตลาดหุ้น รับเงินสดบริหารลานจอดรถพันล้าน

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

สันติพล เจนวัฒนไพศาล พา JPARK เข้าตลาดหุ้น รับเงินสดบริหารลานจอดรถพันล้าน

Date Time: 19 พ.ย. 2566 17:49 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • JPARK ธุรกิจที่ไม่ได้มีพื้นที่ของตัวเอง แต่สร้างรายได้จากการเข้าไปเช่าหรือรับสัมปทาน หรือขายเทคโนโลยีการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai และปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) กว่า 2 พันล้านบาท ธุรกิจนี้เกิดขึ้นและเติบโตอย่างไร "สันติพล เจนวัฒนไพศาล" ซีอีโอ JPARK ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Thairath Money

Latest


ธุรกิจบริหารลานจอดรถ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มธุรกิจบริการ เริ่มการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 และถูกพูดถึงกันมากในแวดวงคนทำธุรกิจบริหารพื้นที่ รวมถึงนักลงทุนในตลาดหุ้น


#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ “สันติพล เจนวัฒนไพศาล” รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK และเขายังเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของบริษัทด้วยสัดส่วน 70.89% 

จุดเริ่มต้น จากวิศวกรโยธา สู่ธุรกิจที่จอดรถ


สันติพล เล่าว่า เขาเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรม สาขาโยธา และต่อปริญญาโท วิศวกรรมการขนส่ง เขาจึงมีองค์ความรู้เรื่องการบริการจัดการพื้นที่ด้านการขนส่งสาธารณะเป็นทุนเดิม


เขาเริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2541 จากพนักงาน 30 คน ด้วยบริษัทรับเป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างสนามบินต่างๆ ในประเทศไทย และเห็นปัญหาว่า ลานจอดรถในสนามบินทั่วประเทศในเวลานั้นไม่ได้มีการบริหารจัดการ คนไม่ได้มาใช้บริการสนามบิน ก็นำรถยนต์มาจอดค้างคืนได้ พร้อมๆ กับการเล็งการณ์ไกลว่า ปริมาณการเติบโตของรถยนต์นับวันก็เพิ่มขึ้น 


ดังนั้นในปี 2545 บริษัทของเขาจึงเริ่มเข้าไปรับสัมปทานบริหารพื้นที่จอดรถในตลาดสามย่านเป็นที่แรก 


เปลี่ยนความคิดคน ที่จอดรถไม่ใช่ของฟรี


สันติพล ยอมรับว่า ช่วงแรกของการทำธุรกิจที่จอดรถ สิ่งที่ต้องต่อสู้ทำความเข้าใจกับเจ้าของพื้นที่หรือผู้มาจอดรถคือ ทำไมจอดรถต้องจ่ายเงิน เพราะในยุคเริ่มต้นธุรกิจที่จอดรถนั้น คนสมัยนั้นยังไม่ยอมรับว่า จอดรถที่ตลาดต้องจ่ายเงิน แต่ธุรกิจก็เติบโตมาได้ เมื่อทำให้ผู้ใช้บริการเห็นว่า มีคนนำรถมาจอดทั้งที่ไม่ได้มาตลาด และคนมาตลาดกลับไม่มีที่จอด ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่จอดรถ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการพื้นที่   


อีกทั้งเมื่อปริมาณรถยนต์มากขึ้น และต่อมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.มีอาคารจอดแล้วจร ที่สถานีรถไฟใต้ดินลาดพร้าว ในปี 2548 บริษัทจึงได้เข้าไปยื่นข้อเสนอบริหารจัดการพื้นที่ และก็ได้งานมาในที่สุด แล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาถึงปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ JPARK ในปัจจุบันในวันที่เป็นบริษัทมหาชน มีด้วยกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย

  1. สัมปทานพื้นที่ และจัดเก็บรายได้เป็นของบริษัท ธุรกิจนี้เรียก PS (Parking Service) มีสัดส่วนรายได้ 60%
  2. รับจ้างบริหารจัดการพื้นที่ เช่น อาคารจอดแล้วจรของ รฟม. (PMS : Parking Management Service) มีสัดส่วนรายได้ 20%
  3. รับติดตั้งระบบบริหารลานจอดรถ เป็นระบบ Smart Parking ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมา เป็นการขายเทคโนโลยี ขายโซลูชัน สัดส่วนรายได้ 20%


“ในอุตสาหกรรมนี้มีผู้ประกอบการหลายรายแต่เป็นรายย่อยๆ ที่ทำกันเอง แต่ JPARK เริ่มทำเป็นธุรกิจมีเทคโนโลยีบริหารจัดการ ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น จัดเก็บเงินได้ถูกต้องมากขึ้น มีระบบมากขึ้น และเราเป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำธุรกิจด้านนี้อย่างเป็นระบบ” สันติพล กล่าว


ด้วยความคิดว่า ธุรกิจต้องไม่หยุดนิ่ง และต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สันติพล ขยายความว่า ธุรกิจบริหารจัดการที่จอดรถตามประสบการณ์ของเขา จึงถูกแบ่งเป็น 3 ยุค กล่าวคือ

  • ยุคแรก ยุคใช้คูปองกระดาษ บันทึกเวลา จดเวลา มีปัญหาเยอะเรื่องความถูกต้อง และบริหารจัดการภายใน
  • ยุคที่สอง ยุคใช้เทคโนโลยีสมาร์ทการ์ด บัตร RFID ซึ่งก็ใช้กันมานานและปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่
  • ยุคที่สาม ยุคใช้ LPR เกิดขึ้นในช่วงโควิด เพราะคนเห็นว่าบัตรที่ใช้กันแพร่เชื้อโรค โควิดเป็นตัวเปลี่ยนเกม คนเริ่มไม่ใช้บัตร จึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบบ LPR (License Plate Recognition) หรือการไม่ใช้บัตร ด้วยการติดตั้งกล้องและในกล้องมี AI อ่านป้ายทะเบียนบันทึกเวลาได้ จดจำใบหน้าได้ด้วย 


อย่างก็ตามในยุคที่ 3 ก็ยังต้องมีเรื่อง QR Code มาเกี่ยวข้อง เพราะว่า บางครั้งป้ายทะเบียนรถไม่สมบูรณ์ และกล้อง AI อ่านไม่ได้ จึงต้องใช้ QR Code เข้ามาช่วย


ไม่มีใคร Disrupt เรา เราก็ต้อง Disrupt ตัวเอง


ซีอีโอ JPARK ถ่ายทอดทัศนคติการทำธุรกิจด้วยว่า ธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา และบริษัทก็คิดถึงการถูก Disrupt ซึ่งยอมรับว่า ก่อนจะถูกคนอื่น Disrupt บริษัทก็ต้อง Disrupt ตัวเองก่อน 


แล้วด้วยความคิดนี้ จึงเป็นที่มาของการออกแบบและพัฒนาระบบ Smart Parking เพื่อบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 


อีกเรื่องคือ การสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ ด้วยการมองหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ดังนั้น JPARK จึงเน้นพื้นที่สาธารณะ เช่น สนามบิน อาคารจอดและจร โรงพยาบาล ศูนย์การค้า ไม่ใช่คอนโดมิเนียมซึ่งมีลูกบ้านใช้บริการมากกว่าคนทั่วไป และถ้าเป็นไปได้คือ จะเข้าทำในพื้นที่ที่ให้ระยะเวลาเช่าที่นาน เช่น กรณีโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า JPARK ได้สัญญา 30 ปี หรือพื้นที่จอดรถในสยามสแควร์ ที่เป็นสัญญาระยะยาว พื้นที่จอดรถในอาคารจอดแล้วจรของรถไฟฟ้าสายสีม่วง น้ำเงิน เขียว ที่ทาง รฟม.ให้ต่อสัญญาคราวละ 3 ปี เป็นต้น 


“ผมทำธุรกิจด้วยความคิดว่าต้องจริงจังกับมัน ธุรกิจนี้ใช่สำหรับเรา ดังนั้นต้องจริงจัง ศึกษา เรียนรู้กับมันตลอดเวลา และอย่าหยุดอยู่แค่ตรงที่เราคิดว่าสำเร็จ เพราะไม่มีความสำเร็จใด แล้วไม่ไปต่อ เพราะยังไงก็จะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงเราตลอดเวลา ดังนั้นต้องพัฒนาตัวเราและองค์กรเราตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับการบริการลูกค้า” สันติพล กล่าว


พร้อมกับบอกว่า ในอนาคตพื้นที่จอดรถจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ปริมาณรถเพิ่มขึ้นสวนทางกัน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถยนต์เติบโตเกือบปีละ 5 แสนคัน และถึงแม้จะมีการเพิ่มขึ้นของรถไฟฟ้าสายต่างๆ แต่ก็ยังต้องมีสาธารณูปโภคอาคารจอดแล้วจรมารองรับ หรือสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า ซึ่งสถานที่เหล่านี้พื้นที่จอดรถไม่พอทั้งนั้น พื้นที่แนวราบไม่พอ จึงต้องมีพื้นที่แนวดิ่งสำหรับจอดรถเพิ่มขึ้นอีก 


“เคยมีคนพูดว่า ถ้าระบบขนส่งสาธารณะดีขึ้น ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนน่าจะลดลง ซึ่งมันไม่จริง เราทำธุรกิจนี้มา 10 กว่าปี เราก็พบว่า ไม่จริง เพราะการใช้งานแบ่งพื้นที่กัน คนใช้บริการรถไฟฟ้าใช้ในบางโอกาสใช้รถบางครั้ง ส่วนคนใช้รถก็ใช้ประจำ และคนเราก็ไม่ได้มีบ้านติดรถไฟฟ้าได้ทุกคน”  


ดังนั้นธุรกิจเราจึงมองสัญญาระยะยาว มองทำเลในพื้นที่สำคัญที่สามารถสัมปทานระยะยาว หรืออย่างน้อย 30 ปี อย่างที่เราได้งานบริหารพื้นที่จอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ก็ระยะ 30 ปี ธุรกิจที่จอดรถก็คล้ายธุรกิจทางด่วน คือรับจ้างสร้างทางด่วนและจัดเก็บค่าบริการระยะยาว และนี่คือแนวทางของ JPARK ในระยะยาว และเราก็มั่นใจว่า เราเตรียมพร้อมตลอดเวลา 


และในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหญ่ เขาฝากถึงคนทำธุรกิจรุ่นใหม่ว่า การทำธุรกิจอย่าใจร้อน การประสบความสำเร็จในเวลารวดเร็ว มีได้ แต่มันหายาก ดังนั้นอย่ารีบ เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะคนที่ทำด้วยความเร่งรีบและใจร้อนมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้ามีจังหวะเร่งก็ต้องเร่ง แต่ ณ จุดเริ่มต้นต้องศึกษาให้ดี 


“ผมคิดว่าควรเริ่มต้น ณ จุดเล็กๆ และมองให้ใหญ่ไว้ อย่ารีบ ความสำเร็จไม่มีทางลัด ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามีโอกาสก็เร่งเลย” ซีอีโอ JPARK ฝากข้อคิดปิดท้าย 

ติดตามข่าวสาร รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับตลาดหุ้น หุ้น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ราคาหุ้น บทวิเคราะห์หุ้น เจาะลึกหุ้นรายเด่นรายตัว ข่าวหุ้นล่าสุด อัปเดตโอกาสในตลาดหุ้นทั่วโลก ได้ที่นี่

ข่าวหุ้น หุ้น การลงทุนหุ้น ได้ที่ : https://www.thairath.co.th/money/investment/stocks 


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money