หนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ใหญ่ในตอนนี้ ก็คือเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะคนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้เงินเพื่อเอามาเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเอง แต่ว่าสิ่งที่น่ากลัวไปมากกว่านั้นก็คือเรื่องของ ‘หนี้นอกระบบ’ ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้คนไทยเนี่ยหลุดพ้นจากวังวนนี้ให้เร็วที่สุด จึงมีนวัตกรรมทางการเงิน สิ่งที่เรียกว่า Digital Lending ที่เข้ามาช่วยให้คนไทยเนี่ยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved ที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้
รายการ Money Issue สัมภาษณ์คุณหนึ่ง - ถิรนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด บริษัทร่วมทุนของกลุ่ม SCBX และ Abacus สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านฟินเทคจากจีน ถึงเบื้องหลังของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประเมินสินเชื่อ พร้อมทั้งทำความเข้าใจกันว่าทำไมธุรกิจ Digital Lending จึงสามารถปล่อยกู้และรับความเสี่ยงได้มากกว่าธนาคาร
คุณถิรนันท์ เล่าว่า MONIX เป็นบริษัทผู้พัฒนาแอป FINNIX ซึ่งได้เปิดตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 พร้อมๆ กับการแพร่ระบาดโควิด-19 เลย จนถึงทุกวันนี้มีอายุประมาณ 3 ปีแล้ว โดยใช้ช่วงที่เปิดตัวแอป FINNIX คือ ต้องการทำโปรดักส์การเงินที่เข้ามาช่วยเหลือและตอบโจทย์คนในตอนนั้นได้มากที่สุด จึงนำมาสู่การทำโปรดักส์ด้านสินเชื่อ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ถ้าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลจะเป็นสินเชื่อที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคย โดยสถาบันการเงินสามารถที่จะนำเสนอให้กับประชาชนไทยได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดว่าเป็นสินเชื่อประกอบธุรกิจเพื่อรายย่อยหรือที่เรียกว่า ‘นาโนไฟแนนซ์’ เป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ แต่อาจจะต้องเป็นวิธีแตกต่างไปจากธนาคาร ซึ่งบริษัทเองก็มีจุดแข็งทั้งทางด้านการเงิน ประกอบกับเทคโนโลยีจากจีน ที่มีความแข็งแรงทางด้านการใช้เทคโนโลยี AI ในการทำ underwriting model เลยนำทั้งสองอย่างนี้มาผนวกกัน เพื่อสร้างความแตกต่าง และสามารถให้บริการกับประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้ โดยใช้พลังของ Data และ AI ที่เข้ามาประเมินความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อ นำมาสู่การทำโปรดักส์ที่ชื่อแอป FINNIX
3 ปีที่ผ่านมา เรามีลูกค้าที่เคยกู้กับเราจ่ายเงินปิดหนี้ไปแล้ว เราให้บริการคนไปมากกว่า 850,000 คน ตั้งเป้าว่าปลายปีนี้จะให้บริการได้ราว 1 ล้านคน ขณะที่จำนวนคนที่ดาวน์โหลดแอปอย่างเดียวตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านครั้ง และมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วรวมกว่า 23,000 ล้านบาทแล้ว
“สำหรับ MONIX ต้องบอกว่าเราไม่ได้เติบโตเร็วมาก แต่จะค่อนข้างเติบโตอย่างระมัดระวัง และด้วย demand ของตลาดค่อนข้างที่จะตอบสนองเรื่องของสินเชื่อรายย่อยอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต้องการ”
คุณถิรนันท์ อธิบายต่ออีกว่า จริงๆ แล้วในประเทศไทยยังมีอีกกว่า 35 ล้านคน เป็นคนที่ไม่ได้มีสลิปเงินเดือน อย่างเช่นประกอบอาชีพอิสระ ที่เขาก็จะไม่ได้มีรายได้ประจำทุกเดือน ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ถ้าเข้าไปขอยื่นกู้จากธนาคาร อาจจะประเมินความเสี่ยงไม่เหมาะสมกับลักษณะอาชีพของเขา ซึ่งมีอยู่ปริมาณมาก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาอาจจะต้องไปหาทางเลือกอื่นอย่างเช่นการกู้ยืมหนี้นอกระบบก็เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศ ซึ่งพอตรงนี้มันมีปริมาณมาก นี่จึงเป็นตลาดที่เราต้องเข้าไปบุก
และอีกปัญหาสำคัญเลยคือ หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยจะสูงมาก แล้วถ้าคนที่มีความรู้ไม่เพียงพอ เขาจะไม่เคยคำนวณเลยว่าต่อปีเขาอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงประมาณ 200-300% ดังนั้นพอเป็นแบบนี้จะหาทางออกยาก เพราะว่าจ่ายเงินออกไปเท่าไร ไม่เคยถึงต้น แค่ตัดดอกยังจะไม่พอ
และสิ่งที่เราเห็นเมื่อเวลาที่เขาเข้ามากู้ในแอป FINNIX เพื่อไปต่อยอดในการทำมาหากิน ซึ่งดอกเบี้ยมันต่างกันมาก เพราะของเราอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นจะเป็นดอกเบี้ยตามกฎหมายซึ่งคือ 33% ต่อปีเท่านั้น
แล้วสามารถทำได้ง่ายโดยจะเป็นแอปที่ผ่านมือถือ 100% อนุมัติไม่เกิน 5 นาที เพราะฉะนั้นค่อนข้างเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของพ่อค้าแม่ค้าที่แข่งกับเวลา สามารถทำได้ 24 ชั่วโมง ส่วนหลักฐานใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว แล้วยืนยันตัวตนในแอปได้เลย จบภายในตัวเอง
ส่วนใหญ่เราจะปล่อยกับพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 -18,000 บาทเท่านั้น เพราะว่าเราไม่อยากปล่อยเยอะจนเกินความต้องการของเขา เราอยากจะปล่อยเพียงเพื่อให้พอความต้องการของเขาจะได้มีความสามารถในการจ่ายคืน และเป็นคนที่มีวินัย และวันหนึ่งก็ปลดหนี้ได้เพื่อไปประกอบสัมมาชีพต่อไป
คุณถิรนันท์ กล่าวว่า ในการประเมินสินเชื่อของแอป FINNIX ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้กับเทคโนโลยี AI เพราะหลังบ้านไม่มีคนมานั่งกดเครื่องคิดเลข แต่ทั้งหมดเป็นพลังของ Data แล้วก็ใช้ Machine Learning ในการทำความเข้าใจ Data ในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นตัวเอกของเราเลย
แต่หากย้อนกลับไปถึงขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร ที่จะต้องมีการของสลิปเงินเดือน รวมถึงเอกสารต่างๆ มากมาย นั่นก็เพราะเขาต้องมีการทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าผ่านเส้นทางการใช้เงิน แต่พอเป็น Digital Lending ทุกคนมีหลากหลายอาชีพมากขึ้น และแต่ละคนก็มีการใช้เงินที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นการจะประเมินว่าบุคคลนี้มีความสามารถทางการเงินเป็นอย่างไร จะไม่ได้ถูกประเมินด้วยแค่หลักฐานที่เป็นเอกสารทางการเงินแล้ว
ดังนั้นนี่คือสิ่งที่เราพยายามตีโจทย์ว่ามันจะต้องสามารถให้บริการได้เร็ว และทำได้ทุกที่ เราก็เลยใช้มือถือเครื่องเดียว เพราะฉะนั้นตัวมือถือจึงกลายเป็นสิ่งที่เราใช้ประเมินเครดิต ที่สามารถสะท้อนพฤติกรรมได้ในระดับหนึ่ง เราจึงเริ่มวิธีการใช้ Alternative Data คือใช้ mobile Data ที่เวลาถ้าลูกค้าผ่านมาใน Application ลูกค้าต้องกดยินยอมการใช้ข้อมูลมือถือ ซึ่งถูกต้องตามกฎหมายและต้องอ่านก่อนแล้วจึงกดยินยอม แต่ถ้าลูกค้าต้องการให้เราเข้าใจมากขึ้น สามารถอัปโหลด Bank statement หรือเอกสารเพิ่มเติมได้
คุณถิรนันธ์ อธิบายว่า ต้องบอกว่าเวลาที่เราดูโครงสร้างของรายรับรายจ่าย รายรับลบด้วยต้นทุนก็เป็นกำไร เพราะฉะนั้นเรารู้อยู่แล้วว่ารายได้มีแค่ 33% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสินเชื่อนาโนตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด) ตรงนี้เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ส่วนความเสี่ยงเป็นเรื่องของ Underwriting Model ซึ่งมันมีจุดที่เราสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งในการคัดเลือกคนเข้ามา แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่ปริมาณมาก แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ คือ Operation Cost
นี่จึงเป็นจุดต่างที่ว่า ถ้าเรายังไปแบบมีสาขา ใช้ระบบข้างหลังใหญ่เกินความจำเป็น ก็จะทำให้เราไม่สามารถที่จะทำกำไรได้ เพราะต้นทุนหนามากตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราจะตีโจทย์ตั้งแต่แรกว่า ไม่มีทางมีสาขา ส่วนระบบจะเริ่มจากศูนย์ คือค่อยๆ สร้างไป พัฒนาไป แล้วเป็น Cloud Based ทั้งหมด มันก็จะสามารถยืดหยุ่นได้ตามปริมาณของธุรกรรมที่เข้ามา ไม่ใช่ว่าต้องซื้อบ้านหลังใหญ่มากใช้อยู่ห้องเดียวไม่ใช่อย่างนี้ค่ะ
ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่า ขึ้นอยู่กับการควบคุมต้นทุน ยิ่งควบคุมได้ดีมากเท่าไร เรายิ่งเหลือเงินทอน หรือกำไรมากเท่านั้น และต่อมาก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอากำไรไปทำอะไรต่อ ซึ่งของ MONIX เอาไปลงทุนขยายส่วนของ NPL ที่ทำให้เราสามารถรับลูกค้าได้มากขึ้น เพราะเรามองว่าเป้าหมายของเราตั้งแต่แรกคือการสร้างโอกาสให้กับคนไทยมากที่สุด