ถอดแนวคิด ภเดช น้ำพริกคุณชาย ที่ทำแบรนด์ให้โตยั่งยืนด้วยการลุยตลาด B2C

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดแนวคิด ภเดช น้ำพริกคุณชาย ที่ทำแบรนด์ให้โตยั่งยืนด้วยการลุยตลาด B2C

Date Time: 18 ก.ค. 2566 16:51 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ถอดแนวคิด ภเดช กันตจินดา ผู้ผลิต "น้ำพริกคุณชาย" ซึ่งเริ่มต้นจาก "ร้านนิตยาไก่ย่าง" ของคุณแม่ ต่อยอดพัฒนาสินค้าจากการผลิต B2B และ OEM จนถึงการลุยตลาดแบบ B2C เพื่อสร้างแบรนด์ให้เติบโตยั่งยืน

น้ำพริก และ พริกแกง ถือเป็นอาหารคู่ครัวคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ เรียกได้ว่าไปเยือนครัวที่ไหนจะได้เห็นพริก พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระชาย กะปิ หรือเคย แทบจะทุกบ้าน ซึ่งวัถตุดิบเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องติดครัวไว้ ถ้าจะทำแกงส้ม แกงเผ็ดสักหม้อ หรือตำน้ำพริกสักถ้วย ก็เรียกหาของเหล่านี้มีอะไรก็ตำๆ ใส่ไป ใช้เวลาไม่นานเมนูเหล่านี้ก็เตรียมขึ้นโต๊ะ ตักข้าวสวยร้อนๆ ก็รับประทานได้ทันที 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายๆ บ้าน หลายๆ ครอบครัวมีข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่ ไม่สามารถตำพริกแกง ตำน้ำพริกได้เหมือนสมัยก่อนแล้ว พริกแกงสำเร็จรูป รวมถึงน้ำพริกคลุกข้าวจึงได้รับความนิยม โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมาเราจะได้เห็นน้ำพริกคลุกข้าวเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เช่น น้ำพริกกากหมู น้ำพริกหนังไก่กรอบ ที่ยอดขายถล่มทลาย 

ขณะที่ น้ำพริกแกงสำเร็จรูปเจ้าเล็ก-เจ้าใหญ่ ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะหลายๆ บ้านเข้าครัวทำอาหารกันสารพัดจะแกง ทั้งแกงเขียวหวาน แกงเผ็ด แกงแดง แกงส้ม แกงเหลือง เรียกได้ว่าผู้ผลิตก็ผลิตกันมือระวิง แต่พอหมดโควิด เราก็เริ่มเห็นผู้ผลิตน้ำพริก และพริกแกงหายไปหลายเจ้า อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งตั้งใจขายแค่ช่วงโควิด

แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องหายออกไปจากตลาด เนื่องจากยอดขายไม่ดีเหมือนเดิม ท่ามกลางผู้เล่นหน้าใหม่โดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น โจทย์สำคัญของผู้ผลิตน้ำพริกที่เป็นสินค้าพื้นบ้านหาได้ทั่วไป จะทำอย่างไรให้ธุรกิจไปต่อ เติบโตได้ต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องเติบโตแบบยั่งยืน

"ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" จึงพาไปคุยกับ ภเดช กันตจินดา กรรมการ บริษัท เนเจอร์ สไปซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย "น้ำพริกคุณชาย" ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่โลดเล่นอยู่ในถนนสายน้ำพริกมานาน เขาเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ผมเข้ามารับช่วงทำธุรกิจโรงงานน้ำพริกจากครอบครัวเมื่อปี 2546 หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับแบรนด์ไก่ย่างนิตยา ซึ่งคุณแม่ผมเป็นเจ้าของ

แต่เดิมสินค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มน้ำพริกแกง ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกแกงเผ็ด น้ำพริกแกงเขียวหวาน น้ำพริกแกงพะแนง น้ำพริกแกงมัสมัน และน้ำพริกเผา รวมถึงกระเทียมเจียว หอมเจียว ข้าวคั่วในแบรนด์น้ำพริกคุณชายที่วางขายในแม็คโคร รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ นอกจากนี้เราก็รับผลิต OEM น้ำพริกแกงต่างๆ ในแบรนด์ชั้นนำที่วางขายห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านอาหารเชนต่างๆ เราก็เป็นผู้ผลิตให้ จะเห็นได้ว่าเราผลิตสินค้าแบบ B2B และ OEM มาตลอด

เมื่อผมเข้ามาจึงเริ่มแนวคิดที่จะหาช่องทางใหม่ๆ แทนช่องทาง B2B และ OEM ที่ในอนาคตเราจะเห็นการแข่งขันทางด้านราคามากกว่า ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนั้น การเติบโตแบบยั่งยืนจะไม่เกิดในธุรกิจเรา ผมจึงต้องหาช่องทางการทำตลาด และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

สำหรับช่องทางที่มองไว้เป็นอันดับแรกคือ การจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด และตลาดโมเดิร์นเทรดแรกที่นึกถึงก็คือ เซเว่น อีเลฟเว่น เพราะมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย จึงเข้าไปขอรับคำปรึกษาจากทางทีมที่ปรึกษาของ เซเว่น อีเลฟเว่น

สิ่งที่เราได้เรียนรู้หลักจากขยายช่องทางแบบ B2C ที่สำคัญที่สุด คือ รสชาติ และแพ็กเกจจิ้ง เราจึงพัฒนาตัวน้ำพริกคลุกข้าว ปรับน้ำพริกแกงสูตรใหม่ ด้วยการเพิ่มแนวคิดของผู้บริโภคเข้าไป รสชาติของเราต้องถูกใจคนกลุ่มไหนบ้าง จะพัฒนาอย่างไรให้สูตรเป็นกลางมากที่สุด ไม่เค็มเกินไป ไม่เผ็ดจนเกินไป เพราะผู้บริโภคแต่ละท้องถิ่น แต่ละภูมิภาคชื่นชอบรสชาติไม่เหมือนกัน เราจึงทำรสชาติกลางๆ ชิมแล้วทานได้ทุกกลุ่มอายุ

ส่วนเรื่องการทำแพ็กเกจจิ้งเราก็ให้ความสำคัญ ให้ผู้บริโภครู้สึกใช้ง่าย ขนาดของบรรจุภัณฑ์ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป เหมาะกับการทานครั้งเดียวหมด เป็นต้น เรามีประสบการณ์ทำธุรกิจแบบ B2B และ OEM มา เราจึงเข้าใจเรื่องมาตรฐานโรงงาน มาตรฐานการผลิตเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา

ปัจจุบันเรามีสินค้าจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งสิ้น 4 รายการได้แก่ น้ำพริกปลาดุกฟูผัดฉ่า น้ำพริกปลาดุกฟูผัดพริกขิง น้ำพริกนรกตาแดง และน้ำพริกเห็ดกรอบคั่วพริก รวมถึงอีก 4 รายการน้ำพริกคลุกข้าวเจ ที่จำหน่ายเฉพาะช่วงเทศกาลกินเจ

"ที่ผ่านมาผมถือเป็นความท้าทายของเราอย่างมาก เพราะเดิมเราผลิตแบบ B2B และ OEM ไม่มีความรู้เรื่องการผลิตเพื่อทำตลาดโมเดิร์นเทรดเลย เราจึงต้องจัดลำดับการทำงานให้ดี แบบนับหนึ่งตั้งแต่เรื่องระบบหลังบ้าน การจัดทำโครงสร้างราคา ความต้องการตลาด การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง การเก็บรักษาสินค้า พัฒนามาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงงานให้ดีขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่"

ในอนาคตข้างหน้านี้เราจะมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม เช่น อาหารทานเล่น หรือ Appetizers เช่น ไก่ทอดน้ำปลา ซึ่งโรงงานใหม่ของเราสามารถผลิตสินค้าในลักษณะนี้ได้ รวมไปถึงอาหารในกลุ่ม ready-to-eat และในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้เราจะมี "ร้านพริกคุณชาย" ซึ่งมีหน้าร้านของตัวเอง เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เพราะทุกวันนี้ลูกค้าที่สั่งผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง ช้อปปี้ ลาซาด้า ก็จะถามเสมอว่ามีหน้าร้านไหม เพราะอยากเข้ามาเลือกเอง อยากชิมก่อนซื้อ และอยากลองสินค้าใหม่ๆ

กว่าจะเป็นน้ำพริกนรกตาแดง คุณชาย

นอกจากนี้ ภเดช ได้ยกตัวอย่างความต่างของสินค้าระหว่างน้ำพริกคุณชาย และคู่แข่งที่เห็นได้ชัดคือ ราคาไม่แพง ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ดีต่อสุขภาพ เราผลิตจากวัตถุดิบชั้นดีที่คัดสรรมาแล้ว รวมทั้งยังมีรสสัมผัส และเนื้อสัมผัสที่ไม่เหมือนใคร

ยกตัวอย่าง "น้ำพริกนรกตาแดง" ซึ่งเป็นสินค้าขายดี เนื้อสัมผัสที่ไม่เหนียว ไม่กระด้าง รสชาติกลมกล่อม แซ่บแบบไม่แสบท้อง เราต้องลองปรับสูตรมาโดยตลอด เช่น ผัดไม่แห้งจนเกินไป เพราะถ้าแห้งตัวเนื้อจะกระด้าง และมีสีคล้ำ หรือถ้าผัดไม่นานก็จะมีน้ำมันออกมา มันจะดูเยิ้ม และดูเป็นของเก่า

เรียกได้ว่าเราพัฒนาน้ำพริกนรกตาแดงอยู่ 6 เดือน ต้องลองปาดน้ำพริกบนไข่เจียวจนกว่าจะได้สี ความหนืด ความเหนียวที่ออกมาดี ที่สำคัญต้องผ่าน QC จากคุณแม่รวีรัตน์ ลักษณวิสิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร้านนิตยาไก่ย่าง เพื่อให้ได้คุณภาพและความอร่อย

"จริงๆ แล้วน้ำพริกไม่ใช่แค่กลิ่นหอมอย่างเดียว แต่รสชาติก็ต้องอร่อย เราใส่ใจทุกบลายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นวัตดิบต่างๆ เช่น ตะไคร้ต้องใช้แต่โคนอวบๆ ขาวๆ ที่หอมที่สุด ใบมะกรูดก็ต้องล้างถึง 4 น้ำ ข่าก็ต้องไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป พริกสด พริกแห้ง ที่เอามาทำก็ต้องสะอาดได้มาตรฐานของเรา จึงนำมาทำเป็นน้ำพริกได้".

บทความ : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์