ผ่าโจทย์เศรษฐกิจไทย 3 ระยะ  ที่ “รัฐบาล” ต้องตีให้แตก เมื่อ “บุญเก่า” เจอปัญหา บุญใหม่มาไม่ทัน

Business & Marketing

Executive Interviews

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)

Tag

ผ่าโจทย์เศรษฐกิจไทย 3 ระยะ ที่ “รัฐบาล” ต้องตีให้แตก เมื่อ “บุญเก่า” เจอปัญหา บุญใหม่มาไม่ทัน

Date Time: 18 ก.ย. 2567 12:33 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • Thairath Money ชวนผ่าโจทย์เศรษฐกิจ 3 ระยะ ที่รัฐบาลแพทองธาร ต้องตีให้แตก ไปกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

Latest


ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เศรษฐกิจไทย” ตอนนี้ กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ติดกับดักโตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และวังวงเกมการเมืองที่พร้อมบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ในปี 2567 เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด ทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่หลังได้รัฐบาลชุดใหม่ตลาดก็มีความหวังมากขึ้นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนพลิกหุ้นไทยกลับมาฟื้นได้ที่ระดับ 1,400 จุด


แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ประเทศไทยพ้นวิกฤติแล้ว ภายใต้การนำของรัฐบาลแพทองธาร อะไร คือโจทย์เศรษฐกิจระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวที่ต้องตีให้แตก เพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ Thairath Money ชวนร่วมหาคำตอบไปกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ก่อนจะไปผ่าโจทย์เศรษฐกิจ 3 ระยะ ดร.พิพัฒน์ ได้รีแคปสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยที่หนุนให้ GDP เติบโตได้ที่ระดับ 2% หลัก ๆ มาจากภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งกลายเป็น “เดอะแบก” หนึ่งเดียว ท่ามกลางภาคการผลิตติดลบ และภาคเกษตรที่อ่อนแรงลง โดยสามารถจำแนกความท้าทายทางเศรษฐกิจได้เป็น 3 ระยะ

ระยะสั้น : เศรษฐกิจยังฟื้นช้าหลังโควิด

เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าหลังโควิด โจทย์ใหญ่คือ ไทยจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรให้คุ้มค่า ท่ามกลางทรัพยากรทางการคลังที่จำกัด

“เราควรกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เงินเรามีจำกัด ควรจะใช้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด สเกลที่เหมาะสมคือเท่าไร”

ดังนั้นโครงการดิจิทัลเราก้าวข้ามเรื่องความจำเป็นหรือไม่จำเป็นไปแล้ว วันนี้ที่ถกเถียงกันจึงเป็นเรื่องของสเกล การแจกเงินที่เพิ่มขนาดโครงการมาเป็นแสนล้านบาทในคราวเดียว เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท เมื่อเทียบกับโครงการคนละครึ่งช่วงโควิดที่ใช้จ่ายคนละ 3,000-5,000 บาท คำถามที่เกิดขึ้นคือคุ้มค่าหรือไม่กับเงินที่มีจำกัด เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ผลของตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) ทำให้สัดส่วน GDP เพิ่มขึ้นเท่าไร

แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาคือ ต้นทุนทางตรง ซึ่งเป็นภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นทันที หากอีก 2 ปี หนี้สาธารณะพุ่งแตะเพดานที่ 70% เมื่อถึงตอนนั้นต้องตอบให้ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนใช้ต่อ รวมถึงพิจารณาค่าเสียโอกาส ซึ่งเป็นต้นทุนทางอ้อม จะเห็นได้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มทรัพยากรเพื่อเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต จนมองข้ามโจทย์ระยะกลาง ระยะยาว ในทางกลับกัน เราสามารถเอางบประมาณ 500,000 ล้านบาท มาลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนได้หลายรูปแบบ ทั้งแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ป้องกันน้ำท่วม เพื่อรองรับผลกระทบจาก Climate change ในอนาคต

ระยะกลาง : ขีดความสามารถแข่งขันสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างเริ่มแผลงฤทธิ์ ไทยจะต้องเผชิญกับ 2 โจทย์ใหญ่

1. ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยลง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจีน โดย 3 อุตสาหกรรมหลักซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าตลาดโลกอย่าง รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี กำลังโดนดิสรัปเพราะผลิตแข่งขันเรื่องต้นทุนไม่ได้ และไม่มีการเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงเป็นที่ต้องการในตลาดโลกน้อยลงเรื่อย ๆ

“อุตสาหกรรมหรือบุญเก่าของเรากำลังเจอปัญหา ในขณะที่บุญใหม่มาไม่ทัน เราควรดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างบุญใหม่อย่างไร”

ภาพใหญ่ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา มาจากความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐ-จีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้จีนหันมาเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้า เพื่อพึ่งพาตัวเอง แต่กำลังซื้อในประเทศซบเซา ทำให้จีนต้องระบายสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศ จนนำมาซึ่งการทุ่มตลาดในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วร่วมมือกันขึ้นกำแพงภาษี สกัดสินค้าราคาถูกปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ด้านอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายระบายสินค้า ก็เริ่มขึ้นภาษีนำเข้าแล้วเช่นกัน

2. Financial Deleveraging คือ ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี กดดันหนี้ครัวเรือน จนกระทบการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองแม้เศรษฐกิจดีแค่ไหน หากธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อก็จะมีปัญหา ลามกระทบยอดขายรถ ยอดขายบ้าน จนไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ไทยต้องหาวิธีตัดวงจรดังกล่าวได้อย่างไร

ระยะยาว : 3 กระแสโลกรอท้าชนเศรษฐกิจไทย

สำหรับโจทย์ระยะยาว มีกระแสโลก 3 เรื่องที่ไทยต้องเตรียมรับมือ

1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

เข้าสู่สังคมสูงวัยทั่วโลก รวมถึงไทยที่ตลาดบริโภคจะเล็กลง เนื่องจากมีประชากรวัยทำงานลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโตช้า ต้องเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร

2. ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์

การค้าโลกยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ส่อแววรุนแรงและยืดเยื้อ

3. Climate change ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ผลผลิตที่เป็นสินค้าส่งออก อาจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ข้อเสนอ : เพิ่มผลิตภาพแรงงาน แก้โจทย์ระยะกลาง-ยาว

“เศรษฐกิจโตต่ำ” กว่าระดับศักยภาพ เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนให้ภาคใดภาคหนึ่งเป็นเดอะแบกได้ ทางออกเดียวที่มีและต้องทำให้ได้ คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน(Productivity) โดยต้องตีโจทย์ให้แตกว่า เราจะสามารถยกระดับค่าจ้างที่แท้จริง ของคนไทยได้อย่างไร ท่ามกลางประชากรวัยทำงานที่ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าตาม ดังนั้นการจะรักษาหรือเพิ่มระดับการเติบโตของเศรษฐกิจ หมายความว่าคนหนึ่งคนจะต้องสร้างรายได้สูงขึ้น


ยกตัวอย่างเช่น ภาคเกษตรที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง ถ้ามีจำนวนแรงงานเท่าเดิมจะต้องมีการปรับปรุงระบบชลประทาน นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวเพิ่มเติมหรือไม่ หรือแม้แต่การส่งออกข้าว ทำไมเราไม่นำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแบบญี่ปุ่น

วันนี้ที่ต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศอาเซียนแทนที่จะมาไทย เราต้องหันกลับมาดูนโยบายของรัฐบาลว่ามีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจนหรือไม่ มีแนวทางผลักดันภาคส่วนต่าง ๆ ให้ไปถึงจุดหมายได้อย่างไร ตอนนี้
สิ่งที่เราขาดคือความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ต้นทุนค่าแรงที่แพง แต่เรามีจำนวนแรงงานที่มีทักษะเพียงพอรองรับอุตสาหกรรมในตลาดหรือไม่ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูป ปรับโครงสร้างกฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย ความเสี่ยงทางการเมือง และความต่อเนื่องเชิงนโยบาย

ดร.พิพัฒน์เน้นย้ำว่าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อดึงดูดการลงทุน มีความสำคัญกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะหากปล่อยไว้ก็จะไม่สามารถแก้โจทย์เศรษฐกิจระยะกลาง-ยาวได้

สู้ไม่ได้ ก็ให้เข้าร่วม ทางรอดผู้ประกอบการไทย

“โจทย์ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยคือ ตลาดในประเทศโตช้าลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่แข่งขันกันเอง แต่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้า” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือประเมินสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้ภาพอาจจะเปลี่ยนแล้ว เรื่องของความสามารถการแข่งขัน และต้นทุน เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าอยากแข่งขันได้ ต้องหาวิธีลดต้นทุน หรือถ้าแข่งเรื่องต้นทุนไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่า ยกระดับสินค้าและบริการเป็นพรีเมียม วันนี้ถ้าอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องมองออกไปข้างนอก หาโอกาสขยายตลาดใหม่ ๆ

สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือ หาแนวทางต่อยอดสินค้าหรือบริการจากจีนที่เข้ามาตีตลาด การทุ่มตลาดของสินค้าจีนราคาถูกนั้น เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทย แต่หากมองอีกด้านก็เป็นโอกาสให้เรานำสินค้าที่ต้นทุนถูกลง มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

“เรากำลังเจอการแข่งขันที่เราแข่งยาก เนื่องจากไม่สามารถสู้เรื่องต้นทุนและสเกลได้”

ติดตามข่าวสารด้านการตลาดและธุรกิจ กับ Thairath Money ที่จะทำให้ “การเงินดีชีวิตดี” ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)
Junoir Content Creator at Thairath Money