ปัจจุบันหากคุณอยู่ในแวดวงการธุรกิจ การตลาด เซลล์ แม้กระทั่งสายงานโปรดักต์เมเนเจอร์ หรือนักพัฒนาแอปพลิเคชันก็อาจคุ้นเคยกับเครื่องไม้เครื่องมือประเภท Social Ads, CMS, Social Monitoring, Analytics, CDP-CRM ไปจนถึง Big Data Management แน่นอนว่าคำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ เครื่องมือเหล่านี้พิเศษอย่างไร เราจำเป็นต้องใช้หรือไม่?
กล่าวคือ เครื่องมือเหล่านี้ทำให้คุณมองเห็น ‘ข้อมูล’ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพฤติกรรมการพูดคุย การรับชมคอนเทนต์ การเลือกซื้อสินค้า แถมคุณยังสามารถบริหารจัดการข้อมูลเหล่านั้นซึ่งจำเป็นต่อธุรกิจได้อีกด้วย จากนั้นเมื่อคุณมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจในมือ คุณก็สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดทั้งการขายหรือทำแคมเปญได้อย่างถูกจุดนั่นเอง
Thairath Money พูดคุยกับ ดร.โบ หรือนายเอกลักษณ์ ยิ้มวิไล ผู้สร้าง Mandala AI หนึ่งในแพลตฟอร์มให้บริการยอดนิยมในหมู่นักการตลาด ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด
เพื่อมาเจาะลึกถึงมุมมองของ ‘ผู้สร้างเครื่องมือ’ กับเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ทั่วโลกได้ใช้งาน หลังจากที่ได้ไปซ้อมรบในสนามต่างประเทศมาแล้วกว่า 4 ปี พร้อมประเมินศักยภาพความแข็งแกร่งของซอฟต์แวร์ไทยในเวทีโลก
.
ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดร.โบ เริ่มต้นเล่าถึงบทบาทการทำงานในฐานะคนสื่อคนหนึ่ง รับหน้าที่เป็นพิธีกร นักวิเคราะห์ข่าว คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ตลอดจนการเป็นผู้บริหารระดับสูงบริหารสื่อเชิงพาณิชย์จนกระทั่งการเผชิญกับจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้ตนต้องผันตัวสู่เส้นทางการเป็น ‘เถ้าแก่’ ขายอาหารสัตว์ ดร.โบ เล่าว่า ช่วงเวลานั้นการเป็นพ่อค้าของเขา เริ่มต้นพร้อมการก่อตัวขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘อีคอมเมิร์ซ’ พ่อค้าแม่ค้าสามารถเปิดร้านขายของในโลกออนไลน์ได้แต่ต้องแลกมากับค่าที่แสนแพงและข้อแม้ที่ตนไม่รู้จัก
“ยุคนั้นเป็นยุคล่าจราจรยุคแรกๆ แพลตฟอร์มให้เงิน 100 บาท 300 บาท ดึงพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาเปิดร้านค้า เวลานั้นผมทำอีคอมเมิร์ซเริ่มรู้ตัวว่าแข่งไม่ไหว ซื้อโฆษณาไม่ไหว ด้วยความที่ตนจบเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และจิตวิทยามวลชน เราจึงมองตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคไปพร้อมกับเข้าใจแพลตฟอร์ม หาวิธีสู้กับโฆษณา จะนำข้อมูลมาทำยังไงให้เราจ่ายโฆษณาน้อยลงจนเริ่มเห็นว่าอะไรคือ pain point ของคนค้าขายออนไลน์ อะไรคือสิ่งที่จะปิดช่องโหว่ของคนทำดิจิทัล”
ประมาณสามปีที่แล้ว Mandala Analytics เวอร์ชันแรกเกิดขึ้นด้วยไอเดียบนกระดาษ A3 จำนวนมากพอที่จะต่อเป็นโต๊ะ ดร.โบ เล่าว่าตนและทีมเริ่มต้นเขียนอัลกอริทึมด้วยพื้นฐานที่ตนมีและลองขายเป็นรีพอร์ตง่ายๆ อยู่เป็นเวลาหนึ่งก่อนตัดสินใจกำหนดทิศทางสตาร์ทอัพตนเองโดยมีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขายทั่วโลก และลงมือเขียนจดหมายขอเป็นพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกค่าย
“ผมเปลี่ยนทีมขายอาหารสัตว์ในวันนั้นเป็นบริษัทในวันนี้ ผมบอกตัวเองว่า ถ้าต้องเหนื่อย ขอทำสิ่งที่ใหญ่ เรามียี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน จะทำยังไงให้เกิดเอ็กซ์แฟกเตอร์ ผมขอขายทั่วโลก แต่สิ่งที่จะขายทั่วโลกได้ คือ เทคโนโลยีที่ไม่มีขีดจำกัด ”
แน่นอนว่าเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ผู้อ่านต้องเกิดคำถามแล้วว่า แล้วจะทำเทคโนโลยีให้ดีและแข่งกับทั่วโลกได้อย่างไร ดร.โบ ตอบว่า หลักๆ มีอยู่สองข้อ อันดับแรก คือ เทคโนโลยี สอง คือ คน
หากสังเกตแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่เราใช้ทุกวันนี้ล้วนมีที่มาจากหลายประเทศทั่วโลกในมุมผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ ใช้งานเพื่อตอบโจทย์ด้านใดด้านหนึ่งโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามว่ามาจากประเทศไหน เพราะกรอบนั้นถูกทำลายแล้ว ‘เทคโนโลยี’ ก็เช่นเดียวกัน การสร้างเทคโนโลยี คือ การสร้างโซลูชันที่ถูกใจผู้ใช้ แก้ไขปัญหาของผู้ใช้ได้จริง
ขณะเดียวกันแม้จะมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน แต่นาทีนั้น ‘ผู้นำ’ ไม่มีทิศทางชัดเจนมากพอก็ยาก ดร.โบ ให้มุมมองว่า ผู้บริหารหรือซีอีโอฝั่งเทค ต้องเป็นหัวเรือที่ดี ทำให้ทีมงานศรัทธาและไปด้วยกัน ผู้นำต้องเป็นทั้ง Innovator และ Director บริหารแผนธุรกิจ มีนโยบายชัดเจนว่าจะนำบริษัทไปทิศทางไหน ต้อง Localize Operation เข้าใจตลาด เข้าใจวัฒนธรรม และจัดวางความแตกต่างเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ขาแรกวิ่งหานายทุน ขาที่สองคือทำอย่างไรให้เทคโนโลยีมั่นคงในตลาด และแข่งกับทั่วโลกได้ สมัยเริ่มต้น เทคโนโลยี เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับหลายคน โดยเฉพาะนักลงทุน โหดที่สุด คือ ตลาดเงินตลาดทุน คนที่ฝันจะทำเทคสตาร์ทอัพต้องมีผลงานที่จับต้องได้จริง
“การหานักลงทุนว่ายากแล้ว แต่จะหานักลงทุนที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ อย่างไรก็ตามยุคนี้ตลาดเปิดมากขึ้น นักลงทุนมีความเข้าใจว่า เทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสินทรัพย์สำคัญในการลงทุน”
ดร.โบ ให้มุมมองว่า การทำธุรกิจเทคโนโลยี คุณสามารถพัฒนาสิ่งที่ล้ำสมัยมาก สร้างการเติบโตด้วยศักยภาพ ความหวือหวา จากนั้นก็ขายบริษัททิ้ง หรืออีกทางที่คุณสามารถพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ มีลูกค้าใช้งานจริงก็สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน
คนมองเทคโนโลยีเป็นเรื่องซับซ้อน แต่จริงๆ เทคโนโลยีควรเรียบง่ายที่สุด ซึ่งความซับซ้อนเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาที่ต้องหา pain point และสร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถทรานสฟอร์มด้วยประสบการณ์ของผู้ใช้งานในประเทศนั้นๆ การพัฒนาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่ดี ฮาร์ดแวร์ต้องฟิตด้วยตัวของมันเอง
"ทำไมคนถึงใช้ Line ใช้ TikTok คำตอบคือเพราะ ใช้ง่าย ซึ่งคนต้องการแค่นี้ การพัฒนาเทคโนโลยีให้กับคนทั่วโลกใช้ก็ต้องเป็นแบบนั้น ตราบใดที่ผลิตโซลูชันตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้คนจะแยกแยะได้ว่าสิ่งนี้จำเป็น"
ขณะที่ตลาดในประเทศไทย ดร.โบ ให้มุมมองว่า มีสัดส่วนค่อนข้างเล็ก หากเทียบประเทศมีประชากรรวม 70 ล้านคน มีกี่คนที่เป็นนักการตลาด กี่คนที่อยากเรียนรู้สร้างธุรกิจตัวเองให้เติบโต ถึงแม้จะมีคนที่พร้อมจะเรียนรู้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้ธุรกิจเขาเติบโต สุดท้ายก็จะเหลือเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งคนกลุ่มนั้น คือ กลุ่มนักการตลาด นักพัฒนาที่รู้จักกันอยู่แล้วในวงการ
“วงการ Data-AI รวมถึง MarTech ไทยตอนนี้ บุคลากรมีความสามารถจำนวนเยอะมาก เทคโนโลยีมีคุณภาพหลากหลายให้คนได้เลือกใช้ และสามารถลุยต่างประเทศได้ แต่แพลตฟอร์มต่างประเทศเริ่มเก่งภาษาไทยมากขึ้นเช่นเดียวกัน ไทยต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน เริ่มต้นจากการคิด อย่าไปคิดว่าของไทยของเทศ ให้คิดว่าคนทั้งโลกจะใช้งาน เพราะบริษัทต่างประเทศเขาก็มีจุดเริ่มต้นแบบเรา”
ดร.โบ เล่าว่า เพราะ ข้อมูล คือ น้ำมัน บทบาทของธุรกิจด้านข้อมูล คือ การกลั่นน้ำมันดิบให้พร้อมใช้ หลักคิดของ โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค ตั้งใจลดกำแพงของการเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยการสร้างโซลูชันที่ใช้จับต้องได้ ทดลองใช้ฟรี ราคาถูกเข้าถึงได้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ให้สามารถใช้เครื่องมือกับธุรกิจท่ามกลางยุค Data-AI โดย Tech Stack ของเรามีทั้งซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มให้บริการที่ครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่บิ๊กดาต้าในระดับภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลเชิงลึกระดับบุคคล ตลอดจนกระบวนการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ทางธุรกิจ รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาและพาร์ตเนอร์ร่วมกับบริษัทหรือเอเจนซี่
“ทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะการทำธุรกิจเทคฯ เราทำทุกอย่างคนเดียวไม่ได้ แก่นของธุรกิจ ต้อง Leverage benefit และสร้าง Network-effected เพราะการเข้าถึงตลาด คือ การให้โอกาสคนร่วมเติบโตกับองค์กรของคุณ เทคโนโลยีก็เป็นแบบนั้น”
ดร.โบ ให้มุมมองว่า การทำธุรกิจเทคฯ ต้องดูทั้งราคาโปรดักต์ มูลค่าในตลาดทุน และการพิสูจน์ตัวเลขชี้วัดต่างๆ ว่ามีการใช้งานจริง ในเชิงมูลค่าบริษัท เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของบริษัทมาได้ 80% และตั้งเป้าที่จะก้าวสู่ระดับ Top 10 ของโลก ซึ่งสิ่งที่จะทำสเกลไปถึงเป้าหมายหลังจากนี้ คือ การเพิ่มยอดใช้งาน การเติบโตของรายได้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้าซึ่งจะตามด้วยการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
ตามด้วยการเล่าถึงสเตจการระดมทุนครั้งล่าสุดที่ได้รับเงินระดมทุนรอบ Pre-Series A มูลค่า 150 ล้านบาท พร้อมแผนการระดมทุนเพิ่มอีกในปีนี้กว่า 350 ล้านบาทเพื่อพา โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค เข้าสู่ Series A ภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกเป้าหมายใหญ่ในการพา โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค เข้าตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
“ผมคิดว่าจริงๆ ควรทำให้กับประเทศไทย เพราะบ้านเรายังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีที่เป็น Pure Tech ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นเซอร์วิส ไม่ใช่ซอฟต์แวร์เฮาส์ด้วยซ้ำ วันนี้เรามาถึงจุดที่กำลังให้คนรู้ว่า นี่คือ เทคโนโลยีของคนไทยและเป็นแพลตฟอร์มที่กำลังจะเติบโต ตั้งใจพัฒนาเอนจิ้นเป็นของตัวเองให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านี้ในสเตจต่อไป”
สำหรับคำถามสุดท้าย เมื่อถามว่า เราทุกคนต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน ถึงเทคโนโลยีที่เข้าถึงข้อมูลของผู้คนและธุรกิจได้ทั้งโลก ดร.โบ สรุปให้ฟังว่า
โซเชียลมีเดีย คือ พื้นที่สาธารณะ เราเป็นสะพานเชื่อมข้อมูล (Data connector & Data Processor) ในการเชื่อมโยงข้อมูลจากโซเชียลมีเดียสู่ธุรกิจ เราทำงานกับข้อมูลที่เป็น ‘ข้อมูลสาธารณะ’ ร้อยเปอร์เซ็นต์ การกวาดข้อมูลเป็นเรื่องร้ายแรง สำหรับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น โปรไฟล์ลูกค้าจากโซเชียลมีเดีย มี Secure Zone ที่ชัดเจน ต้องได้รับการขออนุมัติยินยอมอยู่ภายใต้กฎหมายทั้ง PDPA และ GDPR ในระดับประเทศ เพราะ “ยิ่งก้าวสู่ตลาดสากลมากเท่าไร ต้องมีความรับผิดชอบและความน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น”