เวทีไทยรัฐ ฟอรัม 2024 “ถึงเราจะต่าง Gen แต่ไม่ต่างใจ”

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เวทีไทยรัฐ ฟอรัม 2024 “ถึงเราจะต่าง Gen แต่ไม่ต่างใจ”

Date Time: 17 มิ.ย. 2567 06:30 น.

Summary

  • ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ สร้างความแตกแยกรุนแรงยิ่งขึ้น ในยุคโซเชียลมีเดียครองเมือง การแสดงความเห็นทำได้โดยอิสระ ไร้ขอบเขต ความรับผิดชอบ และบางครั้งไร้การแสดงตัวตน

Latest

สรุปมุมมอง Bernard Arnault จากเวที Forbes Global CEO จุดยืน LVMH เครือแบรนด์หรูระดับโลก

หลายครั้งที่ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap ก่อให้เกิดปัญหา จากความไม่เข้าใจ ขาดการสื่อสารและการมองอย่างเมตตาในลักษณะเอาใจเขา มาใส่ใจเรา

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ สร้างความแตกแยกรุนแรงยิ่งขึ้น ในยุคโซเชียลมีเดียครองเมือง การแสดงความเห็นทำได้โดยอิสระ ไร้ขอบเขต ความรับผิดชอบ และบางครั้งไร้การแสดงตัวตน

จะทำอย่างไรให้ปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องใหม่นี้ จางหายหรือเบาบางลง เพราะความคิดต่างจากบุคคลที่อ่อนวัย ไม่ประสีประสา ไม่ควรถูกตีตราว่าผิด จะทำอย่างไรให้ความไม่เหมือนกันทางความคิด ถูกอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจ และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ไทยรัฐกรุ๊ป จึงดำริเปิดพื้นที่เสวนา “THAIRATH FORUM 2024” ในหัวข้อ “Talk of the GENs : เปิดเวทีความคิด หลากหลายมุมมองของคนหลายเจน” ชวนคนต่างวัย ต่างเจน ซึ่ง Pew Research Center จำแนกไว้ตั้งแต่เจน Baby Boomer เกิดระหว่างปี 2489-2507, เจน X เกิดระหว่างปี 2508-2522, เจน Y เกิดระหว่างปี 2523-2540 และเจน Z เกิดระหว่างปี 2541-2565 มานั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิด เพราะเชื่อมั่นว่า “ถึงเราจะต่าง Gen แต่ไม่ต่างใจ”

สรกล อดุลยานนท์
คอลัมนิสต์ ตัวแทน Baby Boomer

รุ่นผมเป็นรุ่นที่เห็นความงดงามของความช้า ทุกอย่างช้าและรอคอย ผมรู้สึกว่าตรงนี้มันมีเสน่ห์ของมัน สิ่งที่อยากส่งต่อไปยังคนเจนอื่น คงเป็นเรื่องนี้ ส่วนที่ไม่อยากส่งต่อคือความเกลียดชังในสังคมไทย ซึ่งคนรุ่นผมมีส่วนสร้างมันเยอะมาก

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากจริงๆคือ เวลาพูดถึงช่องว่างระหว่างวัย ผมไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นช่องว่าง อยากให้คิดว่าเป็นที่ว่าง ช่องว่างมันเป็นหลุมลึกที่ไม่สามารถก้าวข้ามได้ แต่ที่ว่างคือความงาม เป็นสิ่งสำคัญ มีนัยที่เหมาะสมตามวิชาสถาปัตยกรรม หากคนรุ่นใหม่และคนรุ่นผมมีมุมมองที่แตกต่าง ก็ควรเว้นที่ว่างให้กันและกัน มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา”

หากย้อนเวลาการเมืองกลับไป 20 กว่าปีที่แล้ว การเมืองยังไม่ขัดแย้งแรงขนาดนี้ การคุยการเมืองเหมือนคุยเรื่องฟุตบอล เป็นการบลัฟกันระหว่างแมนยูกับลิเวอร์พูล บลัฟเสร็จก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ แต่การมาของโซเชียลมีเดียก็นับเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เกิดความเป็นพรรคพวกมากขึ้น

“เราต้องยอมรับว่าวิธีคิดของคนแตกต่างกัน ถ้าเคารพเสียงส่วนใหญ่ แม้ไม่ตรงกับใจเรา ดีไม่ดี ก็แค่รอไปอีก 4 ปีค่อยได้รู้กัน นี่คือกลไกประชาธิปไตยที่ควรเกิดขึ้น แต่การเมืองไทยที่ผ่านมา มีกลไกที่นอกเหนือจากนั้น แต่เชื่อว่าวันหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดย Gen Z จะเป็นช่วงวัยที่สามารถผลักดันให้เกิดรัฐบาลในฝันได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกเจน ทุกคน สามารถร่วมผลักดันความฝันนี้ได้ร่วมกัน”

ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ทำให้เกิดการตั้งคำถามที่ไม่เหมือนเดิมเยอะขึ้น สิ่งที่เคยทำไม่สำเร็จในยุคผม อาจสำเร็จในยุคนี้ อาจไม่ใช่แค่ประสบการณ์เท่านั้นที่จะบริหารประเทศไทย คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ก็อาจบริหารประเทศได้ เพราะเขามีวิธีคิดใหม่ วิธีการทำงานใหม่ ซึ่งคนรุ่นผมไม่รู้จัก ไม่คุ้นชิน โลกมันต้องหมุนเปลี่ยนผ่าน คนรุ่นผมคือคนรุ่นอดีตยาว อนาคตสั้น แต่สำหรับคนรุ่นหลังคืออดีตสั้น อนาคตยาว โลกเป็นของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าต้องปล่อยวาง ยอมรับความจริง ควรให้โอกาสและยอมรับความต่าง

วุฒิธร มิลินทจินดา
ครีเอเตอร์ ตัวแทน Gen X

เชื่อว่าความแตกต่างของอายุไม่ใช่อุปสรรค สิ่งสำคัญคือเรื่องของความเคารพ และข้อตกลงที่ทุกคนควรจะต้องมีในบทบาทของตน แน่นอนผมต้องปรับจูนเยอะมาก ต้องพยายามเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ คุยกันให้เคลียร์ เตือนตัวเองตลอดว่าจะไม่นำสไตล์การทำงานของเราไปใส่ให้ใคร ต้องปรับตัว เกรงใจกัน กำหนดเงื่อนไขร่วมกัน ต่างอย่างไรก็ไม่มีปัญหา ถ้าเคลียร์กันได้

ส่วนคำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ผมคิดว่าใช้ไม่ได้แล้ว คนแต่ละคนมีมุมมองที่ซับซ้อน และในความซับซ้อนมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อาบน้ำร้อนมาก่อนก็ไม่มีผล

“วิวัฒนาการทำงานของคน GEN X มาจากกลุ่ม Baby Boomer มีทัศนคติในการทำงานว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” หรือ “ทำงานหามรุ่งหามค่ำ” แบบงานต้องมาก่อน คน GEN X จะวิ่งไล่จับความสำเร็จ นำไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวช เพราะต้องเป๊ะ ต้องดีที่สุด ทำให้วันนี้ในการพูดถึง Work Life Balance ผมจึงไม่มีคำตอบ”

สำหรับผม ผมอยากพูดถึงการเมือง อยากแสดงความคิดเห็น วันหนึ่งเคยสัมภาษณ์นักการเมืองท่านหนึ่ง แต่กลับโดนก่นด่าว่าสนับสนุนเลือกข้าง ทั้งที่เราคุยในฐานะสื่อที่เป็นกลาง แต่มีคนบอกกับผมว่าประเทศไทยไม่มีคำว่ากลาง ซึ่งแปลกมาก เราน่าจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ นี่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมถอยออกจากคำว่าการเมือง ปัจจุบันก็เลยคุยกับแฟนเสียส่วนใหญ่ เพราะถกเถียงกันได้ แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลของคนในเจนต่อไป จะอยู่กับสิ่งที่มีเสถียรภาพและมั่นคงกว่านี้

พชร อารยะการกุล
ซีอีโอ บริษัท บลูบิค จำกัด (มหาชน) ตัวแทน Gen Y

แน่นอนคนในแต่ละช่วงวัย แต่ละเจเนอเรชันมีความแตกต่างอยู่แล้ว มีจุดแข็งและจุดอ่อนไม่เหมือนกัน โดย Gen Y เป็นเสมือน “ลูกผสม” เนื่องจากอยู่ระหว่างยุคสมัยท่ามกลาง Gen X และ Gen Z ที่ขนาบข้าง “การที่เราอยู่ในเจนตรงกลาง ได้เห็นข้อดีของคนเจนก่อนหน้า เห็นคนเจนใหม่ที่กล้าแสดงออก หากมองในจุดดีๆ จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น”

ในมุมของการทำงาน Gen Y ส่วนใหญ่จะย้ายงานบ่อย โดยมีการตั้งธงไว้ประมาณ 2-3 ปี เพราะอยากหาความก้าวหน้า เปลี่ยนรูปแบบงาน หรือทดลองอะไรใหม่ๆ บางคนอยากทำธุรกิจของตัวเอง เก็บเงินไว้ลงทุนต่อยอด สร้างความมั่งคั่ง ส่วนเรื่องการเมือง ในยุคของ Gen Y เหมือนจะพยายามคิดไปในทางเดียวกัน เพราะหากคิดต่างจะแปลก ขณะที่ปัจจุบัน “ความต่าง” เป็นเรื่องปกติ และแม้ทุกคนจะมีแกนของความคิด แต่ถ้าใครคิดไม่เหมือน จะเงียบไว้ก่อน โดยเสียงที่ดังมักจะเป็นเสียงเดียวกัน

คนรุ่นผมเป็นช่วงรอยต่อแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทำให้เกิดการผสมกันระหว่าง Work Hard Play Hard และ Work Life Balance อาจจะไม่ได้ย้ายงานบ่อย แต่จะมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าจะอยู่ที่ไหนกี่ปี ส่วนแนวคิดออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ เปลี่ยนเป็นออมเงินเพื่อต่อยอดสู่การลงทุน

แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส
มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 ตัวแทน Gen Z

Gen Z มีการเสพข้อมูลจำนวนมาก เราจะชัดเจนกับสิ่งที่ชอบและไม่ชอบมากขึ้น เรื่องนี้เชื่อมเข้าไปใน Work life balance เพราะ Gen Z เห็นคุณค่าในเรื่องคุณภาพชีวิต (Quality of life) มากขึ้น การได้ใช้ชีวิตที่สร้างความทรงจำดีๆกับเพื่อนกับครอบครัว มีค่ามากกว่าเจนอื่นๆที่เกิดก่อน

การที่ Gen Z อยู่กับข้อมูลอินเตอร์เน็ตมากมาย ทำให้สามารถจัดเรียงความสำคัญของข้อมูลได้ แต่ก็ทำให้เราเข้ากับคนไม่เป็น เราไม่รู้ว่าควรจะสื่อสารกับผู้คนอย่างไร อะไรควรถาม ไม่ควรถาม

“มันเป็นดาบสองคม เรารู้มากขึ้นเพราะเราเข้าหาข้อมูลได้ตลอดเวลา แต่การที่เราจะสื่อสารข้อมูลต่อในที่ทำงาน โดยเฉพาะการต้องคุยกับคน คิดว่าเป็นปัญหาที่ Gen Z เจอมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงโควิดที่คน Gen Z กำลังเรียนมหาวิทยาลัย การต้องกักตัว เรียนออนไลน์ในห้อง ทำให้ไม่ได้ใช้ชีวิตกับคนอื่น หรือแชร์ข้อมูลกับเพื่อนในมหาวิทยาลัย พอออกมาทำงานจริง ทำให้ช็อกพอสมควร”

Gen Z ยังเป็นคนวัยที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมือง รู้สึกว่ามีสิทธิที่จะพูดได้ แต่ส่วนตัวไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ แต่เลือกคุยกับคนที่ใกล้ชิด ถกเถียง วิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ Gen Z ชอบคุยกันเรื่องนี้ มีความเข้าใจทัศนคติและมุมมองของคนต่างเจน อาจเป็นเพราะ Gen Z เคารพความรู้สึกตัวเอง และเคารพความแตกต่าง

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ Gen Z ติดมือถือกันมาก ทำให้ลืมการใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้าง อยากให้ใช้ชีวิตให้ช้าลง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเพราะน่าภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเจนนี้คือความกล้าที่จะพูด กล้าที่จะถามคำถามนอกกรอบ

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท บิทคับ จำกัด (มหาชน)

นอกจากเรื่องของการใช้ชีวิต การทำงาน และความคิดที่แตกต่างของคนในแต่ละเจเนอเรชันแล้ว คนแต่ละเจนยังสนใจเรื่องเงินและการลงทุนไม่เหมือนกันด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกกำลังอยู่ในช่วงของการก้าวไปเป็น Network State ที่ทุกคนสามารถดำเนินชีวิต หรือทำงานด้วยกันจากที่ไหนก็ได้ ในฐานะพลเมืองโลก (Global Citizenship)

นอกจากนั้น เรายังกำลังอยู่ในช่วงของทางเชื่อม ที่จะดึงให้ทุกรุ่นทุกวัยหันมาสนใจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมหันมาทุ่มเม็ดเงินลงทุนในตลาดนี้กันมากขึ้น มีคนเข้ามาในตลาดนี้แล้ว 200-300 ล้านคน ขณะที่ประเทศต่างๆมีแผนออกกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

“นักลงทุนจะมีอยู่ 2 ประเภท 1.กลุ่มนักลงทุนที่เปิดใจ ไม่ยึดติดกับการลงทุนแบบเดิมๆ เปิดใจศึกษาการลงทุนรูปแบบใหม่ และพร้อมจะเชื่อว่าการลงทุนนี้จะเป็นประโยชน์ในด้านการเงินต่อไปในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 2.กลุ่มที่ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีโดยไม่รู้ตัว ในอนาคตเราอาจจะสามารถจ่ายเงินกับร้านค้าด้วยบิทคอยน์ ซึ่งระบบก็จะมีการแปลงอัตโนมัติไปเป็นสกุลเงินบาท โดยที่ทางลูกค้าก็ไม่ต้องมารับความเสี่ยงเรื่องของราคา และแม่ค้าก็จะไม่รู้เลยว่าลูกค้าจ่ายด้วยเงินอะไร แต่ในท้ายที่สุดแม่ค้าจะได้รับเป็นเงินบาท

“คนที่ไม่ลงทุนเลยมีความเสี่ยงกว่าคนที่ลงทุน เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เราเห็นเทรนด์ชัดเจนว่าคนไม่ลงทุนจะเสียเปรียบด้านกำลังซื้อ (Purchasing Power) แต่คนที่ลงทุนก็จะต้องเข้าใจเรื่องการจัดการและรู้จักที่จะกระจายความเสี่ยง และไม่ต้องมองตลาดไกลตัว เพราะอาเซียนกำลังจะเข้าสู่ยุคทองของการลงทุน ไม่มีข้อขัดแย้งทั้งทางการเมืองหรือสงคราม ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว

นอกจากนั้น ประเทศในอาเซียนยังแข่งขันกันดุเดือดเพื่อผลักตัวเองไปเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในด้านต่างๆ ทั้งด้านดิจิทัล ด้านความยั่งยืน และด้านนวัตกรรม นักลงทุนจึงไม่ต้องมองตลาดไกลตัว”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ