นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก e-Conomy SEA 2023 ฉบับล่าสุด รายงานว่า เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยมีมูลค่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 66 หรือประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการค้าออนไลน์ และคาดว่าปี 68 จะมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านเหรียญ หรือ 1.8 ล้านล้านบาท
ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจและติดตามภาวะการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสนอนโยบายสนับสนุนการค้าได้อย่างตรงจุด สนค.จึงได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคและการใช้แพลตฟอร์มของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ช่วงไตรมาส 4 ปี 66 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,699 คน ครอบคลุม 884 อำเภอทั่วประเทศ พบว่า พฤติกรรมการซื้อออนไลน์ทั้งความถี่และยอดมูลค่าซื้อมีความสัมพันธ์กับอายุ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์บ่อยครั้ง สวนทางกับยอดมูลค่าซื้อ เช่น ซื้อบ่อยแต่เน้นไม่แพงมาก โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือเจนซี มีสัดส่วนผู้ซื้อออนไลน์บ่อยขึ้นสูงถึง 32% แต่ส่วนใหญ่ซื้อเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาท
ขณะที่ผู้มีอายุสูง มีแนวโน้มซื้อด้วยความถี่ลดลง แต่มียอดใช้จ่ายสูงกว่า หรือซื้อไม่บ่อยแต่เน้นคุณภาพ เช่น กลุ่มอายุ 50-59 ปี หรือเจนเอกซ์ มีสัดส่วนซื้อลดลงถึง 40% แต่เป็นผู้ที่มียอดซื้อต่อเดือน 3,001-5,000 บาท สูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ สะท้อนศักยภาพในการซื้อสอดรับกับรายได้ที่สูง แต่มีความรอบคอบในการใช้เงิน ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือและการบริการ อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าออนไลน์อาจยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือเบบี้ บูมเมอร์ ที่มีแนวโน้มซื้อด้วยความถี่ลดลงและมียอดการซื้อเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาท
สำหรับแพลตฟอร์มยอดนิยมนั้น TikTok ก้าวขึ้นมาเป็นช่องทางนิยมอันดับ 2 เป็นรองเพียง Shopee สำหรับกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 20-29 ปี ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มวัยรุ่นนิยมซื้อผ่านโซเชียลมีเดียที่ให้ความสุขและความบันเทิง มีการไลฟ์สตรีมและวิดีโอสั้นเกี่ยวกับบอกเล่าประสบการณ์การใช้สินค้าจากผู้ใช้งานและอินฟลูเอนเซอร์ หรือที่เรียกว่า Shoppertainment
ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคช่วงวัยอื่น อี-คอมเมิร์ซดั้งเดิม ทั้ง Shopee, Lazada ยังคงได้รับความ นิยมมากกว่า TikTok เนื่องจากจุดแข็งในเรื่องระบบที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการร้านค้าและสินค้า ระบบการชำระเงิน รวมถึงกลไกการคืนสินค้า ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความไว้วางใจ ส่วนผู้บริโภคอายุ 50-59 ปี และกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป นอกจากซื้อผ่าน Shopee, Lazada ยังนิยมซื้อสินค้าผ่าน Facebook เป็นอันดับ 3 เนื่องจากมีความเคยชินในการใช้งาน ประกอบกับผู้ขายมักเสนอส่วนลดราคาที่น่าดึงดูด
“ผู้ประกอบการออนไลน์ควรพัฒนาการขายสินค้าของตนเองให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยนำเสนอสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพและแตกต่าง ให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม, ติดตามเทรนด์ธุรกิจและการทำตลาดใหม่ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า ดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่, ใช้ระบบจัดการหลังบ้าน เช่น ใช้ซอฟต์แวร์ที่ติดตามและรวบรวมข้อมูลลูกค้า, ใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยสร้างเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ วิดีโอ หรือการทำกลยุทธ์ธุรกิจ และติดตามกฎหมาย ระเบียบสำหรับทำการค้าออนไลน์ เช่น การจดทะเบียนร้านค้าและการ จ่ายภาษี เป็นต้น”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่