Pipatchara เปลี่ยนขยะไร้ที่ไปให้เป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลก สานต่อจุดยืน ‘แบรนด์แฟชั่นเพื่อส่วนรวม’

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Pipatchara เปลี่ยนขยะไร้ที่ไปให้เป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลก สานต่อจุดยืน ‘แบรนด์แฟชั่นเพื่อส่วนรวม’

Date Time: 23 ธ.ค. 2566 14:05 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • Thairath Money คอลัมน์ BrandStory พาไปรู้จักกับ ‘ภิพัชรา’ (Pipatchara) แบรนด์เครื่องหนังไทยที่กำลังเป็นกระแสอย่างมากในตอนนี้ กว่า 5 ปีในการถักทอธุรกิจจากแนวคิด ‘Fashion for community’ จุดยืนที่ทำให้เซเลบในประเทศต่างๆ ไปจนถึงวงการฮอลลีวูดชื่นชอบและเลือกใช้ Pipatchara อะไรทำให้แบรนด์ไทยเล็กๆ เติบโตสู่แบรนด์แฟชั่นระดับโลก เปลี่ยนขยะที่ไม่มีใครต้องการ สู่ กระเป๋าราคาหลักหมื่นที่หลายคนต้องการได้

Latest


อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นไทยที่กำลังเป็นไวรัลจากเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม หลังเปิดตัวคอลเลกชันใหม่อย่างเป็นทางการกับ ‘Infinitude’ โดยแบรนด์ ‘ภิพัชรา’ (Pipatchara) ที่นำขยะพลาสติกจากแหล่งต่างๆ มาอัปไซเคิลใหม่จนได้ เป็น กระเป๋า เครื่องประดับ และเสื้อผ้าคอลใหม่ที่หรูหราประณีต จนเรียกได้ว่า ก้าวใหม่ในครั้งนี้ ทำให้ Pipatchara ขึ้นแท่นแบรนด์เครื่องหนังไทยโดยคนไทยที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง 

ถักทอธุรกิจกระเป๋าให้ประณีตเสมือนเป็นงานศิลปะ ถือกระเป๋าเหมือนถืองาน Art Piece 

‘Pipatchara’ ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดย เพชร ภิพัชรา แก้วจินดา ดีไซเนอร์หญิงไทยที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานหลายปีในปารีสร่วมกับเฮาส์แฟชั่นระดับโลก ด้วยแพชชันในเครื่องหนัง เธอจับมือพี่สาว ทับทิม จิตริณี แก้วจินดา ที่ทำงานด้าน Sustainable สร้างแบรนด์แฟชั่นเครื่องหนังที่มากกว่าความสวยงามแต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และความเก่งกาจทางธุรกิจ 

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Pipatchara มาจากความชื่นชอบในงานศิลปะของสองพี่น้องที่อยากทำศิลปะที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การสร้างสรรค์งานแบบอาร์ตแอนด์คราฟต์ ถูกผสานเข้ามาในธุรกิจ บวกกับ ‘แพชชันที่มีต่อเครื่องหนัง’  อย่างไรก็ตาม ภิพัชราคิดว่าหากแบรนด์ทำเสื้อผ้าที่เป็นชุดหนังอาจไม่เหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทย จึงเลือกทำสิ่งที่จะใช้ได้ใทุกวัน นั่นก็คือ ‘กระเป๋า’ นั่นเอง 

เมื่อการแนวทางการปั้นธุรกิจกระเป๋าเสมือนเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะ ‘กระเป๋า Pipatchara’ ที่เราเห็นกันตั้งแต่คอลเลกชันแรกที่เปิดตัวจนถึงปัจจุบันนั้นล้วน มีจุดแข็งของเอกลักษณ์งานดีไซน์ มู้ดแอนด์โทนที่สะท้อนถึงสีสันของธรรมชาติ จุดเด่นที่กลายเป็น ภาพจำของแบรนด์

นั่นก็คือ ลวดลายของสายกระเป๋า ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานหัตถกรรม “แมคคราเม่” (Macramé) ศิลปะการถักเชือกลวดลายต่างๆ ที่มีต้นกำเนิดจากดินแดนอาหรับ ซึ่งมักจะถูกนำไปเครื่องประดับตกแต่งผนังหรือเป็นเครื่องสวมใส่ ถูกนำมาออกแบบลายถักใหม่ตามสไตล์ของ Pipatchara โดยนำหนังแท้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาตัดเป็นเส้นและนำมาถักเป็นส่วนประกอบต่างๆ ในทุกการดีไซน์แตกต่างกันไปในแต่ละคอลเลกชันอย่างสวยงาม  

ขายเพื่อชุมชนและสังคม ‘Fashion for community’

โดยการถักสายกระเป๋าหนึ่งเส้นที่สวยงามและไม่เหมือนใครนี้เองยังถูกผสานอีกหนึ่งอุดมการณ์ของแบรนด์ที่ต้องการให้ Pipatchara มีแนวทาง Sustainable Brand นั่นก็คือการเลือกวัสดุทดแทนมาใช้ รวมถึงจุดยืนที่ต้องการเป็นมากกว่าแฟชั่นแต่ต้องเป็นธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับคอมมูนิตี้ สร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย 

ทำให้ ภิพัชรา เดินทางไปยังชุมชนแม่ฮ่องสอนและเชียงรายที่มีคอมมูนิตี้คนจากอาชีพต่างๆ รวมตัวสร้างสรรค์งานหัตถกรรมอยู่แล้ว เพื่อหาชุมชนที่จะร่วมงานด้วย โดย ภิพัชรา เข้าไปศึกษาสิ่งที่ชุมชนต้องการ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน สอนชุมชนให้รู้จักกับศิลปะถักเชือก แมคคราเม่ จากนั้นก็ได้ชวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน Pipatchara  

พร้อมกำหนดอีกหนึ่งเป้าหมายของธุรกิจในการสร้างอาชีพให้กับคอมมูนิตี้งานศิลปะหัตถกรรม ด้วยการให้สองชุมชนเป็นกำลังผลิตกระเป๋าหลักสำคัญของแบรนด์ 

นอกจากนี้สำหรับใครที่ยังไม่รู้ Pipatchara ยังใช้เวลากว่าสองปีในการซุ่มพัฒนาไลน์โปรดักต์ใหมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในคอลเลกชัน “Infinitude” ที่แบรนด์นั้นได้นำขยะพลาสติกที่ใช้แล้วงานอย่างฝาขวดน้ำ กล่องอาหาร ช้อนส้อมพลาสติกมาหมุนเวียนใหม่ด้วยกรรมวิธีเฉพาะของแบรนด์ Pipatchara แปรสภาพออกมาเป็น แผ่นรูปทรง Infinitude โทนคล้ายหินอ่อน ที่สื่อถึงความยั่งยืนไม่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด การหมุนเวียนใหม่ไม่รู้จบ คล้องกับห่วงร้อยเชื่อมต่อกันเป็นกระเป๋า แผ่นพลาสติกมีสีสันต่างๆ จากชิ้นขยะที่นำมาใช้จริง อาทิ ฝาขวดน้ำสิงห์ ฝาชาลิปตัน ขวดยาคูลท์ กล่องอาหารสีดำ

โดยขยะพลาสติกเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า ‘พลาสติกกำพร้า’ หรือขยะพลาสติกที่ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการ จะขายต่อก็มีมูลค่าต่ำและมักจะถูกกำจัดโดยการฝังหรือเผา ซึ่งขยะพลาสติกประเภทนี้ยังเหลือทิ้งจำนวนมากในบ้านเราอีกด้วย 

ขยะที่ไม่มีใครต้องการ สู่ กระเป๋าราคาหลักหมื่นที่หลายคนต้องการ 

จากจุดเริ่มต้นนี้เอง การออกแบบธุรกิจที่มีจุดยืน งานดีไซน์และการผลิตด้วยฝีมือคนไทยทุกขั้นตอน ทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของ Pipatchara ประทับใจและเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ไม่ใช่เพียงได้กระเป๋าที่สวยงามไปใช้ แต่ยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับค่านิยมหรืออุดมการณ์ที่แบรนด์ยึดถือ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะหยิบใช้ของอะไรก็สามารถสะท้อนได้ว่าคุณเป็นคนมีไลฟ์สไตล์แบบไหน มีแนวคิดอย่างไร และด้วยประสบความการณ์ในเฮาส์ระดับโลกทำให้มั่นใจได้ว่า Pipatchara มีคุณภาพและมาตรฐาน และคงความคลาสสิกของตัวเอง ไม่ตามกระแสในตลาด

จุดนี้เองยังถูกขับเคลื่อนจากเจ้าของแบรนด์ที่สื่อสารเพื่อนำเสนอแบรนด์อย่างจริงใจและสม่ำเสมอ ทำให้คนที่มองเข้ามายังแบรนด์เห็นคุณค่าของกระเป๋าแต่ละใบ และแน่นอนว่า ทำให้กระเป๋าแบรนด์ Pipatchara ในราคาหลักหมื่น ขายหมดสต๊อกและยังขายดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยไปจนถึงต่างประเทศ 

อย่างก้าวสำคัญที่นักแสดงระดับโลกอย่าง Anne Hathaway ที่มีจุดยืนสนับสนุนแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เลือกถือกระเป๋า “Amu Bag” ออกงานเดินพรมแดง พากระเป๋า Pipatchara สู่สายตาทั่วโลก 

ปัจจุบันมีหน้าร้านในญี่ปุ่น ดูไบ ฝรั่งเศส และประเทศไทย โดย Pipatchara มีกลยุทธ์เน้นตีตลาดต่างประเทศมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงการอินฟลูเอนเซอร์ต่างประเทศ เป็นแรงผลักดันให้แบรนด์มีพื้นที่ในการต่างประเทศเป็นอย่างดี โดยล่าสุดแบรนด์ได้เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ที่งาน Dubai Fashion Week 2023 โชว์คอลเลกชัน “The Eternal Symphony” ที่ต่อยอดจาก Infinitude สู่ชุดราตรีสุดตระการตาให้ทุกคนได้ยลโฉม ‘ขยะพลาสติกไร้ที่ไป’ นี้ที่ได้กลายเป็นความสวยงามในระดับโลก 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ