‘มี่เสวี่ย’ Mixue แบรนด์ไอศกรีมและชานมชื่อดังจากจีนที่ตอนนี้กำลังไวรัลอย่างมากในประเทศไทย นอกเหนือจากรสชาติที่ถูกปากเราแล้ว ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์การขยับขยายสาขาในประเทศไทยยังน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะอันที่จริงแล้วนั้น มี่เสวี่ย คือ ‘แฟรนไชส์จีน’ ที่มีสาขามากที่สุดอันดับห้าของโลกถัดจากแบรนด์ F&B อเมริกันอย่าง McDonald's, Subway, Starbucks และ KFC นั่นเอง จุดเริ่มของเฟรนไชส์ม้ามืดเจ้านี้มีที่มาที่ไปอย่างไป ไปดูกัน
มี่เสวี่ย Mìxuě 蜜雪 มาจากคำภาษาจีนกลาง Mì แปลว่า “น้ำผึ้ง” หรือจะใช้ในบริบทที่แปลว่า “หวาน” ก็ได้ ส่วน Xuě แปลว่า “หิมะ” เมื่อรวมกันแล้ว Mixue จึงมีหมายว่า “หิมะที่หวานเหมือนน้ำผึ้ง” สอดคล้องกับไอเดียของ จาง หงจ่าว (Zhang Hongchao) ชายผู้ก่อตั้งแบรนด์ Mixue ที่ตั้งใจมอบรสชาติหวานและเย็นสดชื่นเพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้คน
หงจ่าวได้ไอเดียและเริ่มเห็นโอกาสการเติบโตของเมนูขนมและเครื่องดื่มเย็นชื่นใจจากการทำพาร์ทไทม์ที่ตู้คีออสก์ขายเครื่องดื่ม โดย หงจ่าว ที่อยากสร้างธุรกิจของตนเอง เริ่มต้นเปิดหน้าร้านแรกในปี 1997 ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอนาน ตั้งแผงขายน้ำแข็งไส ไอศกรีม สมูทตี้ และชานมไข่มุก แต่ก็ต้องปิดตัวไปเพราะอุปสรรคจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในปี 1999 หงจ่าว เปิดร้านแห่งที่สองขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ปรับโฟกัสใหม่ไปที่เมนูไอศกรีม เพราะเห็นเทรนด์ ‘ซอฟต์เสิร์ฟ’ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเจิ้งโจวขณะนั้น
จุดพลิกผันของ มี่เสวี่ย เกิดขึ้นเมื่อตลาดไอศครีมในจีนเริ่มมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เพื่อทำให้ราคาของไอศครีมของ มี่เสวี่ย ไม่พุ่งตาม หงจ่าว ใช้วิธีสร้างห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ปรับสูตรใหม่เพื่อกดต้นทุน วางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบหลักและการผลิต ก่อตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนา ครัวกลาง คลังสินค้า และศูนย์โลจิสติกส์กระจายทั่วประเทศ ทำการควบคุมต้นทุนการผลิตต่อเนื่องยังการขนส่งให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างห่วงโซ่ผลิตที่สมบูรณ์ เพื่อนำเสนอเมนูไอศกรีมและชานมที่มีราคาถูกกว่าเจ้าอื่นๆ ประมาณ 20% มุ่งเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม
ขณะนั้นเจ้าอื่นๆ ตั้งราคาโคนละ 10 หยวน แต่หงจ่าวขาย 2 หยวน โดยที่คุณภาพไอศกรีมไม่ตกหล่น รักษาความอร่อยไว้ได้ และยังให้ในปริมาณที่เยอะอีกด้วย การคำนวณต้นทุนอย่างพิถีพิถันและเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นเล็กน้อย ทำให้สามารถทำกำไรได้ แม้จะมีราคาต่ำก็ตาม เรียกได้ว่า ไอศครีมและชานม มี่เสวี่ย กลายเป็นสินค้ายอดนิยมอย่างรวดเร็ว ดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก โดยขายได้มากถึง 5,000 ยูนิตต่อวัน
แน่นอนว่า การตัดราคาของ มี่เสวี่ย กระตุ้นยอดขายและทำให้ หงจ่าว สานต่อธุรกิจได้อย่างสำเร็จภายใน 2 ปี กระทั่งตัดสินใจพาธุรกิจไปต่อกับเส้นทางการขายธุรกิจผ่านแฟรนไชส์ ‘Mixue Ice Cream & Tea’ ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
หลังจากนั้น เฟรนไชส์ไอศครีมราคาเข้าถึงได้ก็กระจายตัวไปยังมณฑลอื่นๆ ทั่วประเทศจีน ภายใน 2 ปี มี่เสวี่ย เติบโตอย่างรวดเร็ว ขยายสาขาออกไปหลายหมื่นแห่งทั่วโลก
โดย Mixue Bingcheng Co., Ltd. ได้รับการจัดหาเงินทุนรอบแรกและรอบเดียวในปี 2021 นำโดย DragonBall Capital และ Hillhouse Capital ของ Meituan ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้มากกว่า 2 พันล้านหยวน หรือประมาณ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านหยวน แถมยังวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นและตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงอีกด้วย
หากติดตามอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่า มี่เสวี่ย ให้ความสำคัญกับความครีเอทีฟในด้านมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างภาพจำอันเป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเปิดตัว “Snow King” มาสคอตของแบรนด์ที่มีคาแรกเตอร์สดใสร่าเริง ชอบร้องชอบเต้น ซึ่งเปิดตัวมาพร้อมกับมิวสิกวิดีโอทำนองและเนื้อร้องติดหู 'I love you, you love me, Mixue Ice cream and tea…' ที่ได้กลายมาเป็นของที่ระลึกขายในทุกร้านค้า แถมยังชอบทำแคมปเปญเดินไปตามถนนในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของสาธารณชน สร้างความเชื่อมโยงและใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น
มี่เสวี่ย จริงจังกับการปรับเข้าหน้าร้าน การตลาด หรือรายละเอียดเล็กน้อยให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นในต่างประเทศ แทบทุกครั้งที่ขยายสาขาไปยังภูมิภาคใหม่ๆ ก็จะปล่อยเพลงประกอบเวอร์ชั่นภาษาท้องถิ่นให้เข้ากับบรรยากาศท้องถิ่นมากขึ้น มากไปกว่านั้นยังปรับความหวานของผลิตภัณฑ์ตามความชอบของคนแต่ละประเทศอีกด้วย
มี่เสวี่ย กลายเป็นโมเดลขนมหวานที่มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมและเครื่อมดื่มหลากหลายประเภทในราคาที่เข้าถึงได้สำหรับลูกค้า ขึ้นแท่นร้านไอศกรีมและชานมอันดับหนึ่งในจีนโดยเริ่มขยายสาขาไปต่างประเทศตั้งแต่ปี 2018
ซึ่งหากนับตามจำนวนสาขา ล่าสุดมีสาขามากกว่า 21,582 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2022) ขยายจากปีก่อนที่มีอยู่เพียง 7,643 แห่ง แซงหน้าแบรนด์ดังอย่าง Burger King และ Domino's Pizza รั้งอันดับ 5 ของร้านอาหารเครื่องดื่มที่มีสาขามากที่สุดในโลก
ในปี 2022 มีการรายงานว่า Mixue Ice Cream & Tea ซื้อชามากกว่า 9,000 ตัน ซึ่งกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกชามากกว่า 50,000 รายมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการขายแฟรนไชส์มากกว่า 11,000 รายยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง และสร้างงานมากกว่า 500,000 ตำแหน่งทั่วโลก
ด้วยการวางตำแหน่งของเมนูที่มีราคาต่ำมาก มี่เสวี่ย จึงโดดเด่นจากแบรนด์ชานมอื่นๆ โดยยังคงรักษาการเติบโตของยอดขายและระดับผลกำไรก็ค่อนข้างน่าประทับใจในช่วงที่เกิดโรคระบาด แน่นอนว่า เครือข่ายซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งและแบรนด์ดิ้งแบรนด์ที่เป็นที่รักของลูกค้า ทำให้เฟรนไชรส์ของ มี่เสวี่ย น่าดึงดูดต่อการลงทุน
ทำให้รายได้หลักของ มี่เสวี่ย จึงมาจากการขายเฟรนไชรส์ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้จากขายวัตถุดิบป้อนให้สาขา 70% การขายแพ็กเกจจิงต่างๆ อีก 30%
ปัจจุบันเรียกได้ว่าเราเห็น มี่เสวี่ย ยังคงสร้างสรรค์เมนูใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทำตลาดต่างประเทศอย่างหนักหน่วง เดินหน้าเปิดสาขาหลายร้อยแห่งในเอเชีย เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ กัมพูชา ลาว เมียนมา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไทย ที่กำลังโด่งดังเป็นอย่างมาก โดยมี บริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดูแลกิจการเฟรนไชส์ในไทยทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยไอศครีมซอฟต์เสิร์ฟแท่งใหญ่ที่เราเห็นกันทั่วไปราคาเริ่มต้นที่ 50-60 บาทเป็นต้นไป แต่ มี่เสวี่ย ขายโคนละ 15 บาท ชานมไข่มุกทั่วไปราคาเริ่มต้นที่ 50-60 บาท มี่เสวี่ยเริ่มต้นที่ 30 บาท เมนูน้ำเลมอนแก้วยักษ์สุดฮิตเริ่มต้นแก้วละ 20 บาท จึงไม่แปลกที่จะดึงดูดให้ใครหลายคนต่อคิวซื้อ
อ้างอิง Mixue , KRAsia , BrandCatalyser , IVY