“Once a tiger, always a tiger” เพจปั๊มเอสโซ่ประเทศไทยโพสต์ขอบคุณและอำลาคนไทย ปิดตำนาน 129 ปี ใครที่เป็นแฟนเอสโซ่ซูพรีมพลัส ดีเซล หรือแก๊สโซฮอล์ 95 จะต้องมีหวั่นใจกันบ้าง เพราะ น้ำมันเกรดพรีเมียมมาตรฐานระดับโลกโบกมือลาไปอีกหนึ่งราย
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ใครหลายคนอาจจะได้เลี้ยวเข้าปั๊มเอสโซ่เพื่อเติมน้ำมันส่งท้าย ชาวเน็ตหลายคนถือกล้องและออกไปถ่ายรูปกับปั๊มเอสโซ่ใกล้บ้านตนเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก โพสต์รูปบ๊ายบายพี่เสือเต็มโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นวันสุดท้ายที่สถานีบริการน้ำมันในนาม ‘เอสโซ่ ประเทศไทย’ กว่า 800 แห่ง จะเปิดให้บริการก่อนที่จะทยอยปลดป้ายเป็น ‘สถานีบริการน้ำมันบางจาก’
ปี 2437 เอสโซ่ เริ่มต้นธุรกิจครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่อ บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก จัดจำหน่าย ‘น้ำมันก๊าดตราไก่และตรานกอินทรี’ โดยมีสาขาแรกอยู่ที่ตรอกกัปตันบุช และได้ร่วมกับ บริษัท แว๊คคั่มออยล์ จัดตั้งชื่อ บริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น เพื่อจำหน่าย ‘น้ำมันหล่อลื่นตราการ์กอยส์’ ก่อนที่จะควบรวมกับ บริษัทแสตนดาร์ดออยส์ (นิวเจอร์ซี) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท แสตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด โดยใช้เครื่องหมายการค้า 'ม้าบิน' ต่อมาในปี 2490 รับซื้อกิจการ ‘คลังน้ำมันช่องนนทรี’ จากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการ และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2505 และเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าจาก ‘ตราม้าบิน’ มาเป็น ‘ตราเอสโซ่’ ในวงรีรูปไข่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งสู่ บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด
หลังจากนั้น เอสโซ่ จัดตั้ง โรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา เป็นครั้งแรกในปี 2514 เพิ่มกำลังผลิตเป็น 35,000 บาร์เรลต่อวัน และได้รับการอนุมัติขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเป็น 185,000 บาร์เรลต่อวัน ได้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช ก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง ขอนแก่น จัดตั้ง บริษัทท่อส่งปิโตรเลียม ไทย วางท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นศรีราชาไปยังลำลูกกา ดอนเมือง สระบุรี ค่อยๆ ขยายอาณาจักรในเมืองไทย ร่วมมือกับบริษัทน้ำมันชั้นน้ำต่างๆ เรียกได้ว่ากิจการรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
ในปี 2539 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และได้มาซึ่งกิจการของ โมบิลออยล์ไทยแลนด์ จัดตั้ง บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ต่อเนื่องในปี 2546 เพื่อให้บริการแก่ธุรกิจในเครือเอ็กซอนโมบิลทั้งในไทยและต่างประเทศ สร้าง ศูนย์ธุรกิจระดับโลกกรุงเทพ (Bangkok Global Business Center หรือ Bangkok GBC) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายศูนย์ธุรกิจระดับโลกของเอ็กซอนโมบิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากนั้นก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2551 ในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบครบวงจร ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และเคมีภัณฑ์อื่นๆ
กระทั่งจุดเปลี่ยนครั้งสุดท้ายในปี 2566 ที่ทำให้พี่เสือในถังพลังสูงเหลือแต่ความทรงจำ 12 มกราคม 2566 เอสโซ่ ประเทศไทย และ บางจาก คอร์ปอเรชัน ทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,283,750,000 หุ้น หรือคิดเป็น 65.99% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของเอสโซ่ จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (ExxonMobil) ตามมูลค่ากิจการที่ 55,000 ล้านบาท
เป็นที่รู้ดีกันว่ามาตรฐานกระบวนการผลิต เครือข่ายโรงกลั่น คลังน้ำมันและสถานีบริการ ทำให้ เอสโซ่ กลายเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์น้ำมันชั้นนำที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะ 'Esso Tiger' หรือ 'Exxon Tiger' มาสคอตเสือโคร่ง ที่ได้กลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ ที่ปรากฏบนป้ายชื่อปั๊มและป้ายโฆษณาทั่วโลก พร้อมด้วยภาพจำน้ำมันพลังเสือ แม้ภายหลังแบรนด์จะมีการปรับปรุงโลโก้ตัวอักษร Esso ใหม่อยู่ตามยุคสมัย
เสือเอสโซ่ ที่ดูแล้วหน้าตาคล้ายคลึงกับทิกเกอร์ในวินนี่ เดอะพูห์ ปรากฏครั้งแรกในฐานะมาสคอตของบริษัท Esso ประเทศนอร์เวย์ ถูกคิดค้นตั้งแต่ปี 1959 พร้อมกับสโลแกน “จับเสือใส่ไว้ในถังน้ำมันของคุณ” (Put a tiger in your tank) โดย เอมเมอรี สมิธ (Emery Smith) Copy Writer หนุ่มชาวชิคาโกที่ตั้งใจปั้นเสือโคร่งที่แสดงถึงพลังของผลิตภัณฑ์น้ำมัน แต่กลับมีหน้าตาที่เป็นมิตร เพราะเป็นตัวแทนของการมองโลกในแง่ดี หลังโลกต้องผ่านการทำสงครามและวิกฤติน้ำมันขาดแคลนอยู่หลายปีในขณะนั้น
สโลแกนดังกล่าวกลายเป็นวลีเปิดตัวโฆษณาทางทีวีพร้อมเพลงจิงเกิลติดหูและได้รับความนิยมอย่างมาก เสือเอสโซ่ปรากฏบนสินค้าจำนวนมาก คนแห่กันซื้อสติกเกอร์หางเสือแปะท้ายรถกันเต็มเมือง กลายเป็นแคมเปญโฆษณษาที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในด้านการสื่อสารแบรนด์ จนนิตยสารไทม์ขนานนามปี 1964 ว่า "ปีแห่งเสือริมถนนเมดิสัน" (The Year of the Tiger Along Madison Avenue)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิของมาสคอตเสือเอสโซ่ฝังลึกในใจของนักเดินทางทั่วโลก รวมถึงคนไทย จนเราเรียกติดปากกันว่า ปั๊มเสือๆ อย่างไรก็ตาม ปั๊มเสือ จะกลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 129 ปี และปิดตัวลง ฝากไว้เพียงเรื่องเล่าและบทเรียนทางธุรกิจตลอดไป
ทั้งนี้ สินทรัพย์ของเอสโซ่หลักๆ ที่บางจากจะได้ ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังผลิต 174,000 บาร์เรลต่อวัน ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศจำนวน 832 แห่ง เครือข่ายคลังน้ำมัน น้ำมันดิบในคลัง จำนวน 7.4 ล้านบาร์เรล ท่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กรรมสิทธิ์ที่ดิน (Freehold) จำนวน 800 ไร่ รวมถึงหุ้นจากบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด 21% และหุ้น BAFS หรือ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 7.06% จะกลายเป็นของบางจาก ทั้งนี้ยกเว้นแบรนด์และสูตรน้ำมัน
บางจาก จะมีศักยภาพในการกลั่นน้ำมันในประเทศสูงสุดเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน การจัดหาน้ำมันดิบ พร้อมด้วยปั๊มบางจากที่จะเพิ่มขึ้นถึง 2,200 แห่ง และเครือข่ายธุรกิจพลังงานที่จะขยายใหญ่ขึ้น มีอำนาจต่อรองในการดำเนินธุรกิจ และการขยายการลงทุนมากยิ่งขึ้นในธุรกิจอื่นๆ และที่สำคัญคือจำนวนสมาชิกกว่า 3.5 ล้านคน จะถูกผนึกเป็นสมาชิกภายใต้การดูแลของบางจาก
การเทคโอเวอร์ปั๊มเอสโซ่ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจพลังงานในไทย ทำให้บางจากอัปเลเวลไต่ขึ้นสู่ ‘อันดับสอง’ ในตลาดค้าปลีกน้ำมัน เพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาถึง 29% แซงหน้าเบอร์สองอย่าง PT Station ที่มีสัดส่วน 18% และเป็นรองอันดับหนึ่ง PTT Station ที่กินสัดส่วนอยู่ 39%
อ้างอิง : ExxonMobil, EssoCanada, GarageArt