สำนักข่าวรอยสเตอร์ รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุดของ VinFast ที่ได้ประกาศเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ผ่าน SPAC (Special Purpose Acquisition Company) ซึ่งเป็นอีกแนวทางการระดมทุนแบบใหม่ โดยการจัดตั้งบริษัท Shell Company ที่ไม่มีสินทรัพย์ และไม่จำเป็นต้องดำเนินธุรกิจทั่วไป แต่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนและนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือใช้เงินเพื่อไปควบรวมกิจการอื่นโดยเฉพาะ
ซึ่ง VinFast ได้ควบรวมกิจการกับบริษัทเช็คเปล่าที่ชื่อว่า Black Spade Acquisition Co (BSAQ.N) ของ Lawrence Ho โดยข้อตกลงนี้ให้มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมดำเนินการแผนขยายตลาด EV ในสหรัฐฯ ต่อไปได้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
ทั้งนี้ มีการจับตามองว่า VinFast ถูกประเมินมูลค่าบริษัทที่สูงเกินกว่าแบรนด์ EV อื่นๆ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรูปแบบเดียวกันอย่าง Rivian ที่มีมูลค่า 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ Nio 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือแบรนด์อื่นที่ยื่นจดทะเบียนด้วยข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันในสหรัฐฯ อย่าง Nikola 550 ล้านดอลลาร์ หรือ Lucid ที่มูลค่าปัจจุบัน 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น และยังมากกว่ากลุ่มยานยนต์ในยุโรปที่จัดตั้งขึ้นอย่าง Volvo Car AB และ Renault SA
อีกทั้งการตีมูลค่าในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า VinFast ที่เคยถูกเดิมพันไว้ว่าเป็นคู่แข่งกับ Tesla แบรนด์ที่ครองตลาดอันดับหนึ่งทั่วโลกและทั่วสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 5.34 แสนล้านดอลลาร์ หรือในแบรนด์เอเชียที่สูสีกันมาอย่าง BYD ที่มีมูลค่า 1.09 แสนล้านดอลลาร์ ถือว่าทิ้งระยะห่างกันอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่ชัดเจนในการเผยแพร่รายละเอียดในการประเมินมูลค่า อีกทั้งมูลค่าการซื้อขายของ SPAC เป็นเพียง Place Marker มากกว่ามูลค่าจริง และมีสัญญาณ บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ถึงว่าบริษัทอาจไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันในการทำธุรกรรม
ทั้งนี้ เอกสารการเสนอขายหุ้นระบุว่า Deutsche Bank AG เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมี Citigroup Inc., Morgan Stanley, Credit Suisse Group AG และ JPMorgan Chase & Co. เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย ซึ่งอาจสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมปี 2565 VinFast เคยประกาศเข้าจดทะเบียนใน Nasdaq เพื่อยื่นเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทครั้งแรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์สหรัฐฯ ภายใต้ชื่อย่อ “VFS” ซึ่งกำหนดการเสนอขายหุ้นเดิมที่ได้กำหนดในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาถูกเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด
เนื่องจากความไม่แน่นอนของตลาด อุปสรรคด้านความล่าช้า และการตกลงที่ไม่ลงตัวของคณะบริหาร ทำให้ต้องระดมทุนเพิ่มจากบริษัทแม่จนมีการรายงานถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการสูญเสียความมั่งคั่งของ ฝ่าม เญิ้ต เวือง (Pham Nhat Vuong) ผู้ก่อตั้ง VinGroup และ VinFast ที่อัดฉีดเงินรวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 10.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3 แสนล้านบาท อ่านเพิ่มเติม หวั่นตุ้บแรง เจ้าของ VinFast กุมขมับ หลังทุ่มเงินหลักแสนล้าน ส่งรถ EV เวียดนาม บุกตลาดสหรัฐฯ แต่กลับไม่ปังดังหวัง