อ.ธรณ์ เผย 3 ข้อควรระวัง สำหรับ "โครงการสะพานไปเกาะสมุย" ชี้ เป็นบริเวณที่มี "ปะการัง-หญ้าทะเล" หลายแห่ง ควรพัฒนาแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติจนเปลี่ยนแปลง
วันที่ 20 ก.ค. 2567 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า โครงการสะพานไปเกาะสมุย ระยะทางในทะเล 25 กม. ได้เส้นทางที่ชัดเจนแล้ว ต่อจากนี้คือเริ่มออกแบบ และทำ EIA ผมจึงอยากบอกไว้แต่เนิ่นๆ ว่าพื้นที่นั้นมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง เพื่อนธรณ์ดูตัวเลข 1-2-3 ในแผนที่ประกอบคำอธิบายนะครับ
- อ่าวตก เกาะแตน เป็นพื้นที่หญ้าทะเลดีสุดแห่งหนึ่งของบริเวณนี้ หญ้าทะเลเกลียดตะกอนมาก กระแสน้ำและคลื่นลมยังอาจพาตะกอนจากการก่อสร้างเข้าพื้นที่ได้ง่ายนอกจากหญ้าทะเล ตรงนั้นยังมีแนวปะการังและป่าชายเลนด้วยครับ
- แหลมสอ จุดสะพานเชื่อมต่อแผ่นดิน ตรงนั้นมีปะการัง สะพานยังไงก็ต้องข้ามแนวปะการังตรงนี้ จะออกแบบยังไงต้องระวังให้ดีด้วย (ปะการังเป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่ระวังก็โดนฟ้องฮะ) ชายหาดยังเคยมีรายงานวางไข่ของเต่าทะเลด้วยครับ
- แนวปะการังตรงนี้มีแหล่งหญ้าทะเลอีกเช่นกัน ตะกอนจากการก่อสร้างอาจไหลมาส่งผลกระทบทั้งปะการังทั้งหญ้าทะเล ต้องระวังให้มากครับ ตามข่าวบอกว่าสะพานจะเริ่มสร้างปี 2572 ตอนนี้จะเริ่มออกแบบ จึงนำมาบอกไว้ให้ระวัง และคิดป้องกันผลกระทบตั้งแต่ต้น
อันที่จริง แถวนั้นก็มีปะการังและหญ้าทะเลอีกหลายแห่ง การทำ EIA ต้องรอบคอบเป็นอย่างมาก
การพัฒนาเพื่อเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องคนแถวนั้นเป็นเรื่องดี แต่ดีที่สุดคือพัฒนาแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติจนเกิดความเปลี่ยนแปลง
อย่าลืมว่าทะเลคือทรัพยากรสำคัญสุดของพื้นที่ นักท่องเที่ยวล้วนมาทะเล หากเราสร้างความสบายแต่ทำลายทะเล มันก็คงไม่ใช่
คณะประมงลงพื้นที่ตรงนั้นประจำ มีข้อมูลและมีภาพเยอะเลยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat