สมาคมธนาคารไทยประชุมด่วนหามาตรการให้ลูกค้าเงินฝาก 88 ล้านบัญชี ลงทะเบียนเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากรแบบง่ายๆ แลกกับการไม่ต้องเสียภาษี 15% หากได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 2 หมื่นบาทต่อปี ย้ำชัดๆ คนที่มีเงินฝากไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อปี อย่าตื่นตระหนก เพราะอยู่ในข่ายไม่ต้องเสียภาษี
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมกำลังหาวิธีและรูปแบบเพื่อให้ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มาลงทะเบียน และเป็นไปตามมาตรการของกรมสรรพากรที่ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีจากรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยกำหนดให้ผู้มีบัญชีเงินออมทรัพย์ลงทะเบียนยินยอมเปิดเผยข้อมูลเงินฝากแลกกับสิทธิ์ยกเว้นภาษีรายได้จากดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ในเดือน พ.ค.นี้ หากรายใดไม่ลงทะเบียนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 เม.ย. สมาคมได้เรียกธนาคารสมาชิกเพื่อประชุมหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการของกรมสรรพากร โดยให้ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับข้อมูลเงินฝาก และดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับลูกค้าปีละ 2 ครั้ง คือเดือน พ.ค. และเดือน พ.ย. เพื่อนำมาคำนวณภาษีสิ้นปีและช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้เอื้อต่อลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเงินฝากออมทรัพย์ โดยช่วงระยะเวลาที่ใกล้คำนวณภาษีก็แนะนำให้โยกเงินจากบัญชีออมทรัพย์ไปฝากอีกบัญชีหนึ่ง เพื่อไม่ให้รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่อปีเกิน 20,000 บาท และไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีบัญชี
เงินฝากออมทรัพย์ 88.07 ล้านบัญชี มียอดเงินฝากรวมกัน 7.57 ล้านล้านบาท (ดูตามตาราง) ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ต่ำกว่า 4 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.50% หากฝากเงิน 4 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี ได้รับดอกเบี้ยเพียง 20,000 บาท
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การประชุมสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางดำเนินการ กรณีที่ผู้ฝากเงินมีรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากเกินกว่า 20,000 บาทต่อปี ที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องดำเนินการให้เจ้าของบัญชีเซ็นยินยอมส่งข้อมูลกับกรมสรรพากร ซึ่งคณะทำงาน ของสมาคมกำลังหาแนวทางเพื่อเป็นทางออกให้กับประชาชนมากที่สุด เช่น อาจมีแบบฟอร์มในการยินยอมที่เป็นแบบเดียวกันทุกแห่ง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน รวมทั้งหาช่องทางเพื่อให้ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในหลายๆธนาคารสามารถลงนามยินยอมที่ธนาคารเพียงเเห่งเดียว แต่เชื่อมโยงข้อมูลถึงทุกธนาคารได้ หรืออาจให้ลงนามยินยอมผ่านโมบาย แบงกิ้ง และยอมรับว่าประกาศดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้ฝากเงินที่ต้องเพิ่มขั้นตอนการลงนามความยินยอม
“สมาคมและธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อให้สร้างความเข้าใจ ขอย้ำว่า ประชาชนยังไม่ต้องไปลงนามความยินยอมที่ธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้ เพราะต้องรอให้สมาคมสรุปแนวทาง และออกหนังสือการเซ็นยินยอมส่งข้อมูลแก่กรมสรรพากรให้เรียบร้อยก่อน”
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ สมาคมธนาคารไทยจะได้ร่วมหารือกับกรมเรื่องการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าว ส่วนเรื่องการขยายเวลาให้แก่ธนาคารในการจัดส่งข้อมูลจากเจ้าของบัญชีให้แก่กรม ขณะนี้ยังยึดตามกำหนดการเดิมคือ 15 พ.ค.นี้ ขณะที่กรณีที่ประชาชนที่ไม่ได้มาเซ็นยินยอมเพื่อให้ธนาคาร ส่งข้อมูลให้กรมภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ จะถูกจัดเก็บภาษีตามปกติ แต่จะขอคืนภาษีได้ในช่วงสิ้นปีเหมือนการขอคืนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา.