นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้เข้าร่วมงานส่งเสริมการลงทุน Medical Device 2019 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อชักจูงผู้ประกอบการ นักลงทุน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จากญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากกิจการการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนญี่ปุ่น “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบริษัทชั้นนำที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์มาก และนักลงทุนญี่ปุ่นยืนยันว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมที่สุดในการขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมนี้ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการส่งออก ภายในปี 2563”
ทั้งนี้ กนอ.ยังได้มีการแนะนำโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างๆให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในอีอีซีที่จะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน 1 ใน 5 โครงการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)
ด้านนายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เข้าพบปะเพื่อหารือกับเอกอัครราชทูตและผู้แทนระดับสูงของสถานทูต ในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย 5 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน, คาซัคสถาน, สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย, สาธารณรัฐซูดาน และกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐกานา ทั้ง 5 ประเทศ ต่างยืนยันจะให้ความช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานของแต่ละประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักธุรกิจไทยอย่างเต็มที่ โดยปากีสถานมีเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม พลังงาน เหมืองแร่ อาหารทะเลแปรรูป ส่วนคาซัคสถานต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยาง กระจก เกษตรแปรรูป ขณะที่ซูดานต้องการส่งเสริมการลงทุนประมงและอาหารแปรรูป ด้านไนจีเรียต้องการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร อาหารแปรรูป ทำเหมืองพลอย พลังงาน และกานาต้องการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เกษตร เป็นต้น.