อัปเดตรถไฟฟ้า "มหานครระบบราง" พลิกโฉมหน้าการจราจรกรุงเทพฯ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อัปเดตรถไฟฟ้า "มหานครระบบราง" พลิกโฉมหน้าการจราจรกรุงเทพฯ

Date Time: 7 ม.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • ถึงวันนี้ชาวกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรยังคงต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับปัญหารถติด ที่ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ไม่พ้นถูกปิดถนน ชนทางเบี่ยง เลี่ยงอย่า

Latest

“แร็กแท็ก”ผนึกสหกรุ๊ป รุกตลาดแฟชั่นมือสองจากญี่ปุ่น

ถึงวันนี้ชาวกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรยังคงต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับปัญหารถติด ที่ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ไม่พ้นถูกปิดถนน ชนทางเบี่ยง เลี่ยงอย่างไรก็ไม่พ้น

แต่ความอดทนก็กำลังผลิดอกออกผล เมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางในปีนี้คืบคลานใกล้ความจริงขึ้นมาทุกขณะ การเดินทางด้วยระบบรางเชื่อมต่อเป็นใยแมงมุม จากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจน สวยงามยิ่งขึ้น

เปิดศักราชใหม่ในสัปดาห์นี้ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงขออาสาพาสำรวจเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร สายไหนผ่านหน้าบ้านใคร ก่อสร้างไปถึงไหน ใกล้เปิดบริการหรือยัง และสายไหนยังคงเป็นแค่แผนในกระดาษ เชิญติดตาม ณ บัดนี้

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง–บางแค และบางซื่อ–ท่าพระ

เริ่มต้นจากสายสีน้ำเงินซึ่งถือเป็นไฮไลต์ และคนไทยไม่น้อยกำลังรอคอยอยากสัมผัสกันไวๆ มีจุดเด่นอยู่ที่ 4 สถานี ได้แก่ วัดมังกร สามยอด สนามไชย และอิสรภาพ ที่ตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา จนคาดว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์ก
จุดเช็กอินสำคัญในกรุงเทพฯทันทีที่เปิดให้บริการ แถมยังใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายแรกของเมืองไทยอีกด้วย

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็น Heavy Rail หรือรางแบบคู่เหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส ประกอบด้วยทางยกระดับและใต้ดิน โดยช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กม. 11 สถานี แบ่งเป็นทางยกระดับ 7 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เป็นทางลอยฟ้า 13 กม. ทั้ง 10 สถานี และในเส้นทางยังมีอาคารจอดรถ 1 แห่งที่สถานีหลักสอง รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเพชรเกษม 48

สำหรับจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ช่วงหัวลำโพง-บางแค เชื่อมต่อยาวมาจากสถานีหัวลำโพงของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้เลย ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะเชื่อมต่อจากสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง อีกทั้งยังมี สถานีท่าพระเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระบบ หรือสถานี Interchange อีกด้วย

ความคืบหน้าปัจจุบันถือว่าใกล้ความจริงทุกขณะ เพราะก่อสร้างงานทั้ง 5 สัญญาเสร็จแล้ว 100% เหลือเพียงแค่งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ โดยจะเปิดใช้ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ได้ก่อนเดือนสิงหาคม 2562 เร็วกว่ากำหนด 1 เดือน ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะเปิดต่อจากนั้นในเดือนมีนาคม 2563

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ

ต่อมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลักษณะเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail ยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 13 กม. มี 9 สถานีรถไฟฟ้า ลานจอดรถ และศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณสถานีเคหะฯ โดยโครงการนี้มีจุดเริ่มต้นเชื่อมจากสถานีแบริ่งของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิม และระหว่างทางยังเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีสำโรงได้อีกด้วย โดยปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต

ต่อมาเป็นสายสีเขียวเหมือนกันแต่เป็นคนละช่วง คือช่วงกรุงเทพฯตอนเหนือ ลักษณะยังเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail แบบทางยกระดับตลอดสาย 19 กม. มีทั้งสิ้น 16 สถานี อาคารจอดรถ 2 แห่งที่สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งที่สถานีคูคต

จุดเริ่มต้นโครงการมาจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว เชื่อมจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพหลโยธิน ระหว่างเส้นทางยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้ด้วย รวมถึงเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณสถานีกรมทหารราบที่ 11 ยังอยู่ใกล้อู่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. เขตการเดินรถที่ 1 บางเขน ปัจจุบันงานก่อสร้างโยธาเดินหน้าไปแล้ว 85.82% คาดว่าเปิดให้บริการก่อนในเดือนสิงหาคม 2562 เฉพาะสถานีลาดพร้าว และเปิดให้บริการทั้งเส้นทางภายในปี 2563

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี

ลักษณะโครงการเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail มีทั้งทางยกระดับและใต้ดิน ระยะทาง 21.2 กม. 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานีลอยฟ้าอีก 7 สถานี นอกจากนี้ยังมีอาคารจอดรถ 1 แห่ง ที่สถานีคลองบ้านม้า และศูนย์ซ่อมบำรุงอีก 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ของ รฟม.

จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร (รถไฟฟ้าใต้ดิน) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันบริเวณสถานีมีนบุรียังเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วง
แคราย-มีนบุรี รวมถึงสถานีลำสาลี เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้อีกด้วย ปัจจุบันงานโยธาคืบหน้าไปแล้ว 22.77% และจะเปิดให้บริการทั้งหมดได้ภายในปี 2566

รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี

สายสีชมพูเป็นรถไฟฟ้าไซส์เล็กแต่ยาว แบบ Monorail ยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 34.5 กม. มี 30 สถานี อาคารจอดรถ และศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งบริเวณสถานีมีนบุรี จุดเริ่มต้นของโครงการต่อมาจากรถไฟฟ้ามหานครสาย
ฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ขณะเดียวกันบริเวณสถานีหลักสี่ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต, สถานีวัชรพลยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทาที่จะเกิดในอนาคต และท้ายสุดที่สถานีมีนบุรี เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี โดยปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 11.89% อดใจรออีก 3 ปี เพราะน่าจะเปิดให้บริการในปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว–สำโรง

สายสีเหลืองเป็นรถไฟฟ้า Monorail เช่นเดียวกับสายสีชมพู เป็นทางยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 30.4 กม. จำนวน 23 สถานี อาคารจอดรถ 1 แห่งที่สถานีศรีเอี่ยม และศูนย์ซ่อมบำรุงอีก 1 แห่ง บริเวณจุดตัดของถนนศรีนครินทร์และถนนบางนา-ตราด

สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการ ทำต่อจากรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีรัชดาภิเษก ระหว่างทางยังมีจุดเชื่อมต่อบริเวณสถานีลาดพร้าว 71 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา สถานีลำสาลีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์, สถานีพัฒนาการเชื่อมต่อกับสถานีหัวหมากของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และสถานีสำโรงเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้ารวม 14.56% โดยคนลาดพร้าวยังต้องทนรถติดอีกสักพัก เพราะมีแผนเปิดให้บริการในปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

มาที่สายสีม่วง ลักษณะเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail มีทั้งทางใต้ดินและทางยกระดับลอยฟ้า ระยะทาง 23.6 กม. แบ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 สถานี และสถานีรถไฟฟ้ายกระดับ 7 สถานี นอกจากนี้ยังมีอาคารจอดรถ 2 แห่ง บริเวณสถานีบางปะกอกและสถานีราษฎร์บูรณะ โดยจุดเริ่มต้นโครงการต่อขยายมาจากสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง แต่ปัจจุบันโครงการยังเป็นวุ้นอยู่ เพราะกำลังอยู่ระหว่างจัดเตรียมการประกวดราคา ยังไม่เริ่มก่อสร้าง กว่าจะได้ใช้จริงก็ต้องรอยาวไปประมาณปี 2568

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ

เช่นเดียวกับสายสีส้มที่ตอนนี้ก็ยังเป็นวุ้นอยู่ ลักษณะเป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail ใต้ดินตลอดสาย ยาว 13.4 กม. มี 11 สถานีรถไฟฟ้า จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และยังเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ร.พ.ศิริราช ที่สถานีบางขุนนนท์ รวมถึงสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงินได้ด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติโครงการ คาดเปิดให้บริการได้ปี 2568

รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิต

ปิดท้ายที่สายสีแดง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นรถไฟฟ้าเต็มตัว แต่ด้วยการที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าภาพ จึงต้องตั้งชื่อว่ารถไฟชานเมืองแทน มีระยะทางทั้งหมด 26.3 กม. 10 สถานี เป็นทางยกระดับจากบางซื่อไปยังดอนเมือง 19.2 กม. และลดลงอยู่ระดับพื้นดินจากดอนเมืองถึงรังสิตอีก 7.1 กม. จุดเด่นของโครงการนี้ มีการสร้างพร้อมกับสถานีกลางบางซื่อและเชื่อมต่อการเดินทางได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารที่ผ่านสนามบินดอนเมือง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้หลายสาย บริเวณสถานีกลาง ไม่ว่าจะเป็นสายสีน้ำเงิน สีม่วง สายสีชมพูบริเวณสถานีหลักสี่อีกด้วย

สำหรับปัจจุบัน งานก่อสร้าง ณ สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้าไปแล้ว 77.37% ขณะที่งานก่อสร้างทางรถไฟฟ้าเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว 99.44% งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเสร็จแล้ว 38.24% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2563 แน่นอน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ