นับถอยหลัง "ไขมันทรานส์" วันประกาศชัยชนะของผู้บริโภค

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นับถอยหลัง "ไขมันทรานส์" วันประกาศชัยชนะของผู้บริโภค

Date Time: 23 ก.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • สุภาษิตไทยที่พร่ำสอนเรามาแต่เด็กๆว่า...ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นสัจธรรมที่อยู่คู่โลก คู่สังคม ทันสมัย และไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น เว้นแต่ความชรา ความเสื่อมแห่งวัย

Latest

“ขนม” ที่ไม่ใช่ แค่เรื่องของเด็กๆ เมื่อคนไทยบริโภคปีละ 5 หมื่นล้าน Brand Loyalty สูง ตลาดแข่งเดือด

สุภาษิตไทยที่พร่ำสอนเรามาแต่เด็กๆว่า...ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นสัจธรรมที่อยู่คู่โลก คู่สังคม ทันสมัย และไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น เว้นแต่ความชรา ความเสื่อมแห่งวัย และสังขารจะเดินทางมาถึงเท่านั้น

ว่าแต่ ความไม่มีโรค จะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใด คำตอบง่ายๆคือ ด้วยตัวของเราเอง

หลายท่านคงเคยได้ยินว่า You are What You eat...คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นเช่นนั้น

และเมื่อคุณกินมันเข้าไปมากขึ้น โดยเฉพาะกินสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพร่างกาย โรคภัยต่างๆก็จะเบียดเบียนตัวคุณมากขึ้น เมื่อถึงวันนั้น ไม่เพียงคุณจะเจ็บตัวจากการเจ็บป่วย เดินไม่ได้ หรือบางคนต้องนอนเป็นผักอยู่บนเตียง หากแต่เงินที่เก็บมาทุกบาททุกสตางค์จากการทำงานหนัก ยังหมดไป เพราะการรักษาตัวถึงขั้นที่อาจทำให้เกิดภาวะล้มละลายได้ด้วยซ้ำ

เนื่องเพราะค่ารักษาพยาบาลทุกวันนี้แพงระยิบ และยังมีแนวโน้มจะแพงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคนยากจน หมดสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี

ที่เกริ่นมาข้างต้น ก็เพื่อจะแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบอีกครั้งว่า บัดนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา เรื่องการกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายวัตถุดิบที่เรียกว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) ที่นำมาผสม หรือผลิตเป็นอาหารหลากหลายชนิดแล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หรือตั้งแต่เดือน ม.ค.ปี 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ด้วยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด อาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึง “ห้าม” ผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ รวมถึง ห้ามนำ เข้า และจำหน่ายอาหาร หรือวัตถุดิบประเภทนี้โดยเด็ดขาด

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี และ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะไขมันทรานส์มีส่วนที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือดได้ เป็นต้น

สถานการณ์เช่นว่านี้ในประเทศไทย มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยจำนวนมากเสียชีวิตเฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 30,000 ราย ส่วนโรคความดันโลหิตสูงช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) อัตราการป่วยต่อประชากรแสนคนเพิ่มขึ้นจาก 12,342 เป็น 14,926 นอกจากนี้โรคเบาหวาน มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 (ประมาณ 5 ล้านคน) จากผลการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 5 ปี เมื่อ พ.ศ.2557

ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ไขมันทรานส์ในอาหารทำให้ระดับ LDL (low den sity lipoprotein) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับ HDL (high density lipoprotein) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด

การศึกษาในสหรัฐอเมริกายังบ่งชี้ด้วยว่า การไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ สามารถป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประชากรได้ราว 10,000-20,000 ราย/ปี และป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบปีละ 3,000-7,000 รายด้วย

อาหารหลายชนิดที่มีโอกาสพบไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ ก็เช่น มันฝรั่ง โดนัท เบเกอรี ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม วิปปิ้งครีม เนยขาว มาร์การีน และคุกกี้ เป็นต้น

ผู้บริโภคจึงควรอ่านฉลากโภชนาการให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อหรือรับประทาน โดยสังเกตที่ส่วนประกอบและตารางโภชนาการ (Nutrition Facts) ช่องไขมันรวม (Total fat) หากมีการใช้ไขมันทรานส์ จะชี้แจงไว้บริเวณนี้ ทั้งนี้ ยังพบไขมันทรานส์ในน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกับไฮโดรเจนที่อยู่ในอาหาร และน้ำ

การลดโอกาสการเกิดไขมันทรานส์ในน้ำมัน คือ ต้องเลือกใช้น้ำมันให้ถูกกับประเภทของอาหาร เช่น ผัด หรือทานสด ควรเลือกน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันถั่วเหลือง อาหารประเภททอด ควรเลือกใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว เพราะสามารถทนความร้อนได้สูง รวมถึงไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำไปมาหลายรอบ

นพ.อัษฎางค์ กล่าวด้วยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำประชาชนไม่ควรบริโภคไขมันทรานส์เกินร้อยละ 0 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับใน 1 วัน (หรือในปริมาณ 2.2 กรัม)

การหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันทรานส์ที่สามารถทำได้ คือ

1.เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น 2.ควรลด/เลี่ยงการกินอาหารประเภทเบเกอรีต่างๆ โดยเฉพาะพัฟ และเพสตรี (พายที่มีหน้าต่างๆ เช่น หน้าสับปะรด/เชอร์รี) 3.ควรลด/เลี่ยงอาหารทอด อาหารผัดที่ใช้นํ้ามันในปริมาณมาก 4.อ่านฉลากโภชนาการให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อหรือรับประทาน และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

นักโภชนาการยังเตือนด้วยว่า ไขมันทรานส์ที่เขียนลงบนฉลากสินค้าว่า สินค้าชนิดนี้มีไขมันทรานส์ร้อยละ 0 ก็ยังต้องพึงระมัดระวัง เพราะในข้อเท็จจริงอาจมีไขมันทรานส์ปะปนอยู่ด้วย เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ผลิตปัดเศษตัวเลขที่เกินมาแต่ไม่ถึงร้อยละ 1 ได้ เช่น มีไขมันทรานส์ร้อยละ 0 ความจริงอาจมีร้อยละ 0.5 ต่อหน่วยการบริโภค

กรณีเช่นว่านี้ ไขมันทรานส์ร้อยละ 0 ต่อ 1 หน่วยบริโภค จะเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือคิดเป็นน้ำหนัก 3 กรัม ถ้าคุณรับประทานอาหารที่ว่านี้เกินกว่า 1 ช้อนชา หรือยิ่งทานยิ่งมัน เลยทานเข้าไปหลายชิ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไขมันทรานส์ที่ร่างกายได้รับก็จะมีจำนวนมาก

5 อันดับอาหารใกล้ตัวที่มี “ไขมันทรานส์” สูงเกินมาตรฐาน คือ

1.มาร์การีน มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.08-15.32 กรัมต่อ 100 กรัม

2.โดนัท ทอด มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.02-5.14 กรัมต่อ 100 กรัม

3.พาย มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.03-4.39 กรัมต่อ 100 กรัม

4.พัฟ และเพสตรี มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.01-2.46 กรัมต่อ 100 กรัม

5.เวเฟอร์ช็อกโกแลต มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.06-6.24 กรัมต่อ 100 กรัม

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การบริโภคไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดสูงขึ้น 18% และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 42% ขณะที่การบริโภคไขมันทรานส์ที่มาจากแหล่งธรรมชาติไม่มีผลต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด ด้วยเหตุนี้จึงควรบริโภคไขมันทรานส์
ในปริมาณที่เหมาะสม

รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการ และการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลเสียจากไขมันทรานส์ มีให้เห็นในหลายประเทศ อาทิ ในอินเดีย และปากีสถาน ที่ร้านอาหารนิยมใช้น้ำมันเนยใส (vanaspati) ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์ม และน่าจะมีส่วนที่ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในหมู่ประชากรเอเชียใต้นั้น สูงผิดปกติ
โดยในประเทศปากีสถาน ตามผลการศึกษาในวารสาร Nutrition พบว่า ผู้ชายในปากีสถานมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายมากกว่าชาวอังกฤษและเวลส์ถึง 62% นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ระบุว่า การนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาอุ่นใช้ซ้ำ ยังเพิ่มอันตรายต่อร่างกายด้วย

WHO จึงคาดหวังว่า หากสามารถกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 ความพยายามนี้อาจช่วยรักษาชีวิตประชากรโลกได้กว่า 10 ล้านคนเลย

การตื่นตัวของผู้ประกอบการไทยในเรื่องนี้ ทำให้หลายค่ายผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอินเตอร์แบรนด์รายใหญ่ทั้ง KFC Mc Donald Pizza Hut S&P Krispy Kream Lay’s รวมถึงขนมขบเคี้ยวต่างๆ และบรรดานมข้นหวาน เป็นต้น ต่างออกมาชี้แจง เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสรรพคุณของอาหารแบรนด์ตนกับผู้บริโภคว่า เป็น “อาหารปลอดภัย” และปราศจากไขมันทรานส์ ร้อยละ 100 เลยทีเดียว

นับตั้งแต่ นางกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารตราสินค้า แบล็คแคนยอน ซึ่งกล่าวว่า เป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภค แต่ในฐานะผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหลากหลาย ทั้งเครื่องดื่มกาแฟบางเมนูใช้นมข้นหวานที่มีกรดไขมันทรานส์ซ่อนอยู่ ก็คงต้องเร่งตรวจสอบ ภายในองค์กร พร้อมปรับปรุงสูตรไม่ให้ใช้วัตถุดิบที่มีกรดไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบในอาหาร เบเกอรี และเครื่องดื่มทุกชนิด

ขณะที่ น.ส.อุษณา มหากิจศิริ เจ้าของแฟรนไชส์ “พิซซ่า ฮัท” ยืนยันว่า พิซซ่า ฮัททุกเมนู ทุกหน้า ทุกขอบ ปราศจากไขมันทรานส์ ร้อยละ 100 นโยบายของพิซซ่าฮัท ในฐานะเป็นแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกจะให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องของคุณภาพ ความสะอาด รสชาดและความปลอดภัยของอาหารเป็นสำคัญ

เพื่อสร้างความไว้วางใจ และพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าในทุกสาขา และขณะที่ นางอุษณีย์ ประธาน บริษัท คิง ฟูด กรุ๊ป ผู้นำเข้าและทำตลาดแบรนด์อาหาร-เบเกอรีชื่อดังจากทั่วโลก อาทิ คริสปี้ครีม, ไอฮ็อป, ซินนาบอน, บูลโกกิบราเธอร์ส, พายเฟสซ์ และแจมบาร์จูซ เธอยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานาน ด้วยตั้งมั่นว่าจะซื่อสัตย์กับตัวเองและลูกค้า แม้การใช้น้ำมันทรานส์แฟตร้อยละ 0 จะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 15% ก็ตาม

ส่วน นายกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิต และการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พี กล่าวว่า เอส แอนด์ พี มีหลักฐานยืนยันจากคู่ค้าทุกรายว่า ผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เบเกอรีทุกประเภทตั้งแต่เมื่อปี 2549 หรือ 10 ปีที่แล้ว ได้ตัดวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงออกไป รวมทั้งส่งไปวิเคราะห์ซ้ำเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ไขมันทรานส์ เป็นร้อยละ 0 ต่อ 1 เสิร์ฟ นั่นหมายถึงผลิตภัณฑ์ของเขาทุกรายการ ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเลย

เช่นเดียวกับ “แมคโดนัลด์” ร้านอาหารบริการด่วนระดับโลก ก็ออกมาชี้แจงว่า ใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานปราศจากไขมันทรานส์ในการทอดอาหาร ส่วน เคเอฟซี แจ้งว่า ในฐานะที่เป็นร้านอาหารจานด่วนที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ขอยืนยันว่า เมนูอาหารทุกเมนูที่จำหน่ายในร้านเคเอฟซี ปลอดจากไขมันทรานส์ ร้อยละ 100 ทั้งนี้เพราะเคเอฟซีไทย ได้ดำเนินตามนโยบายบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ในการยกเลิกการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว

เช่นเดียวกับ เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวชั้นนำที่ยืนยันว่า มันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์”, ขนมขึ้นรูป “ตะวัน”, ซันไบทส์, ทวิสตี้, โดริโทส และชีโตส ไม่ได้มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แต่อย่างใดเพราะ “เลย์” ใช้น้ำมันรำข้าว

ขณะที่ นมตรามะลิ ยืนยันเช่นกันว่าบริษัทไม่เคยใช้น้ำมันที่ก่อให้เกิดกรดไขมันทรานส์มาเป็นส่วนประกอบใดๆเลย จึงไม่จำเป็นต้องปรับสูตร หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า นมตรามะลิ ปลอดภัย

เหมือนๆกับ เนสท์เล่ ซึ่งเลิกใช้ไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปี 2557 ในทุกผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กาแฟ ครีมเทียม นมผงเด็ก ไมโล หรือแม้แต่ ห้างสรรพสินค้า อย่าง ท็อป ของ ห้างเซ็นทรัล หรือ เทสโก้ โลตัส และ สยามแม็คโคร ต่างก็ยืนยันว่า พวกเขาล้วนแต่คัดคุณภาพสินค้าที่ปลอดภัยมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั้งสิ้น

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่มเตรียมการสำหรับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้สามารถปรับสูตรการผลิตเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยอมรับว่า ผู้ผลิตขนาดเล็ก หรือโรงงานเบเกอรีห้องแถวซึ่งเป็นเอสเอ็มอีในครอบครัวอาจยังต้องให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้กรดไขมันทรานส์ ซึ่งในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ส.อ.ท.จะเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่ www.fti.co.th  และยอมรับว่า การปรับสูตรการผลิตอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ