จากพัทลุงสะเทือนถึงกทม. หลังเศรษฐีคนดัง 'เอกภัทร ภัทร์รัศมี' เจ้าของโชว์รูมและศูนย์ซ่อมรถยนต์นิสสันในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง เพียงผู้เดียว ประกาศยุติกิจการในวันที่ 31 ส.ค.61 โดยปฏิเสธที่จะต่อสัญญากับ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด และหันมาเอาดีด้านธุรกิจขายขนม ของฝาก และของดีประจำจังหวัดแทน
ทั้งนี้ หลายคนคงมีคำถาม เมื่อธุรกิจโชว์รูมและศูนย์ซ่อมรถยนต์ของ 'เอกภัทร' ผูกขาดเพียงรายเดียวในพัทลุง และจังหวัดตรัง ซึ่งธุรกิจดังกล่าวดำเนินงานมากกว่า 25 ปี มียอดจำหน่ายรถออกไปแล้วกว่า 8,000 คัน
ขณะเดียวกัน หากมองในด้านการแข่งขัน การเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวเพียงรายเดียวในจังหวัด และยังรวมถึงการซ่อมบำรุงต่างๆ ทำตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ เรียกได้ว่าครบวงจรตั้งแต่ซื้อรถยันดูแลรักษา หากคำนวณคร่าวๆ ตัวเลขผลประกอบการธุรกิจไม่ธรรมดาแน่นอน แล้วอะไรล่ะ? ที่ทำให้ 'เอกภัทร' หันหลังให้กิจการนี้
เอกภัทร ภัทร์รัศมี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามนิสสัน พัทลุง จำกัด และบริษัท เอกภัทร เมืองตรัง จำกัด เปิดเผยกับ 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ว่า ถ้าไม่กล้าเปลี่ยนแปลง และไม่กล้าลงมือทำ เราก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ส่วนตัวเรามองว่า ยอดขายรถยนต์จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ดูได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้มแข็ง ประชากรส่วนใหญ่มักจะใช้รถค่อนข้างน้อย ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็จะเป็นแบบนี้
ทั้งนี้ เรากับบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ยังเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน แต่การที่เราไม่ได้ต่อสัญญาและยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือ ดีลเลอร์ กับนิสสัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามองว่านโยบายของนิสสันส่งผลดีต่อลูกค้า เช่น การตกแต่งโชว์รูมใหม่ หรือ การเพิ่มบริการต่างๆ ที่สร้างภาพลักษณ์และความพึงพอใจให้กับลูกค้า แต่เราในฐานะดีลเลอร์ อาจจะมองอีกมุม คือ การลงทุนตรงนี้อาจจะสูงเกินไปในสภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าในระยะหลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีนโยบายหลายๆ อย่างเปลี่ยนประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าตลาดการซื้อขายรถยนต์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเพิ่งจะเข้าสู่การเติบโต เนื่องจากตลาดนิ่งมานาน
หากย้อนกลับไปดูยอดขายรถยนต์รวมทั้งประเทศจะพบว่า ในปี 2555 ได้รับอานิสงส์การเว้นภาษีรถคันแรก ส่งผให้ยอดขายรถรวมทั้งประเทศ แตะ 1.4 ล้าน หลังจากนั้นก็ลดลงมา จนปี 2559 ลดลงมาเหลือ 50% มาอยู่ที่ 7 แสนคัน
โดยปี 2560 เป็นปีแรกที่โต 10% มียอดขายรวมทั้งสิ้น 8 แสนคัน โดยปีนี้ 61 เรามองว่าน่าจะโตประมาณ 4-5% ก็ถือว่าไม่ได้ซบเซาแล้วแต่ ไม่ได้เติบโตเหมือนตอนปี 54-55 เพราะเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศยังไม่ฟื้นตัว
ตลาดรถยนต์ไม่ซบเซา แต่ทำไมไม่ต่อสัญญา
เอกภัทร กล่าวว่า เรามองว่าธุรกิจอื่นทำให้ทุนของเราเติบโตได้มากกว่า และขยายธุรกิจได้เร็วกว่า ก่อนหน้านี้เราทำร้านขนมเบเกอรี่ และของฝากภายใต้ชื่อร้านว่า 'ธาม' ซึ่งมีสาขาอยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 3 แห่ง และอีก 3 สาขาในปั๊มน้ำมันปตท. ที่นครศรีธรรมราช กระบี่ และภูเก็ต และเรามองเห็นศักยภาพการเติบโตค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ เราต้องการทำธุรกิจที่มีปัจจัยการซื้อซ้ำ (Repeat purchase factors) หรือมีความถี่ในการซื้อซ้ำสูง เช่น อาทิตย์หนึ่งซื้อได้กี่ครั้ง หากเทียบกับธุรกิจรถยนต์กว่าลูกค้าจะเปลี่ยนรถยนต์ 1 คันต้องใช้ระยะเวลา 5-7 ปี นอกจากนี้ ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ที่มักชอบจะซื้อขนมของฝากแต่ละท้องถิ่นไปฝากญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เราจึงมองว่านี่คือโอกาส
ขณะเดียวกัน เรามองว่าข้อจำกัดด้านเขตแดนก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจร้านของฝาก จากแต่เดิมที่เราเป็นดีลเลอร์จำหน่ายรถยนต์ที่ถูกจำกัดในพื้นที่พัทลุง และจังหวัดตรัง เมื่อเราเบนเข็มมาลุยธุรกิจด้านนี้นั้นหมายความว่า เราจะทำร้านขนมธาม ที่ไหนก็ได้
เทียบชอตต่อชอต ธุรกิจไหนกำไรกว่ากัน
เอกภัทร อธิบายว่า หากใช้ถนนเส้นเพชรเกษม จะเห็นว่าตั้งแต่เพชรบุรีเป็นต้นไปจนถึงเข้ากทม. ร้านขนมของฝากเยอะมาก หม้อแกงทั้งเส้น แต่ในส่วนของภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ชุมพรลงไปยาวถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราจะไม่พบร้านขนมของฝากที่เป็นพรีเมียมเลย
"ผมเองทำร้านธามที่หาดใหญ่มาก่อน พอรู้ว่ายอดขายอยู่ประมาณไหน ซึ่งยอดขายต่อเดือน 4-5 ล้านต่อสาขานั้นไม่ยากเลย แต่กำไรขั้นต้น หรือ margin ในการทำธุรกิจอาหารนั้นคิดเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ส่งผลให้การรับรู้รายได้นั้นอาจจะต้องลดลง"
ทั้งนี้ หากเทียบกับการขายรถยนต์ สมมติว่าขายรถ 1 คันได้กำไร 1 แสน ขาย 7 คันได้ 7 ล้าน ส่วนขนมของฝากเราขายเดือนหนึ่งไม่เกิน 5 ล้าน แต่หากเทียบแบบ อัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin จะพบว่า ธุรกิจขนมดีกว่า หากขายได้ 5 ล้าน กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 2.5 ล้าน แต่หากขายรถยนต์ margin อยู่ที่ 3% ซึ่งยังไม่ได้หักรายจ่ายอื่นๆ
ผ่าโมเดล ธาม ร้านเบเกอรี่ของฝาก
เอกภัทร กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจเบเกอรี่ ขนมของฝาก เราไม่ได้จำหน่ายอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้ในร้านของเรามีขนมขายรวมกว่า 100 ชนิด ซึ่งเราผลิตขนมมากกว่า 30 ชนิดอยู่แล้ว ส่วนอีก 70 ชนิด เราก็รับรายย่อยมาวางหน้าร้าน
นอกจากนี้เรายังเป็นรับจ้างผลิตขนม เบเกอรี่ รวมถึงของฝากให้กับแบรนด์อื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า OEM (Original Equipment Manufacturer) เนื่องจากเรามีความพร้อมทางด้านคนและเครื่องจักรในการผลิต ซึ่งเราสามารถตอบโจทย์ให้กับลูกค้า โดยหลังจากวันที่ 31 ส.ค. 61 นี้เราจะเปลี่ยนแปลงโชว์รูมให้เป็นโรงงานที่ผลิตขนม เบเกอรี่ กิจการเติบโตที่ดีกว่า กำไร 10% เครื่องจักรตัวเดิม กำไรจะทวีคูณได้รวดเร็วจากการเพิ่มปริมาณการขาย
นอกจากนี้ พันธมิตรธุรกิจที่ทำปั๊มน้ำมัน ก็อยากให้ร้านของเราไปตั้งอยู่ในปั๊ม ซึ่งในประเด็นนี้เราต้องมองดูเรื่องช่องทางการตลาดใหม่ หากต้องไปทุกจังหวัด โดยยังคงจุดเด่นเรื่องการออกแบบร้าน ขนมที่เป็นซิกเนอร์เจอร์ของร้าน รวมไปถึงการเปิดช่องทางใหม่ๆ หากจะต้องพาร้านธามไปอยู่ในปั๊มภาคกลาง แต่แผนต่อจากนี้เราคงจะต้องเก็บตามปั๊มในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพรเสียก่อน
(ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊กร้าน ธาม ความสุขในทุกโอกาส)