ผู้ปกครองเตรียมควักเงินเพิ่มอีกรับเปิดเทอม! เอกชนยื่นขอปรับขึ้นราคาชุดนักเรียน 3-5% อ้างเหตุต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพุ่ง...
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ผลิตสินค้าชุดนักเรียน 1 ราย ได้ยื่นหนังสือมายังกรมฯ เพื่อขอปรับขึ้นราคาขาย 3-5% เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงงานและวัตถุดิบที่ใช้ผลิตชุดนักเรียน มีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯ จะพิจารณาการขอปรับขึ้นราคาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ และอาจจะขอความร่วมมือให้การปรับขึ้นราคาดำเนินการหลังจากเปิดเทอมแล้ว โดยสถานศึกษาส่วนใหญ่จะเปิดเทอมพร้อมกัน ในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ขณะนี้มีเพียงรายเดียวที่ยื่นขอแจ้งปรับราคาเข้ามา ซึ่งก็คงจะมีรายอื่นทยอยตามมา โดยจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่าสินค้าชุดนักเรียนไม่ได้มีการปรับขึ้นราคามานาน อย่างผู้ผลิตชุดนักเรียนที่เป็นหน่วยงานของรัฐไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็น 10 ปี ส่วนผู้ผลิตชุดนักเรียนที่เป็นเอกชนไม่ได้ปรับขึ้นมากว่า 3 ปี และจะดูเหตุผลของการปรับราคาทั้งในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลต่อต้นทุนผลิตสินค้าประมาณ 1.5% และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับราคาขึ้นจากเหตุผลของค่าแรงเช่นกัน
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการขอปรับราคาขึ้นตัวละ 3-5% นั้น จะคิดเป็นกี่บาทต้องดูราคาจากชุดนักเรียนที่จำหน่าย เพราะมีหลายราคา เช่น ถ้าตัวละ 200 บาท การปรับขึ้น 3% ราคาก็จะสูงขึ้นประมาณ 6 บาท แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้ปกครองมากนัก เพราะรัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ปกครอง สามารถนำใบเสร็จจากการซื้อชุดนักเรียนมาเบิกกับสถานศึกษาตามวงเงินที่กำหนด
นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยยังสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาซื้อสินค้าชุดนักเรียนภายในร้านศึกษาภัณฑ์ที่มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรไว้รองรับด้วย ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังได้จัดงาน "รวมใจ..เพิ่มสุข..ช้อปสนุก..ลดรับเปิดเทอม" ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. ถึง 13 พ.ค. 2561 ระยะเวลา 18 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ จำนวน 14 รายทุกสาขา กว่า 13,500 สาขาทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียน 4 ราย ได้แก่ ร้านศึกษาภัณฑ์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ร้านน้อมจิตต์ ห้างตราสมอ และร้านสมใจนึก ลดราคาสูงสุด 70% มีทั้งสินค้าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน และสินค้าอุปโคบริโภคที่จำเป็น ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช นมยูเอชที สินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก และสินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องครัว เป็นต้น
"การจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะมียอดขายสินค้าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท สามารถช่วยลดภาระรายจ่ายผู้ปกครองและลดภาระค่าครองชีพประชาชน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ทำให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายเท่าเดิมแต่ได้สินค้าเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัว" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว.