“แจ็ค หม่า” พร้อมนำประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล ยืนยันอาลีบาบาไม่ผูกขาดตลาดออนไลน์ในไทย ไม่มุ่งแสวงหากำไร เน้นสร้างความสามารถให้ธุรกิจและพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จ เผยจุดแข็งของคนและวัฒนธรรมไทยมีเคมีตรงกับคนจีน เปิด 8 แผนงาน อาลีบาบาร่วมมือไทยส่งออก–ค้าขาย–โลจิสติกส์–ระบบการเงินดิจิทัลแบบครบวงจร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายแจ็ค หม่า เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยบริษัทอาลีบาบามีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และจะการ ดำเนินโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในหลากหลายมิติ และขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความมั่นใจในการเข้ามาร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัทอาลีบาบา และพร้อมที่จะร่วมมือและพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ขณะที่ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับ อาลีบาบา กรุ๊ป ในความร่วมมือด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ภายใต้บันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ จากนั้นนายแจ็ค หม่า ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามประมาณ 15-20 นาที มีใจ ความสำคัญว่า จีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นตลาดผู้บริโภค ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการขยายตัวของกำลังซื้อของคนชั้นกลางของจีนที่มี 350 ล้านคน ไปสู่อีกหลายร้อยล้านคน ในอนาคตจีนจะนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับนโยบายเปิดการค้าเสรีของจีน คงไม่มีเวลาที่ดีกว่านี้อีกแล้วที่ประเทศต่างๆจะใช้โอกาสนี้ในการส่งสินค้าไปยังตลาดจีน ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรตกขบวนรถไฟสายนี้ และเป็นโอกาสอันดีที่อาลีบาบาก้าวเข้ามาลงทุนในไทย
ที่สำคัญคือผลิตผลทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทุเรียน ลำไย หรือผลไม้ต่างๆ ล้วนเป็นสินค้าที่ชาวจีนชื่นชอบและด้วยจุดแข็งในเรื่องผู้คนและวัฒนธรรมของไทย ที่อาจกล่าวได้ว่าเคมีตรงกันกับประชากรชาวจีน จึงเป็นศักยภาพที่มีพลานุภาพทำให้อาลีบาบามาลงทุนเป็นประเทศแรกๆในอาเซียน นอกเหนือจากมาเลเซีย ที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ รวมทั้งนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้มั่นใจในอนาคตและศักยภาพการเติบโตของไทย โดยกลุ่มอาลีบาบายืนยันที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาว กับไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล
“กรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าการเข้า มาลงทุนของอาลีบาบาจะผูกขาดตลาดการค้าออนไลน์ในไทย ผมขอยืนยันว่าเราไม่ได้ทำธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรหรือผูกขาดทางการค้า แต่เน้นการสร้างความสามารถให้ธุรกิจและคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จ เพราะกำลังคนยังมีไม่เพียงพอ และหากได้คนที่ประสบ ความสำเร็จเข้ามาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ก็จะสำเร็จไปด้วยกัน”
นอกจากนั้น การทำธุรกิจในประเทศไทยอาลีบาบาจะใช้นโยบาย “3 www” ประกอบด้วย w ตัวแรกคือ ประชากรในประเทศที่ลงทุน โดยเฉพาะชาวนา เกษตรกร คนรุ่นใหม่ w ตัวที่ 2 คือ หุ้นส่วนการลงทุน w ตัวที่ 3 คือ อาลีบาบา ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องเดินไปด้วยกัน
นายแจ็ค หม่า กล่าวว่า ไม่ต้องการทำสงครามทางการค้าไม่ว่ากับประเทศใด ใครจะรบกับใคร เพราะเชื่อในการค้าขายเสรีจะทำให้ทุกคนสามารถค้าขายกันได้ทั่วโลก โดยอาลีบาบามีเป้าหมายที่จะทำให้โลกเกิดความสมดุล เท่าเทียม และเป็นธรรม และในที่สุดการค้าจะช่วยแก้ปัญหาการเมืองได้ โดยเราต้องการสร้างฐานข้อมูลด้านการค้าระบบออนไลน์ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในภูมิภาคก่อนก้าวไปสู่ตลาดโลก โดยอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ก็จะเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนในแอฟริกาอีกภูมิภาคหนึ่ง
“เม็ดเงินลงทุนในไทยนับจากนี้ไป หากโครงการใดไม่เกิน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผมอาจไม่ได้รับรายงานจากทีมงานซึ่งให้เดินหน้าได้เลย และยืนยันลงทุนในไทยอย่างแน่นอน ในทุกจังหวะเวลาที่มีโอกาสในเรื่องของการส่งออก นำเข้าและการท่องเที่ยว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนงานการลงทุนและความร่วมมือของบริษัทอาลีบาบากับหน่วยงานของไทยจะมี 8 ด้าน คือ 1.การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยคือข้าวและผลไม้ โดยภายในปี 2561 อาลีบาบามีเป้าหมายช่วยส่งออกข้าวไทย 45,000 ตัน และปี 2562 จำนวน 120,000 ตัน 2. การส่งออกสินค้าไทยสู่นานาชาติมีเป้าหมายส่งออกสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือโอทอปของไทย 10 รายต่อปี หรือขั้นต่ำจำนวน 50 รายการสินค้า 3.ด้านการท่องเที่ยว จะช่วยให้เกิดการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยเพิ่มจุด Alipay ในร้านค้าและโรงแรม 20 จุดท่องเที่ยวสำคัญ 4.การพัฒนาบุคลากรจะอบรมอี-คอมเมิร์ซระดับเป็นอาจารย์ 100 ราย เอสเอ็มอี 30,000 คน และผู้ประกอบการ สตาร์ตอัพจำนวน 10 ราย
5.การลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า 11,000 ล้านบาท ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย โดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า สามารถจัดส่งสินค้าภายในประเทศภายใน 24 ชั่วโมง และทั่วโลกภายใน 72 ชั่วโมง เปิดดำเนินการได้ในปี 2562 6.ด้านการส่งเสริมดิจิทัล จะใช้ ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีของไทย 7.ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ให้บริการด้านภาษี พิธีการศุลกากร และการแลกเปลี่ยนเงินออนไลน์ครบวงจร ให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2562 และ 8.การเงินดิจิทัล จะอำนวยความสะดวกการค้าออนไลน์ผ่านระบบ Alipay.