แจงชัดๆ 'ธนาคารเซเว่น' รับฝาก-ถอนเงิน เรื่องคาใจชาวโซเชียล

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แจงชัดๆ 'ธนาคารเซเว่น' รับฝาก-ถอนเงิน เรื่องคาใจชาวโซเชียล

Date Time: 20 ก.พ. 2561 05:00 น.

Video

ไทยฝันเป็น “ฮับการเงิน” แต่จะไปให้ถึงยังไงดี ? | Digital Frontiers

Summary

  • แบงก์ชาติ แจงตั้ง ”เซเว่น” ทำธุรกิจเหมือนธนาคาร เข้าใจคลาดเคลื่อน ย้ำยังไม่ให้ใบอนุญาต แค่ทำหน้าที่ตัวแทนแบงก์ รับฝากเงิน-ชำระเงิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ จ่อประกาศราชกิจฯ ปรับเกณฑ์ช่องทางบริการของแบงก์ รองรับปิดสาขา คาดมี.ค.นี้...

แบงก์ชาติ แจงตั้ง ”เซเว่น” ทำธุรกิจเหมือนธนาคาร เข้าใจคลาดเคลื่อน ย้ำยังไม่ให้ใบอนุญาต แค่ทำหน้าที่ตัวแทนแบงก์ รับฝากเงิน-ชำระเงิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ จ่อประกาศราชกิจฯ ปรับเกณฑ์ช่องทางบริการของแบงก์ รองรับปิดสาขา คาดมี.ค.นี้...

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงข่าวที่ออกมาว่า ธปท.อนุญาตให้เซเว่น อีเลฟเว่นเป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ (Banking Agent) ทำธุรกิจเหมือนธนาคาร ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตัวแทนธนาคารพาณิชย์ หรือแบงก์กิ้งเอเยนต์ จะถูกแต่งตั้งโดยธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่แทนในการรับฝากเงินและรับชำระเงิน ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สามารถรับฝากเงิน ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย แอร์เพย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถรับชำระเงินแทนธนาคาร บิ๊กซี โลตัส ที่รับชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ดังนั้นแบงก์กิ้งเอเยนต์ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่

ในส่วนการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ หรือแบงก์กิ้งเอเยนต์ เป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งได้อยู่แล้ว โดยธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ได้ขยายให้ครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ สามารถให้บริการ รับฝาก ถอน โอน ชำระเงิน สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งตามหลักเกณฑ์นี้ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สอดคล้องกับกลยุทธ์การให้บริการลูกค้าของธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ ตัวแทนที่ธนาคารพาณิชย์เลือกแต่งตั้ง จะต้องมีสถานที่ให้บริการเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน มีเครื่องมือและระบบการให้บริการรองรับการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย โดยประเด็นสำคัญธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลรับผิดชอบการให้บริการของตัวแทนเสมือนหนึ่งเป็นผู้ให้บริการเอง ดังนั้นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงผู้ที่ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งในการให้บริการแทนในธุรกรรมบางประเภท มิใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต จาก ธปท. ซึ่งในปัจจุบันธปท. ยังไม่มีนโยบายในการให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ธปท.ได้ออกเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งแบงก์กิ้งเอเยนต์ ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีทั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง เช่น ธนาคารกสิกรไทย แต่งตั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสให้เป็นผู้ดำเนินการแทนธนาคารพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าใช้โอนเงินไปต่างจังหวัด หรือ ธนาคารไทยเครเดิตเพื่อรายย่อย มีการแต่งตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย เพื่อรับฝากเงิน เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศดำเนินการ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังกลาเทศ และอินเดีย เพื่อเป็นการกระจายการให้บริการทางการเงินครอบคลุมมากขึ้น

อย่างไรก็ตามธปท.จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางการให้บริการธนาคารพาณิชย์ใหม่ ซึ่งมีหลักเกณฑ์แบงก์กิ้งเอเยนต์ รวมอยู่ด้วย ขณะนี้รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะเริ่มใช้ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยจะขยายแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ไปยังนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และบุคคลธรรมดา รวมถึงให้สามารถรับ ถอนเงินได้ จ่ายเงินผู้ใช้บริการรายย่อย โดยให้บริการไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย หลังจากที่ผ่านมาแบงก์กิ้งเอเยนต์ รับฝากเงิน รับชำระเงิน จ่ายเงินผู้ใช้บริการรายใหญ่ได้เท่านั้น

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงปลักเกณฑ์ใหม่ ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้อำนาจคณะกรรมการแต่งตั้งนิติบุคคลเป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ ได้เอง ไม่ต้องขอ ธปท.เหมือนในอดีต และธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผู้ใช้บริการเสมือนให้บริการเอง โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องให้ข้อมูลลูกค้าชัดเจนว่ามีแบงก์กิ้งเอเยนต์ ที่ใดบ้าง แต่ละแห่งมีการคิดค่าธรรมเนียมใช้บริการอย่างไร ให้ผู้ใช้เป็นผู้เลือกโดยธปท.ไม่ได้มีเกณฑ์ไปกำหนด

ส่วนบุคคลธรรมดาถ้าต้องการเป็นตัวแทนธนาคาร เช่น ร้านค้าในชุมชน กลุ่มสหกรณ์ ทางธนาคารพาณิชย์ต้องเสนอบุคคลธรรมดารายนั้นมายัง ธปท. เพื่อขออนุญาต ให้แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนธนาคารได้เป็นรายกรณี ซึ่งจะเป็นการควบคุมความเสี่ยงอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ในอนาคต

สำหรับสาระสำคัญของเกณฑ์ฉบับใหม่ ต้องการให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและช่องทางให้บริการ แบ่งเป็น สาขาธนาคารจะมีความยืดหยุ่นขึ้น ทั้งเรื่องธุรกรรม วันเวลาทำการ และให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ โมบาย แบงก์กิ้ง และการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ โดยขยายไปยังนิติบุคคลที่ต้องมีหลักแหล่งในการให้บริการอย่างชัดเจน มีเครื่องมืออุปกรณ์และระบบที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยง

พร้อมย้ำว่าได้ตระหนักถึงการที่ธนาคารพาณิชย์มีการปรับรูปแบบช่องทางการดำเนินธุรกิจ และอาจมีการปิดสาขา หลักเกณฑ์ฉบับใหม่จึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องมีมาตรการในการดูแลลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ โดยต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับสาขา ช่องทางให้บริการที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์และแจ้งให้ ธปท.ทราบทุกปี รวมถึงกำหนดให้มีช่องทางทดแทนการให้บริการลูกค้าที่เพียงพอ และต้องกำหนดแนวทางการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ขณะที่น.ส.เมทินี ศุภสวัสดิกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.ยืนยันว่าการที่แบงก์พาณิชย์จะแต่งตั้งแบงก์กิ้งเอเยนต์ ต้องมีการดูแลอย่างเข้มข้น โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่มีหลักแหล่งเชื่อถือได้ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือมีคดีทางอาญาและฉ้อโกง การแต่งตั้งตัวแทนต้องพิจารณาตามความเหมาะสม มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี ธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวแทน ซึ่งต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของแบงก์กิ้งเอเยนต์ต่อสาธารณะ รวมทั้งค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นทางเลือกกับประชาชนในการตัดสินใจ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ