แบงก์ไทยพาณิชย์ ประเมิน 3 อุตสาหกรรมจ่อรุ่งรับกำเนิดอีอีซี “อุตสาหกรรมการบิน-โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คาดช่วยการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 แสนตำแหน่งต่อปี ดึงนักท่องเที่ยวไปฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง มากกว่า 1 ล้านคันต่อปี ฝันจีดีพีปี 64 เติบโตสูงกว่า 5%
นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน “เจาะลึกอุตสาหกรรมเด่นขานรับโครงการอีอีซี” ว่า นโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นก้าวที่สำคัญของโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยจากการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 3 กลุ่มที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของการพัฒนาพื้นที่อีอีซี
“โดยอีไอซีคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคม และสาธารณูปโภค มีสูงถึง 40,000 ล้านบาทในปีนี้ และอีก 110,000 ล้านบาท ในระยะต่อไป ซึ่งการลงทุนภาครัฐนี้จะเสริมเขี้ยวเล็บทางด้านคมนาคมขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า และยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีในอนาคตอีกด้วย”
ขณะที่ธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่เน้นรองรับเครื่องบินลำตัวแคบ จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินต้นทุนต่ำเลือกใช้มีสัดส่วนกว่า 70% ของเครื่องบินที่ผ่านเข้าออกสนามบินของไทย และมีปริมาณจะเติบโตอีกกว่า 1.5 เท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในการซ่อมบำรุงอากาศยานและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพิ่มขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จะสร้างแรงดึงดูดการลงทุน Internet of Things (IoT) ต่อยอดผู้ประกอบการให้พัฒนา IoT solution ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันการใช้จ่ายด้าน IoT ของไทยยังกระจุกตัวอยู่กับอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคเกษตรยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากนัก โดยปีนี้หากใช้ IoT ในภาคเกษตรเพื่อควบคุมการให้น้ำ ควบคุมโรคและศัตรูพืช และติดตามสภาพดินจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ 30-50% และหากนำไปใช้กับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว จะทำให้เกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 480 กิโลกรัมต่อไร่
“ในขณะนี้มีความคุ้มค่าของการลงทุนในหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator : SI) โดยเมื่อพิจารณาความสามารถการทดแทนแรงงาน และค่าใช้จ่ายลงทุน พบว่าการใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติจะคุ้มทุนในเวลา 6-10 ปี ขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปัจจุบันมีอายุการใช้งานสูงสุด 12 ปี ทำให้ในอนาคตแรงงานกว่า 650,000 คน มีโอกาสที่จะถูกทดแทน เมื่อนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็จะมีการสร้างงานใหม่ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน”
นายวิธานยังกล่าวอีกว่า ภาครัฐได้ประเมินการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 100,000 ตำแหน่งต่อปี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคที่คาดว่าจะลดรายจ่ายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศกว่า 400,000 ล้านบาทต่อปี และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่บริเวณระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มากขึ้นกว่าเท่าตัวจากราว 1 ล้านคนต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีในปี 64 จะมีการเติบโตมากกว่า 5% ต่อปี จากเฉลี่ย 3% ต่อปีในปัจจุบัน และปีนี้ยังมั่นใจโตได้ 4%.