นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า วานนี้ (12 ม.ค.) คณะผู้บริหาร สรท.ได้เข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลค่าเงิน โดยรวมพอใจผลการหารือ ซึ่ง ธปท.ชี้แจงว่า ค่าบาทที่แข็งขึ้นมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนลงและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เมื่อส่งออกดีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้นก็จะกระทบเงินบาทให้แข็งขึ้นได้อีก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับเงินบาทที่แข็งค่า และแม้ว่าแนวโน้มเงินบาทจะแข็งขึ้นไปที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงจุดนี้เอกชนก็ต้องพยายามปรับตัว ซึ่ง ธปท.ชี้แจงว่า ไม่ควรจะตกใจกับเงินบาทที่แข็งขึ้นรายวัน แต่ให้มองไปข้างหน้า ซึ่งตรงกับเอกชนก็ต้องการทราบต้นทุนไปข้างหน้า เช่น 1-2 เดือน เพื่อให้กำหนดราคาขายได้ดีขึ้น ส่วนข้อถามที่ว่า ค่าเงินที่เหมาะสมเอกชนเห็นว่าควรจะอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เรื่องนี้เชื่อว่า ผู้ว่าการ ธปท.คงรับทราบแล้ว และที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงิน ซึ่งเราขอให้ดูแลความผันผวนต่อไป ขณะที่เอกชนก็ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ที่น่าห่วงคือภาคเกษตร และอาหาร และอีกส่วนที่กระทบคือ รายได้ผู้ส่งออกที่แปลงเป็นเงินบาทลดลง
“ถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่ามาที่ 33 บาทได้เราก็ดีใจ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องดูแลตัวเอง และการหารือวันนี้ผู้ประกอบการเข้าใจที่ต้องมีการปรับตัว ขณะที่ในส่วนความช่วยเหลือ ธปท.มีหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการ FX OPtion ที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับรายย่อย อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่เข้ามารับฟังและรับคูปองเพื่อนำไปใช้ซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงถึง 2,000 ราย แต่นำใช้เครื่องมือจริงยังไม่ถึง 200 ราย”
ขณะที่อีกสิ่งที่ผู้ส่งออกเคยทำ แต่อาจจะลืมหรือไม่ได้ทำช่วงนี้ คือการกำหนดราคาเป็นเงินสกุลผู้ซื้อแทนการใช้เงินดอลลาร์ฯ เช่น การกำหนดโดยตรงเป็นเงินหยวนของจีน เงินยูโร สหภาพยุโรป หรือเงินเยนญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดต้นทุนได้.