ขับเคลื่อนแนวพระราชดำริ สร้างความอยู่ดีมีสุขประชาชน
น.ส.อรพรรณ คงมาลัย อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานวิจัยแนวทางขับเคลื่อนแนวพระราชดำริ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชน ภายใต้ชื่องาน “ร่วมวิจัยถวายพระองค์” เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในงานวิจัยเรื่อง “การรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” พบว่ามีบันได 7 ขั้น ที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน อาทิ การประเมินความพร้อมของกลุ่ม, การสร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และประโยชน์ของสมาชิก
นางนฤมล อรุโณทัย อาจารย์จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง” ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปศึกษาในกรณีของกลุ่มชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงและชาวเลมอแกน ที่จากเดิมมีการใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ได้หันไปสู่เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดและระบบเงินตรา โดยพบว่าการพึ่งพาตลาดและระบบเงินตรา ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปสู่การสร้างหนี้และมีการบริโภคแบบคนเมือง จึงได้ออกแบบฟื้นฟูและพัฒนาชาวเลมอแกนและ กะเหรี่ยง สู่วิถีชุมชนพอเพียงพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
นางจุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลการวิจัยเรื่อง “3 ขั้นตอนเรียนรู้จากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่” ได้พบตัวแบบธุรกิจสหกรณ์และธุรกิจชุมชน ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจแนวใหม่ใส่ใจในการค้าที่เป็นธรรม เปิดให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ สามพรานโมเดล ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบธุรกิจชุมชน ที่เชื่อมโยงภาคีและเครือข่ายทั้งใน ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้ความสำคัญกับแนวทางการค้าที่เป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนคิชฌกูฏโมเดล เป็นต้นแบบของการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จะนำผลงานวิจัยไปปรับใช้กับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ.