นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงกรณีประเทศญี่ปุ่นเสนอให้ขยายโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ไปจนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้ สนข.และญี่ปุ่น ยังไม่มีการหารือใดๆเพิ่มเติม เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ได้เดินหน้าในการดำเนินการไปมากแล้ว และข้อเสนอดังกล่าวยังซ้ำซ้อนกับเส้นทางอื่นด้วย
“เข้าใจว่าที่เราไม่ได้ตอบรับ เพราะกระบวนการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) จนใกล้จะเสร็จแล้ว แต่หากทำตามข้อเสนอนั้นต้องใช้เวลา อาจต้องหยุดและรื้อพีพีพีเก่าทิ้งหมด ซึ่งจะมีปัญหาซ้ำซ้อนกันถึง 3 โครงการ คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-โคราช และพระนครศรีอยุธยา-ระยอง ทำให้มูลค่าการลงทุนสูงไปขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติโครงการเพื่อเปิดประมูลแบบพีพีพี และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ศึกษาการขยายเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เชื่อม 3 ท่าอากาศยาน ซึ่งผลการศึกษาคืบหน้าไปกว่า 75% แล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้และได้ตัวผู้ชนะประมูลได้ในต้นปีหรือกลางปี 2561 เพราะขั้นตอนพีพีพีจะใช้ระยะเวลา 9 เดือน ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 94,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างกระบวนการขออนุมัติโครงการเพื่อเปิดประมูลแบบพีพีพี คาดว่าจะเปิดประมูลและได้ผู้ชนะประมูลในช่วงกลางปี 2561
สำหรับการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลระยะที่ 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JIC) นั้น ขณะนี้ติดขัดเรื่องงบประมาณในการศึกษา ซึ่ง สนข.อยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาลญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้เร่งรัดให้คณะอนุกรรมการไปหารือเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 60,815 ล้านบาท ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้มีความชัดเจนในการลงทุนระหว่าง กทม.กับ รฟม.หาก กทม.ไม่พร้อมลงทุน กระทรวงคมนาคมจะเสนอแก้ไขมติ คจร.เพื่อเปลี่ยนเจ้าของโครงการ เนื่องจากผู้เดินรถสามารถเช่ารางกับ รฟม.ได้.