สมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 เบี้ยรับรวมเติบโตเพิ่มขึ้น 2.28% ชู "ประกันยูนิตลิงค์" เป็นพระเอกเติบโตสูงถึง 88.86%
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 64 นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 (ม.ค. - ก.ย.) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 439,181.91 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.28% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปี 63
โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 123,132.24 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 7.42% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 316,049.67 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 0.41% และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 81%
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Investment Link ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 34,525 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 88.86% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ หรือ Health มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 58,960 บาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 9.28% และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง หรือ CI มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 11,428 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.53% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Pension ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,424 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 4.37%
นายสาระ กล่าวว่า จากการที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Universal Life และ Unit Linked เติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึง 88.86% นั้น เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ครบทุกช่วงวัยทั้งเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนและให้ความคุ้มครองประกันชีวิตอีกด้วย ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง หรือ Health & CI มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด ที่ยังคงเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องทุกวัน พร้อมกันนี้ยังมีสถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่น่ากังวลอีกหลายโรค จึงทำให้ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์บำนาญที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เป็นการสอดรับกับทิศทางการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย เนื่องจากแบบประกันดังกล่าว สามารถนำมาช่วยในการบริหารความมั่นคงของชีวิตในยามเกษียณได้เป็นอย่างดี ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตได้พัฒนาและส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญนี้สามารถตอบโจทย์ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างครอบคลุม
นายสาระ กล่าวอีกว่า สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายรอบด้าน แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไปควบคู่กับพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัลและการบริการผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย
รวมทั้งพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต โดยมุ่งพัฒนาทักษะเดิม (Up-skill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Re-skill) ยกระดับความรู้ความสามารถ สร้างมาตรฐานการทำงานแบบชีวิตวิถีใหม่ พร้อมให้การบริการที่เป็นมืออาชีพ โดยยึดมั่นจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ธุรกิจประกันชีวิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ
นอกจากการพัฒนาในหลายๆ ด้านแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงให้ความสำคัญอยู่เสมอคือ การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ตลอดจนผู้เอาประกันภัยทุกท่านว่า บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท พร้อมยึดมั่นในข้อตกลงตามสัญญาที่ได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกราย และพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยไปจนครบกำหนดสัญญา โดยบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย
โดยสะท้อนให้เห็นจากการที่ธุรกิจประกันชีวิตมีความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ด้วยอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ 323% ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 (ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ.) นับว่าสูงกว่าระดับเงินกองทุนที่กฎหมายกำหนดที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 120% และเพียงพอต่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย 1. เบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 67,401.62 บาท มีอัตราการเติบโตลดลง 9.61% และ 2. เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว จำนวน 55,730.62 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 39.12%
โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้ 1. การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 217,489 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.47% มีสัดส่วน 49.52% ยังคงถือเป็นช่องทางการขายหลักของธุรกิจประกันชีวิต 2. การขายผ่านธนาคาร จำนวน 183,117 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 5.68% มีสัดส่วน 41.70% 3. การขายผ่านช่องทางนายหน้า จำนวน 19,383 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.26% มีสัดส่วน 4.41%
4. การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ จำนวน 10,599 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 1.53% มีสัดส่วน 2.41% 5. การขายผ่านช่องทางอื่นๆ จำนวน 8,015 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.38% มีสัดส่วน 1.83% 6. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล จำนวน 550 ล้านบาท เติบโตลดลง 6.73% มีสัดส่วน 0.13% 7. การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ จำนวน 29 ล้านบาท เติบโตลดลง 16.43% มีสัดส่วน 0.01%.