“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ทุเรียนนนท์ หมูย่างเมืองตรัง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ญอกมละบริน่าน...” ทั้งหมดนี้ คือ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI หรือจีไอ) ของไทย
หลายคนคงสงสัย สินค้า GI คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? ทำอย่างไรถึงจะเป็นสินค้า GI? วันนี้มีคำตอบ...
เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.dip.go.th กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า “GI เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพ หรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็น “แบรนด์” ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้า”
ถ้าพูดง่ายๆ สินค้า GI เป็นสินค้าที่ผลิตได้จากท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากภูมิปัญญาเฉพาะ หรือลักษณะทางภูมิศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่นนั้น เช่น ดิน อากาศ แร่ธาตุ ฯลฯ ทำให้ได้สินค้าที่มีอัตลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะ หรือรสชาติเฉพาะ ที่สินค้าแบบเดียวกันของท้องถิ่นอื่นไม่มี และเลียนแบบไม่ได้
หากสังเกตให้ดี สินค้า GI จะมีชื่อของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ที่เป็นแหล่งผลิตห้อยท้ายมาด้วยอย่าง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้า GI แรกๆที่ขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 49 มีคำว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ด้วย ซึ่งทุ่งกุลาร้องไห้เป็นทุ่งขนาดใหญ่ในภาคอีสาน อยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และสุรินทร์
ด้วยความพิเศษของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่เป็นแอ่งกระทะ พื้นที่เป็นคลื่น สูง ต่ำ สลับกันจากระดับน้ำทะเล 200 เมตร ดินร่วนปนทราย มีธาตุโซเดียม และซิลิกา เป็นธาตุอาหารในดิน มีความเค็มในดิน อากาศแห้งแล้ง เมื่อนำข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์กข 15 มาเพาะปลูก ทำให้ข้าวมีความเครียด หลั่งสารหอมปริมาณ 0.1-0.2 ไมโครกรัม ทำให้หอมกว่าข้าวหอมมะลิจากที่อื่น และยังมีลักษณะเฉพาะ คือ เมล็ดยาว เรียว ไม่มีหาง เมื่อหุงแล้วมีกลิ่นหอม นุ่ม
ประกอบกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่คัดเลือกพันธุ์ วิธีเพาะปลูก ที่ทำคันนาและแบ่งเป็นแปลงๆ เพื่อเก็บน้ำ ระบายน้ำออกก่อนเก็บเกี่ยวราว 10 วัน และเก็บเกี่ยวในระยะพลับพลึง ตากข้าว 2-3 วันเพื่อลดความชื้น ทำให้ข้าวหอมมะลิที่นี่ต่างจากข้าวหอมมะลิในแหล่งผลิตอื่น จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI และข้าวหอมมะลิจากแหล่งอื่นไม่สามารถใช้คำว่า “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ได้
การขึ้นทะเบียนสินค้า GI เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยในแง่ผู้ผลิต สินค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับความคุ้มครอง คนในท้องถิ่นอื่นที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน เอาชื่อ GI ไปใช้โปรโมตสินค้าตนเองไม่ได้ เพราะจะเป็นการละเมิด และมีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยสินค้าใดที่เป็น GI แล้ว มูลค่าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า ช่วยยกระดับรายได้ท้องถิ่น และยังทำให้ผู้ผลิตต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐานของสินค้า เพื่อคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของสินค้า ส่งผลให้ขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศอีกทั้งยังเปิดแหล่งผลิตเป็นที่ท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้ชุมชนได้อีก
ส่วนผู้บริโภค จะมีความเชื่อมั่นในการบริโภคมากขึ้น เพราะสินค้า GI จะมีตราสัญลักษณ์รับรองติดไว้ที่ตัวสินค้า การันตีว่าเป็นสินค้า GI แน่นอน ทำ ให้ได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นสินค้าหายากเฉพาะถิ่น
ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน GI ครบ 77 จังหวัดแล้ว รวม 152 สินค้า มูลค่าตลาด GI ในประเทศ สูงถึงกว่า 36,000 ล้านบาท สำหรับปี 65 มีเป้าหมายผลักดันการขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 18 สินค้า
นอกจากนี้ ยังมีสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 6 สินค้า ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป, เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน เวียดนาม, กาแฟดอยตุง กัมพูชา, ผ้าไหมยกดอกลำพูน อินโดนีเซีย และอินเดีย
และมีอีก 10 สินค้ารอขึ้นทะเบียนใน 5 ประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ทุเรียนปราจีน มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี จีน, กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น ญี่ปุ่น, มะขามหวานเพชรบูรณ์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน เวียดนาม, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง อินโดนีเซีย และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง มาเลเซีย
มาถึงตรงนี้อาจมีคำถามอีกว่าจะขึ้นทะเบียนสินค้า GI ได้อย่างไร ง่ายๆเพียงแค่ชุมชน หรือผู้ผลิตที่มีสินค้าในท้องถิ่นยื่นคำขอกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อกรมพิจารณาแล้วและเห็นว่าสินค้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของสินค้า GI ก็จะขึ้นทะเบียนให้ และใช้ชื่อ GI โปรโมตสินค้าได้เลย
โดยเมื่อสินค้าใดขึ้นทะเบียนแล้ว กรมจะช่วยเหลือในการควบคุมคุณภาพ สร้างบรรจุภัณฑ์ ประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก และขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหากสินค้าใดเป็นที่นิยมของผู้บริโภคต่างประเทศ ก็จะยื่นคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองด้วย
เมื่อมีข้อดีมากมายขนาดนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงมุ่งผลักดันให้มีสินค้า GI เพิ่มขึ้นให้มากที่สุด เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชุมชนผู้ผลิต และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก.
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์