วันศุกร์ที่ผ่านมา รศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพอาเซียนและประธานหลักสูตร จัดพิธีเปิดการอบรม หลักสูตร Wellness&Healthcare Business Opportunity Program for Executives (WHB) รุ่น 1 ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มี ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภาฯ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อนาคตของธุรกิจบริการสุขภาพและเวลเนสของไทยภายใต้วิกฤติโควิด-19 โอกาสและความท้าทาย” ฟังแล้วก็ต้องบอกว่าท้าทายจริงๆครับ
เพราะ ธุรกิจเวลเนส ที่จะมากับ Wellness Tourism กำลังเป็น “ธุรกิจแห่งอนาคต” ที่จะมาแทน ธุรกิจการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ แม้จะสร้างรายได้ให้ประเทศไทย ปี 2562 สูงถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับ Wellness Tourism ในอนาคตจะสร้างรายได้เพิ่มอีกหลายเท่า
ข้อมูลจาก Global Wellness Institute ระบุว่า ปี 2561 เศรษฐกิจเวลเนส (Wellness Economy) ทั่วโลกมีมูลค่าตลาดรวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ กว่า 137 ล้านล้านบาท โดยมี ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายและความงามและการชะลอวัย มาเป็นอันดับ 1 กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ 33 ล้านล้านบาท อันดับ 2 ธุรกิจเกี่ยวกับการออกกำลังกาย 828,000 ล้านดอลลาร์ 25.25 ล้านล้านบาท อันดับ 3 โภชนาการเพื่อสุขภาพและการลดน้ำหนัก 702,000 ล้านดอลลาร์ 21.41 ล้านล้านบาท อันดับ 4 การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism) 639,000 ล้านดอลลาร์ 19.48 ล้านล้านบาท อันดับ 5 ธุรกิจด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive& Personalized Medicine) 575,000 ล้านดอลลาร์ 17.53 ล้านล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ระหว่าง Medical Tourism กับ Wellness Tourism ของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า Medical Tourism มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 3.6 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 41,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 9,195 คน แต่ Wellness Tourism มีนักท่องเที่ยว 12.5 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 409,200 ล้านบาท มีการจ้างงาน 530,000 คน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ไปยังธุรกิจอื่นๆ
รศ.ดร.นพ.ภูดิท พูดถึงนิยามของ Wellness และ Wellness Economy ว่า Wellness คือการแสวงหากิจกรรมทางเลือก และวิถีชีวิตที่นำไปสู่สภาวะสุขภาพองค์รวม มีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี ส่วน Wellness Economy หมายถึง อุตสาหกรรมที่ช่วยให้ผู้บริโภคนำเอา กิจกรรมและวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีเข้าไปสู่ชีวิตประจำวัน
เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ Wellness Economy ยังครอบคลุมเศรษฐกิจต่างๆ อีกหลายภาคส่วน อาทิ อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness Real Estate) การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism) สปา (Spa Economy) น้ำพุร้อน/น้ำแร่ การออกกำลังกายและจิตใจ (Fitness & Mindbody) การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการ และการลดน้ำหนัก (Healthy eating Nutrition & Weight loss) การดูแลส่วนบุคคล ความงาม การชะลอวัย (Personal care Beauty & Antiaging) การแพทย์เชิงป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล และการสาธารณสุข (Preventive and Personalized Medicine and Public health) รวมทั้ง การแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก
วันนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พยายามผลักดันให้ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นการท่องเที่ยวแบบเดิมๆที่พึ่งจำนวนนักท่องเที่ยว ไม่คุ้มค่าทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไป วันนี้แนวคิดโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังจากที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ Wellness Tourism จึงเป็น “ธุรกิจแห่งอนาคต” ที่กำลังมาแรงทั่วโลก ไทยมีความเข้มแข็งทั้ง Medical Tourism และ Wellness Tourism ถ้าเชื่อมโยงสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน ประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ห่วงใยสุขภาพจากทั่วโลกอีกมหาศาลเลยทีเดียว มากกว่ารายได้การท่องเที่ยวแบบเดิมๆหลายเท่าตัว และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอันสวยงามของไทยไม่ให้ถูกทำลายไปอีกด้วย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”