สถานการณ์ปัจจุบัน...ภาค อุตสาหกรรมโลกกำลังมุ่งไปสู่ยุค 4.0 มีระบบ “ออโตเมชัน” เชื่อมโยงคำสั่งผ่าน “ดิจิทัล” เป็นหัวใจสำคัญ เป้าหมายขับเคลื่อน “การผลิต” เต็มรูปแบบ... ยกระดับสู่การเป็น “โรงงานอัจฉริยะ” หรือ “Smart Factory”
แต่ทว่า...กลับสวนทางภาคอุตสาหกรรมไทยในวันนี้ที่ร้อยละ 75 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเอสเอ็มอี ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 2.5 ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนและขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยยังติดหล่ม ก้าวไม่พ้นกับดักประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง
อาจกล่าวได้ว่าการผลักดันนโยบายส่งเสริม กระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับอย่างทั่วถึง รวมถึงเร่งผลิต ...พัฒนาคุณภาพกำลังคนอาชีวะภายในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าให้เท่าทัน...เพียงพอต่อการยกระดับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สำคัญยิ่ง
มิฉะนั้น...เรา (ไทยแลนด์) อาจตกขบวนด้านเศรษฐกิจ รวมถึงกระทบ ต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อาจไม่เป็นตามเป้าที่ภาครัฐวางไว้
สภาเศรษฐกิจโลก ระบุว่า ทักษะสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องประกอบด้วยตรรกะความรู้เชิงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ความสามารถการตัดสินใจ การวิเคราะห์เชิงระบบ การใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร และคิดเชิงวิพากษ์...เพราะบริษัทต่างๆจะเริ่มใช้ระบบออโตเมชัน รวมถึงบูรณาการกระบวนการผลิตและจัดส่งเข้าด้วยกัน ทำให้ความต้องการ
ช่างเทคนิค...ช่างสายสนับสนุนที่เกี่ยวข้องจะมีแนวโน้มสูงขึ้น
หากวันนี้ประเทศไทยยังไม่มี “หลักสูตร” รองรับการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวที่ว่านี้อย่างเพียงพอก็จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในวันหน้า
“ปฏิรูปการศึกษาไทย” ยังคงเดินหน้าให้มีหวัง “รัฐบาล” และ “กระทรวงศึกษาธิการ” มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทำการหาแนวทางเพิ่มปริมาณและคุณภาพนักเรียน...นักศึกษาอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องความต้องการของตลาด
ปัจจุบันการดำเนินงานถือว่าคืบหน้าด้วยดี “เชิงปริมาณ” พบว่า สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพทั่วประเทศล่าสุดขยับเพิ่มเป็น 39.70% ซึ่ง สอศ. กำลังเร่งดำเนินงานสร้างภาพลักษณ์ สร้างความเข้าใจและแรงจูงใจแก่ผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเพิ่มสัดส่วนให้ได้ 50% ตามนโยบายของรัฐบาล
ขณะที่ “เชิงคุณภาพ” ได้ประสานความร่วมมือรูปแบบทวิภาคีกับภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้กำลังคนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในทุกภูมิภาค นับรวมถึงโครงการความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชน
พร้อมกันนี้ได้ผนึกความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ลงนาม MOU เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี
มุ่งกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เป็นหลัก และยังร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอาชีวศึกษาให้เป็นตามมาตรฐานสากล พัฒนา “เด็กอาชีวะที่มีคุณภาพ” มีคุณลักษณะตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นั่นก็คือ สามารถสื่อสารได้ คิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น สร้างนวัตกรรมและทำงาน ได้อย่างมีคุณภาพ
น่าสนใจว่า “การผลิต” และ “พัฒนากำลังคน” หากดำเนินการโดยภาครัฐฝ่ายเดียวคงไม่สามารถสำเร็จได้เร็ววัน ภาคการศึกษาที่เป็นผู้ผลิตกำลังคนจึงจับมือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาแรงงานในทิศทางที่ถูกต้องร่วมกันทั้งระบบ
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐเปิดรับแนวทางองค์ความรู้ การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเด็กอาชีวะในเชิงคุณภาพ อาทิ โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”...ให้ความสำคัญการเร่งพัฒนา “ช่างเทคนิค” ให้มีพื้นฐานด้านสะเต็ม...มีทักษะฝีมือเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่
อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เชื่อมสู่ออโตเมติก โรโบติก ที่คืบเข้ามาในอุตสาหกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ขนาดย่อมจนถึงขนาดใหญ่
อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ย้ำว่า โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ดำเนินงานด้วยงบกว่า 1,000 ล้าน ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว มี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในสายสามัญให้กับโรงเรียนมัธยมขนาดกลางและโรงเรียนขยายโอกาส โดยจัดตั้ง “ศูนย์สะเต็ม” เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางดำเนินงาน 12 แห่งทั่วประเทศ
ถัดมา...การสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้สะเต็มให้แก่เยาวชน และส่วนสุดท้าย...การพัฒนาคุณภาพแรงงานให้มี ทักษะและฝีมือตามที่ต้องการของตลาด โดยจัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub)” เพื่อเป็นแกนกลางดำเนินงาน
“TVET Hub จัดตั้งขึ้นแล้ว 5 จาก 6 แห่งทั่วประเทศ ถือว่ามีความสำเร็จต่อเนื่องในทุกพื้นที่ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์แล้วกว่าแสนคน คาดหวังว่าศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างอาชีวะพันธุ์ใหม่ให้สำเร็จตามเป้าหมายภาครัฐได้อย่างแท้จริง”
“พลังคน”...โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขา “สะเต็ม (STEM)” ...องค์ความรู้ วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงบูรณาการกันนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องวางรากฐานตั้งแต่วัยเด็ก
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่า วันนี้โลกอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมโยงเทคโนโลยี เดิมอุตสาหกรรมอยู่เพียงคนกับเครื่องจักรก็มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามา...สิ่งเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน “การที่เราจะขับเคลื่อนไปได้หรือไม่ ศักยภาพจะเข้มแข็งหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันอาชีวะ ที่จะช่วยกันให้สามารถแข่งขันได้เท่าทัน และผลักให้ไทยต้องก้าวไปอยู่ข้างหน้าให้ได้เพราะประตูเปิดรอเราอยู่แล้ว”
“Vocational” หรือ “ช่างฝีมืออาชีวะ” เป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถทำให้เกิดผลกระทบอย่างแท้จริงเพราะในยุโรป หรืออเมริกาก็ให้ความสำคัญ...ผลิตภัณฑ์ถ้าไม่มีคุณภาพคนจะไม่เอา ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดได้จะต้องมาจากการพัฒนาส่วนนี้ ที่มาจากทั้งความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยี
การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การจะผลิตออกไป ไม่เพียงแค่ใช้แรงงาน แต่หมายถึง การมีเทคโนโลยี การมีระบบวางแผน สามารถผลิตได้ทั้งปริมาณ...คุณภาพ และที่สำคัญคือเอานวัตกรรมเข้ามาผนวกรวม สามารถวิเคราะห์ความต้องการของผู้ต้องการใช้และส่งออกของที่มีคุณภาพ โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในอเมริกา ยุโรป
“วันนี้ไทยเราอาจไม่ได้หมายถึงการจะไปแข่งกับประเทศเหล่านั้น แต่เป็นการปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศ เอาเทคโนโลยีไปขับเคลื่อนในรูปแบบของบริบทไทย...เกษตรอุตสาหกรรม 4.0 การท่องเที่ยวที่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืน หรือการเอาหุ่นยนต์เข้ามาร่วมในอุตสาหกรรมของไทยทำให้เกิดคำว่าสมาร์ทเข้ามาผลักดัน”
“อาชีวะสร้างชาติ”...10 ปีข้างหน้าจะปรากฏผลให้เห็นเป็นรูปธรรม “ไทยแลนด์ 4.0” คงไม่ไกลเกินฝัน.