นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือเบื้องต้น (เอ็มโอยู) โครงการความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการตลอด Value Chain ของภาคส่งออก ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กับพันธมิตรภาคเอกชนว่า ในฐานะกำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ ได้สั่งการให้ช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพิจารณาความสมดุลของอัตราดอกเบี้ย หากดอกเบี้ยต่างประเทศแพงกว่าในประเทศ จะทำให้เงินทุนไหลออกได้ แต่หากจะปรับขึ้น ก็คงไม่แพงเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว
“การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขึ้นกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่จะปรับขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แต่ในเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น กนง.ต้องพิจารณาทั้ง 2 ประเด็นให้เกิดความสมดุล เพื่อดูแลไม่ให้เงินไหลออกมาก แต่ก็ต้องให้มั่นใจด้วยว่าดอกเบี้ยในประเทศไม่แพง เกินไปในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้น”
สำหรับเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัวนั้น ภาคการส่งออกถือเป็นพระเอกหรือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องสนับสนุนให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ปัญหาอุปสรรคใดที่ภาครัฐช่วยได้ ก็พร้อมสนับสนุน ซึ่งขณะนี้เอกชนต้องการสภาพคล่อง เอ็กซิมแบงก์ก็มาช่วยเติมเพิ่มสภาพคล่องให้ ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะรายใหญ่ แต่จะช่วยเหลือไปยังรายเล็กๆที่เป็นห่วงโซ่ของการผลิตเพื่อการส่งออก ที่ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีในระบบมี 3.1 ล้านราย ในจำนวนนี้มีไม่ถึง 1% ที่ส่งออกสินค้าได้ ขณะที่เอสเอ็มอีก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบราว 12 ล้านคน คิดเป็น 70% ของอัตราการจ้างงานของประเทศที่ 17 ล้านคน
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือและสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เป็นผู้ส่งออกให้ได้ 100,000 ราย ภายใน 4 ปี จากปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่ส่งออกได้เพียง 30,000 ราย สำหรับวงเงินที่เตรียมปล่อยสินเชื่อราว 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% หากผ่านการรับรองจากพันธมิตร ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน.