สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยผนึกภาคีเครือข่าย เสนอ 6 มาตรการให้ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนหนุนเอสเอ็มอีอยู่รอด หลังเผชิญการล็อกดาวน์ล่าสุดซ้ำเติมอีกระลอก จี้พักต้น-พักดอกยาว 6 เดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ย
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์และภาคีพันธมิตรเครือข่าย 24 องค์กร ได้มีมติออกแถลงการณ์เสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาจากผลกระทบการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆต้องหยุดลง ซึ่งส่งผลให้เอสเอ็มอีจำนวน มากมีรายได้ที่ลดลงรวม 6 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการพักต้น พักดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอีเดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ ส่งผลต่อเอสเอ็มอีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2.มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แบ่งเป็น 2.1 เอสเอ็มอี ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็นเอ็นพีแอล มีดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่า 5% ให้ลดลงมาคงที่ 4% ซึ่งต้องการให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้ลูกหนี้เดิมแก่สถาบันการเงิน 1% โดยขอให้ลดดอกเบี้ยสำหรับเอสเอ็มอี เป็นเวลา 2 ปี และ 2.2 เอสเอ็มอีที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็นเอ็นพีแอล มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดดอกเบี้ยและค่าบริการลงมากึ่งหนึ่ง จนครบอายุสัญญา
3.มาตรการสินเชื่อ (ซอฟต์โลน) สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท กำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิ จากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากงบการเงินของผู้ประกอบการ อยู่ระหว่างการปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสะท้อนความเป็นจริง
4.ขอให้ยกเว้นการตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อข้อมูลเครดิตของเอสเอ็มอีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประ-กอบการ จึงขอเสนอให้สถาบันการเงินไม่นำข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ในช่วงการแพร่ระบาดมาพิจารณาการให้สินเชื่อ เป็นเวลา 2 ปี
5.มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ปัจจุบันได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ จึงขอให้ผลักดันกองทุนนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และขอเสนอให้มีคณะกรรมการบริหาร ที่ต้องมีสัดส่วนของภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ เปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอี มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำแข่งขันได้มากขึ้น สามารถสร้างแต้มต่อในการแข่งขันทางการตลาดได้ในอนาคตและทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบฐานภาษีได้เพิ่มขึ้น
6.กองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอี เพราะจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือน มิ.ย.64 พบว่า มีสินเชื่อในระบบทั้งหมด 17,376,812 ล้านบาท และไตรมาส 1 ปีนี้ หากประเมินสถานการณ์กลุ่มสินเชื่อที่มีแนวโน้มเอ็นพีแอลเอส (ไฟเหลือง) จะพบว่ามีถึง 432,563 ล้านบาท หรือ 13% ของวงเงินสินเชื่อเอสเอ็มอี ทั้งระบบ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 258,519 ล้านบาท (ณ ไตรมาส 4 ปี 62) ดังนั้น กองทุนนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอี ที่เป็นเอ็นพีแอลเอส จากผลกระทบโควิด-19 และก่อนหน้านี้ ได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบมากขึ้นจากปัจจุบัน.