หลังจากกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นอีก 0.25% ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 7 นับจากปี 2558 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นมาอยู่ที่ 1.75–2%
ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของเรา ซึ่งคงที่อยู่ในระดับ 1.5% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี นอกจากนั้น Fed ยังแสดงทิศทางชัดเจนว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งก่อนสิ้นปี 2561 นี้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ “มากกว่า” การประชุมในครั้งก่อน
แนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้น และการไหลกลับสหรัฐฯของเงินทุนทั่วโลกดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทย ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรต่อเนื่องมาแล้วระยะหนึ่ง
ขณะเดียวกัน เริ่มมีกระแสที่ระบุว่า แนวโน้มของการปรับทิศของนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักของโลก ทั้งสหรัฐฯ รวมถึงการชะลอการปล่อยเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังทำให้ “สภาพคล่อง” หรือกระแสเงินทุนที่เคยไหลบ่าล้นโลก “แห้งเหือด” ไปอย่างรวดเร็ว
เกิดคำถามว่า แนวโน้มดังกล่าวจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ และรุนแรงแค่ไหน
ในส่วนของ “อัตราดอกเบี้ย” นั้น หากมองจากทิศทางของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวของไทย อัตราดอกเบี้ยของไทยถือว่าเป็น “ขาขึ้น” มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นกำลังแซงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ในส่วนของ “แบงก์พาณิชย์” เริ่มขยับออกผลิตภัณฑ์ระดมเงินฝากเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ในฝั่งของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ส่งสัญญาณลุ้นให้ฝรั่งขายน้อยลงมาหลายรอบ แต่ของจริงฝรั่งยัง “ขายหนัก” ต่อเนื่องนั้น จุดนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า “เงินทุน” จะเป็นจุดที่มีความผันผวนสูงมาก เพราะเศรษฐกิจวันนี้ ยังอิงอยู่กับนโยบายการเมืองและการค้าโลก ที่ยังลมเพลมพัด สามวันดีแต่อีกสี่วันป่วน
ที่น่าสนใจคือ นักลงทุนรุ่นใหม่รับความเสี่ยงได้มากขึ้น จึงไม่สนใจลงทุนใน “สินทรัพย์ปลอดภัย” เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น แม้ว่า “ความผันผวนในบางช่วงจะสูงมาก” แต่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยกลับขึ้นไม่ “แรง” อย่างที่คาดกันไว้ ดังนั้น การพยากรณ์ว่าเงินทุนของโลกจะไปทางไหนในอนาคตจะยิ่งยากมากขึ้น
และที่ว่ากันว่า “สภาพคล่องเหือด” ก็มาจากพฤติกรรมการขายของนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่ “ขายหนัก ขายไว” เมื่อขายที่ภูมิภาคไหน จะเหมือนเม็ดเงินหายไปจำนวนมากในเวลาสั้นๆ แต่ข้อดีก็คือ “เงินที่ไปเร็วก็จะกลับเร็วเช่นกัน”
“ค่าเงินบาท” ที่ในครึ่งหลัง “เสียงแตก” ออกเป็น 2 กระแส ฝั่งหนึ่งเชื่อว่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และเงินทุนที่ไหลออก รวมทั้งดอกเบี้ยของเราที่ต่ำกว่าประเทศหลัก จะทำให้ “เงินบาทอ่อนค่า” ลงได้ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า “บาทน่าจะแข็งขึ้นน้อยๆ” ในครึ่งหลังนี้ จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูงมาก
กระทบเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นหรือไม่ คำตอบคือ กระทบแน่ แต่คนที่จะให้คำตอบได้ดีกว่า “มิสเตอร์พี” ทั้งเรื่องเงินทุน เงินบาท และดอกเบี้ย น่าจะเป็น กนง.ซึ่งจะประชุมในวันพรุ่งนี้ (20 มิ.ย.) หวังว่าจะมีคำตอบดีๆเพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้สังคมไทยที่กำลังกังวล.
มิสเตอร์พี