ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกอนาคต ตลาดเงิน-ทุน-พลังงานปั่นป่วน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกอนาคต ตลาดเงิน-ทุน-พลังงานปั่นป่วน

Date Time: 28 พ.ค. 2565 05:30 น.

Summary

  • สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จะเต็มไปด้วยความผันผวนและเป็นโจทย์ใหม่ที่แตกต่างไปจากช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จะเต็มไปด้วยความผันผวนและเป็นโจทย์ใหม่ที่แตกต่างไปจากช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า New Chapter

“ความผันผวนที่กำลังก่อตัว และจะเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คือ ปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการแซงก์ชันที่สหรัฐฯและประเทศต่างๆมีต่อรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่ยุติลงได้ง่ายนัก และยังก่อให้เกิดวิกฤติด้านราคาพลังงาน และวิกฤติอาหารโลก”

ทั้งนี้ ปัญหาราคาพลังงานและอาหารเป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับสถานการณ์นี้ ขณะเดียวกัน เฟดยังต้องแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่เคยอัดฉีดเงินเข้ามาจำนวนมาก เพื่อรองรับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยต้องดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ราคาสินทรัพย์ต่างๆที่เคยพุ่งสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็จะเริ่มกลับข้าง ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการเงินโลก ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันไปถึงสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ ทั้งยังมีโอกาสสูงมากที่การขึ้นดอกเบี้ยอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจติดลบ หรือ Recession ปีหน้า

นายกอบศักดิ์ยังกล่าวว่า ช่วงเวลารับมือกับความผันผวนนี้ ประเทศไทยต้องเตรียมการเข้าสู่โลกยุคใหม่ โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศในเอเชียถูกคาดการณ์ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าเอเชียจะเติบโตเป็นครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งสอดรับกับ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ที่ประเทศไทยต้องเตรียมแผนสำหรับเปิดรับโอกาสเหล่านี้ และเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริษัทต่างๆในภูมิภาค ทั้งเรื่องที่ตั้งสำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเชื่อมต่อด้านขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และธุรกิจสตาร์ตอัพ ส่วนโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำอย่างไรจะขับเคลื่อนไปให้ได้ การพัฒนาย่านศูนย์กลางธุรกิจหรือ CBD อีกหลายโซนที่กำลังเกิดขึ้น สำหรับเมืองที่จะเป็นศูนย์กลาง รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะสร้างเสร็จ 5 ปีข้างหน้า ระบบโลจิสติกส์ เช่น รถไฟรางคู่ หากสร้างเสร็จและเปิดพรมแดนเต็มที่ รวมถึงการลงทุนในโครงการประตูเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกที่จะช่วยเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียตะวันตกซึ่งอาจเป็นศูนย์กลางใหม่ของเอเชีย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ