น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 64 ว่าสถานการณ์ด้านแรงงานดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 1.64% ต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 63 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 630,000 คน มีการจ้างงาน 37.9 ล้านคน ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 97.6% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 98.0% สะท้อนการจ้างงานดีขึ้น
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับ หรือน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการทำงานเพิ่มมี 440,000 คน ลดลง 14.1% ส่วนผู้เสมือนว่างงาน 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มี 3.2 ล้านคน และสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ 2.27% ลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
สำหรับหนี้สินครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 3 ปี 64 มีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ชะลอลงจาก 5.1% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ด้านความสามารถการชำระหนี้ดีขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 150,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 2.89% ลดลงจาก 2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาจาก 1.ครัวเรือนรายได้สูงหรือไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ต้นเดือน ธ.ค.64 เกินเป้าหมายที่ 30,000 คัน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน 2.กลุ่มได้รับผลกระทบจากโควิดต้องการสินเชื่อ เพื่อชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยหนี้ครัวเรือนสูง อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”.