เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการแสนสิริ ฝากถึงรัฐบาล คนไทยต้องได้วัคซีน เพียงพอ รวดเร็ว เท่าเทียม ไม่มีข้อยกเว้น ถึงจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ได้เขียนบทความเรื่อง "ประชาชนไทยต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างเพียงพอ รวดเร็ว เท่าเทียม เสมอภาค ไม่มีข้อยกเว้น" โดยรายละเอียดมีดังนี้
ผมเพิ่งเขียนบทความล่าสุดว่าด้วยเรื่องของการนำเสนอมุมมองของผมให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนช่วยกันพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ข้างหน้าต่อไป ถ้าสนใจลองไปหาอ่านกันดูได้ ที่นี่ ครับ โดยเรื่องแรกที่ผมยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เรื่องของที่ประชาชนไทยต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างเพียงพอ รวดเร็ว เท่าเทียม เสมอภาค ไม่มีข้อยกเว้น
ธนาคารโลกบอกว่าเศรษฐกิจของโลกปีนี้อาจจะฟื้นตัวและเติบโตได้ถึง 5.6% จากปีก่อน แต่ภาพของการฟื้นตัวนี้จะเป็นในรูปแบบ K-shaped ทางสองแพร่งที่ยิ่งมีช่องว่างห่างกันไปเรื่อยๆ อย่างที่เราเคยได้ยินกันกล่าวคือ ประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวก็จะยิ่งดิ่งลง ทีนี้จากการศึกษาของนิตยสาร The Economist เขาบอกว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลอย่างชัดเจนว่าประเทศนั้นๆ จะฟื้นตัวได้หรือไม่ได้ เศรษฐกิจจะเติบโตหรือดิ่งเหวก็คือ "สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีน" นั่นเอง
ถ้าดูแผนภาพนี้ จะเห็นว่าในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 10 ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรได้รับวัคซีนสูงที่สุด (อย่างน้อย 1 เข็ม) ถูกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเฉลี่ย 5.5% อย่างน้อย ในขณะที่ 10 อันดับประเทศที่ได้รับวัคซีนในสัดส่วนประชากรที่น้อยที่สุดเศรษฐกิจจะโตแค่ 2.5% เท่านั้น และลองดูในกราฟดีๆ จะเห็นว่าไทยเราเองอยู่มุมล่างซ้ายใกล้ๆ กับแองโกลา ประเทศในกลุ่มแอฟริกาใต้ซาฮาราที่ GDP เค้าเล็กกว่าเราตั้ง 5 เท่ากว่าน่ะครับ
จริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะมองภาพให้ออก ถ้าอัตราการเข้าถึงวัคซีนสูง ภูมิต้านทานองค์รวมประชากรสูงขึ้นก็จะมีโอกาสที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งถ้าอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลงๆ ทวีคูณตามไปด้วย ยิ่งทำให้การเติบโตและการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจมั่นคงขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทวีคูณเช่นกัน
ที่น่าสนใจมากๆ และน่าเป็นห่วงสำหรับไทยเราคือ Goldman Sachs ให้ความเห็นว่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศที่จะถีบตัวแซงคนอื่นคือประเทศกำลังเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนในอัตราที่สูงแต่ยังไม่ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่เมื่อรัฐบาลพอใจกับสัดส่วนผู้ได้วัคซีนและประกาศผ่อนปรนเมื่อไหร่ล่ะก็ ประเทศนั้นๆ จะมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นแน่นอนจากการที่กิจกรรมต่างๆ ถูกอั้นมานาน
อันนี้ต้องมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยเรา พวกกลุ่มประเทศที่เค้ามีสัดส่วนการฉีดวัคซีนชนะเราขาดไปแล้วและเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตไม่ต้องไปมองแล้วครับ เขาทิ้งเราไปแน่ แต่พวกประเทศที่กำลังสะสมสัดส่วนผู้ได้วัคซีนในอัตราที่สูงกว่าไทยเรานี้แหละที่น่ากลัว
เมื่อใดที่สัดส่วนคนได้รับวัคซีนเขาถึงจุดเหมาะสมเพียงพอที่รัฐบาลเขาจะประกาศผ่อนปรนแซงหน้าเราเมื่อไหร่ล่ะก็ รับรองได้ว่าประเทศเหล่านี้เศรษฐกิจติดสปริงโหนกระแสทิ้งห่างเราแน่นอน ยิ่งถ้าเราช้าก็จะยิ่งโดนประเทศพวกนี้แย่งชิงโอกาสทางการเติบโตเศรษฐกิจไป ดังนั้นถ้าเราจะไม่ตกขบวนรถไฟนี้หนีไม่พ้นต้องรีบฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดครับ
ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องของวัคซีนในฐานะปัจจัยสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้วก็อดไม่ได้ที่จะและเพิ่มเติมเรื่องของปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมแรงด้วย เพราะวัคซีนอย่างเดียวคงไม่พอ
รัฐบาลต้องเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้เกิดการจัดซื้อ จัดจ้าง การจ้างงานปริมาณมหาศาลตามมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อมีการลงทุนก็ต้องมีแหล่งเงิน จริงไหมครับ ก็เป็นเรื่องของการรีบเดินหน้ากู้เงินก่อนที่คนอื่นดูดเงินในระบบไปหมดเสียก่อน วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ที่ขอไว้ก็เดินหน้าต่อพร้อมกับขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (ปัจจุบันอยู่ที่ 60%) และรวมถึงเรื่องการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี อย่างเช่นควรมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ที่มั่งคั่งกว่าในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดภาวะการเงินสมดุลของประเทศ
อีกสองเรื่องที่เป็นองค์ประกอบของ GDP เราเยอะก็คือเรื่องสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยว อยากให้กลับไปพิจารณาเรื่องการพยุงราคาสินค้า หรือจะเรียกว่าประกันราคาสินค้า สำหรับสินค้าเกษตรก็จำเป็น ในขณะที่ก็ต้องเร่งแก้ปัญหาการบินไทยให้จบ จัดการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับองค์กร ให้จบ รีบปลดล็อกสายการบินประจำชาติของเราให้มีประสิทธิภาพที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยโดยเร็ว เตรียมรับการฟื้นตัวตลาดท่องเที่ยว
สุดท้าย ความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนไทยและต่างชาติก็ต้องพิจารณา การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่ระบบการเมืองในสายตาประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศ และเรื่องมาตรการดึงดูดการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน จากที่เขาอั้นกันมาเกือบ 2 ปี ตอนนี้ต้องช่วงชิงแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดฯ และสิงคโปร์ที่กำลังแซงเราไปแล้ว
ฝากไว้ด้วยครับสำหรับรัฐบาล อย่าชักช้า เดี๋ยวพวกเราทุกคนจะหมดลมกันไปก่อน