ยกแม่น้ำทั้งห้าแจงเหตุผล “ส.อ.ท.” คัดค้านลดภาษีรถยนต์นำเข้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกแม่น้ำทั้งห้าแจงเหตุผล “ส.อ.ท.” คัดค้านลดภาษีรถยนต์นำเข้า

Date Time: 15 ก.พ. 2561 10:01 น.

Summary

  • “ส.อ.ท.” ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป แจงแนวคิดให้กระทรวงการคลัง นำไปประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจ ย้ำเป็นการสวนทางนโยบายส่งเสริมการลงทุน

Latest

เศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังก้าวไม่พ้น K-Shape เพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนไทยติดกับดักหนี้ "จนข้ามรุ่น"

“ส.อ.ท.” ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป แจงแนวคิดให้กระทรวงการคลัง นำไปประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจ ย้ำเป็นการสวนทางนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ระบบเศรษฐกิจ และการจ้างงานในระบบ

นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานคลัสเตอร์ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คลัสเตอร์ยานยนต์ ที่ประกอบไปด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์, กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ของ ส.อ.ท., สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย, สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ไม่เห็นด้วยต่อการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป โดยขอให้คงอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบัน เพื่อเป็นการรักษาฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศ หลังจากที่สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ (ซีบียู) ทุกยี่ห้อ จากเดิมจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 80% โดยขอให้ปรับลดให้เหลือ 40%

นายถาวร กล่าวว่า เหตุผลที่ ส.อ.ท. คัดค้านกรณีดังกล่าว คือ 1.การปรับอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะมีส่วนในการสร้างแรงจูงใจ ในการนำเข้ารถยนต์ แทนการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศ ซึ่งโดยข้อเท็จจริง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ มากกว่า10% ของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม และมีการจ้างงาน 850,000 คน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการยานยนต์ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งรวมจำนวนผู้ประกอบการแล้วมีมากกว่า 2,500 ราย

“ปี 2560 อุตสาหกรรมยานยนต์มียอดผลิตรถยนต์ที่ 1.98 ล้านคัน การปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะทำให้เกิดการนำเข้า ทดแทนการผลิตภายในประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานของประเทศไทย รวมถึงมีโอกาสให้นักลงทุน ย้ายฐานการผลิตจากไทย ไปยังประเทศที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน”

2.การปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะไม่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุน และการรักษาฐานการผลิตของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐ มีการส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ ในหลากหลายประเภทรถยนต์ อีกทั้งภาครัฐอยู่ระหว่างการส่งเสริมการลงทุน ในเชิงพื้นที่เพื่อกระตุ้นการลงทุน อาทิ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม

“การปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะสวนทางกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน สร้างสัญญาณในเชิงลบต่อการลงทุน ไปยังนักลงทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศ ที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศเพิ่มเติม”

3.อัตราโครงสร้างภาษีนำเข้าในปัจจุบัน ทั้งรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนยานยนต์ มีความสมดุลและเหมาะสมกับสภาพการแข่งขันระหว่างรถยนต์ ที่ผลิตในประเทศและรถยนต์นำเข้าอยู่แล้ว 4.การปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ จากการเก็บภาษีนำเข้า รวมถึงการที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากการเก็บภาษีอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศ อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา เนื่องจากนักลงทุนลดปริมาณการผลิต ลดการจ้างงานในประเทศ ทำให้ปริมาณการเก็บภาษีอื่นๆที่เกี่ยวข้องลดลง

“คลัสเตอร์ยานยนต์ จึงขอแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยต่อการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป โดยขอให้คงอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบัน เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของโลก และ รักษาการจ้างงานภายในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ที่มีความชัดเจนต่อไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ