แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังตาม “หลอกหลอนคนไทย” ไม่เว้นแต่ละวันจนมีผู้ต้องตกเป็นเหยื่อเสียเงินเสียทองให้เหล่ามิจฉาชีพกลายเป็นภัยระดับชาติสร้างความเสียหายกระจายไปอย่างกว้างขวางทุกวันนี้
แล้วยิ่งปัจจุบัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปรับมุกใหม่” ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาเป็นเครื่องมือในการปลอมเลียนแบบเสียง หรือปลอมแปลงใบหน้าบุคคลอื่น สร้างคอนเทนต์ข่มขู่ล้วงข้อมูลให้เหยื่อโอนเงิน สร้างความเสียหายอย่างหนัก ล่าสุดดาราจีนที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกไปทำงานใช้ไทยเป็นทางผ่านไปประเทศเพื่อนบ้าน
เรื่องนี้มีผลถึงภาพลักษณ์ประเทศหากไม่มีมาตรการจัดการ เพราะปี 2568 มิจฉาชีพจะพัฒนาการใช้เทคโนโลยีมาหลอกคนหนักขึ้น ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า
ปัจจุบันการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต “คนไทย” มีสมาร์ทโฟนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ไม่ยาก “สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพียงปลายนิ้ว” แถมมีแพลตฟอร์มให้เลือกไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ติ๊กต่อก กูเกิล กระทั่งมาถึงการหาข้อมูลผ่าน AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนผู้ใช้งานเกิดความสะดวก และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
...
ประเด็นคือ “ปี 2568 จะแย่งชิงการใช้งาน AI” ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างเมื่อปี 2023 “เฟซบุ๊ก” ก็มีการเปิดตัว Meta Ai ตัวใหม่ในสหรัฐฯ สามารถใช้งานหรือพูดคุยกับ Meta AI ได้ “ค่าย Apple” ก็มีการเปิดตัว Apple Intelligence อันเป็นระบบเอไออัจฉริยะส่วนบุคคลของ Apple มาใช้กับ iPhone, iPad และ Mac
ดังนั้น ในอนาคตการที่ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตนั้น “มีทั้งแง่มุมที่ดี และแง่มุมที่อันตราย” เพราะด้วยการทำงานของ AI ทำให้ทุกอย่างไม่มีอยู่จริง “แต่จะดูเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการสะสมข้อมูลจากการใช้งานแต่ละคน” แล้วประมวลผลออกมาในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานนั้นได้อย่างแม่นยำ
สิ่งนี้เป็นจุดอันตรายอันจะก่อเกิดการสร้างกระบวนการ “ควบคุมจิตใจ (Mind Control)” ให้กับสังคมผ่านวิธีการสื่อสารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน “ในการเปลี่ยนแปลงความคิด และทัศนคติของผู้ใช้งาน” ผ่านอัลกอริทึมที่สามารถควบคุมผู้ใช้งานผ่านการมองเห็นซ้ำๆ เหมือนเป็นการสะกดจิตให้ผู้ใช้งานอยู่กับสิ่งนั้นตลอดเวลา
กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ “เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง” ในการจัดการเนื้อหาเพื่อตอบสนองความชอบของผู้ใช้งานจะมองไม่เห็นเนื้อหาอื่น “การรับรู้ข้อมูลส่วนอื่นก็แคบลง ส่งผลต่อความคิดทัศนคติ” ดังนั้น โซเชียลเป็นเครื่องมือทรงอิทธิพลต่อความเชื่อของประชาชน หากได้ข้อมูลบิดเบือนซ้ำๆก็จะเชื่อข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริง
เริ่มจากการสร้างการมองเห็นผ่าน “สิ่งที่ผู้ใช้งานเชื่อมโยงผู้ใช้คนอื่นที่สนใจเรื่องเดียวกัน” เป็นกระบวนการออกแบบดึงดูด จิตใจให้มีอิทธิพลเปลี่ยนความคิดเฉพาะเจาะจงต่อสาธารณชนส่งผลต่ออารมณ์ผู้นั้น
ความจริงแล้ว “กระบวนการ Mind Control” มีมานานเป็นกระบวนการใช้สื่อชี้นำให้สังคมไปทิศทางใดตามที่ผู้ส่งสาร หรือผู้ควบคุมข้อมูลข่าวสารต้องการ แล้วถ้าหาก Mind Control มีข้อมูลพื้นฐานจำนวนมาก มีความเข้าใจบริบทของสังคม “ยิ่งจะสร้างกระบวนการให้สมจริง” เพื่อเข้าไปควบคุมความคิด และทัศนคติได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
อย่างในอดีตในสมัยของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ก็ใช้กระบวนการสื่อสารเป็นข้อมูลด้านเดียวในการพูดซ้ำๆ ย้ำข้อความเดิมๆ จนประชาชนค่อยๆเปลี่ยนแปลงความคิดจนเชื่อในสิ่งที่สื่อสารออกมาเสมอ
ย้อนมาดูปี 2568 “การใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น” ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะนำส่วนหนึ่งมาใช้ในกระบวนการ Mind Control จากการสื่อสารควบคุมผู้ถูกหลอกผ่านรูปแบบต่างๆ “เป็นขั้นเป็นตอน” โดยเฉพาะการนำคนในครอบครัวมาใช้ในกระบวนการหลอกลวงแถมยังจะมีการใช้ AI เข้ามาสร้างภาพ หรือวิดีโอที่ให้ดูสมจริงมากยิ่งขึ้น
ยิ่งทำให้เหยื่อเกิดความหลงเชื่อว่า “เรื่องที่ไม่จริงกลายเป็นจริง” ดังนั้นทักษะการใช้การสื่อสารในการหลอกลวงนั้นเป็นกลไกที่ชัดเจน “เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะกับผู้ตกเป็นเหยื่อ” อันมีวิธีแตกต่างกันออกไปอย่างกรณีการใช้ AI ปลอมแปลงเอกสารทางราชการให้เหมือนกับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
แม้แต่การใช้ AI เลียนแบบเสียงให้มีความคล้ายคลึงกับบุคคลอื่น หรือใช้ AI มาปลอมแปลงใบหน้าคล้ายคลึงกับบุคคลใกล้ชิด เพื่อหลอกเหยื่อให้คิดว่าได้คุยกับคนนั้นจริงๆก่อนจะหลอกให้โอนเงินหรือทำอย่างอื่น
...
สังเกตช่วงหลังมานี้ “AI ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้งานมากขึ้น” จนทำให้ชุดข้อมูลของบุคคล ประวัติ ความชื่นชอบ แนวความคิด ทัศนคติ การใช้ชีวิต ฐานะทางสังคม ที่มีอยู่บนโลกออนไลน์สามารถนำมาประมวลผลในการสร้างกระบวนการเข้าควบคุมความคิด และทัศนคติได้ง่ายยิ่งขึ้นตามมา
อันจะเห็นได้จาก “การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์” มักมีวิธีการทำให้เหยื่อยอมเปิดกล้อง และสะกดให้อยู่กับหน้าจอมือถือแบบเชื่อสนิทใจเป็นเวลานานๆได้ “ผ่านการปลอมเป็นบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ” ที่ประชาชนจะหลงเชื่อ และจะปฏิบัติตามคำสั่งจนนำไปสู่ความเสียหายมากมาย
เรื่องนี้กลายเป็นข้อกังวลในปีนี้ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” จะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีหลอกลวงเหยื่อเพิ่มมากขึ้นไปอีก “ประชาชนก็จะตกเป็นเหยื่อสูงขึ้น” ดังนั้นการป้องกันนั้นมีความสำคัญอย่าง “สิงคโปร์” ออกกฎหมายให้ธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรับผิดชอบการสูญเสียเงินผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ
เพราะธนาคารเป็นผู้ดูแลเงินของลูกค้ามีหน้าที่ป้องกันการโอนเงินมากๆทำซ้ำๆ “ควรระงับบัญชีก่อนเกิดความเสียหาย”หากไม่ปฏิบัติต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ลูกค้าถูกหลอกลวง “เครือข่ายมือถือ”ก็มีหน้าที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานแล้วมิจฉาชีพใช้ในการสื่อสารส่ง SMS ให้เหยื่อก็ต้องมาร่วมรับผิดชอบเช่นเดียวกัน
...
สุดท้ายแล้ว “AI สามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมมหาศาล” เพียงแต่ต้องมีกรอบกำกับดูแลที่เหมาะสมในการพัฒนาการใช้งาน “ลดความเสี่ยงในการใช้เป็นเครื่องมือทำผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น” เพราะเป็นการปกป้องไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI สูงสุด
เช่นนี้การเพิ่มตระหนักรู้เท่าทัน “กระบวนการ Mind Control” จำเป็นต้องสร้างให้เข้าใจความเสี่ยงของพฤติกรรมออนไลน์ในยุค AI ให้สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดน่าเชื่อถือ และข้อมูลใดไม่น่าเชื่อถือด้วยการตรวจสอบดูแหล่งที่มาของข้อมูล สิ่งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในอนาคต.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม