ข่าวดีของคู่รักชาว LGBTQIA+ เพราะล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 399 เสียง ต่อ 10 เสียง หนุนคนหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้ ซึ่งนับว่าเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับมีอะไรบ้าง
สิทธิประโยชน์จากสมรสเท่าเทียม
หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านมติสภา และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในทุกวาระ และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในไทย "สมรสเท่าเทียม" จะมีประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังยอมรับการสมรสเฉพาะแค่เพศชาย-หญิง เท่านั้น แต่หากมีการผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่าง ดังนี้
- บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น "คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย"
- "คู่สมรส" จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น "คู่สมรส", ชาย-หญิง ปรับเป็น "บุคคล", บิดา-มารดา ปรับเป็น "บุพการี"
- ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการหมั้น, สิทธิจดทะเบียนสมรส, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ เป็นต้น
- ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
- คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- มีการปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)
...
ล่าสุดวันนี้ (27 มี.ค. 2567) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ภายหลังจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในวาระ 2 จนครบ 38 มาตรา
จากนั้นประธานในที่ประชุมได้เรียกสมาชิกลงมติ ในวาระ 3 โดยมีผู้ลงมติจำนวน 414 คน ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- เห็นด้วย 399 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 10 เสียง
- งดออกเสียง 2 เสียง
- ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือไม่ โดยมีผู้ลงมติจำนวน 401 คน ปรากฏว่า
- เห็นด้วย 393 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 3 เสียง
- งดออกเสียง 1 เสียง
- ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่งผลให้ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
หลังจากนี้ สภาจะส่งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้วุฒิสภาพิจารณาในวาระ 2-3 หากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป