แม้ว่าความเครียดจะเกิดขึ้นภายในจิตใจ แต่บางครั้งก็ส่งสัญญาณเตือนมายังอาการทางกายที่สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งเราอาจมองข้ามอาการเหล่านี้และปล่อยผ่านจนส่งผลให้เกิดโรคภัยอย่างคาดไม่ถึง

ความเครียดสามารถแบ่งปัจจัยในการเกิดได้ทั้งหมด 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ

1. ปัจจัยภายใน

เกิดจากความรู้สึกภายในร่างกายและจิตใจของตัวเองอย่างการมีโรคประจำตัว เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวช ผู้ที่มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจมาเป็นเวลานาน หรือบุคลิกภาพบางอย่างเช่น มีความวิตกกังวลมาก

2. ปัจจัยภายนอก

เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัว แบ่งออกได้ 4 เรื่องหลักๆ ดังนี้

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock
  • การทำงาน : เกิดความกดดันในการทำงานที่มาจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน การแข่งขันในการทำงานที่สูงทั้งในเรื่องเวลาที่เร่งรีบ การเข้ากันไม่ได้กับเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงแนวทางในการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะกับตัวบุคคล
  • ความสัมพันธ์ : ความเครียดจากความสัมพันธ์ในที่นี้เป็นความสัมพันธ์ทั้งคนรัก คู่ชีวิต และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ที่อาจจะเป็นปัญหาเล็กๆ แต่เรื้อรังกันมานานหรือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ รวมถึงความกดดันในเรื่องการเงินในครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ความแตกแยกของความสัมพันธ์ได้
  • ปัญหาสุขภาพ : ความเครียดที่เกิดจากโรคประจำตัวที่รักษาไม่หายหรือรักษามานานแล้วไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและคิดมาก อาการต่างๆ ที่รบกวนชีวิตประจำวัน รวมถึงอาการที่นอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนเกิดปัญหาต่อเนื่องได้
  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิต : เกิดจากการเจอเหตุการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ทันได้ตั้งตัว เช่น โดนไล่ออกจากงาน คนในครอบครัวเจ็บป่วย คนในครอบครัวหรือคนรักเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดมากขึ้นได้เช่นกัน

...

สัญญาณเตือนภาวะเครียด

  1. ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อตึง ปวดบริเวณคอหรือหลัง
  2. ปวดท้อง
  3. ปากแห้ง
  4. เจ็บหรือแน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  5. นอนหลับยาก หลับไม่สนิท
  6. เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  7. เบื่ออาหาร หรือกินจุในเมนูที่ชอบ
  8. อ่อนแอลง เป็นหวัดง่ายขึ้น
  9. ขาดความจดจ่อ สมาธิลดลง
  10. ความจำแย่ลง สะเพร่า หลงลืม
  11. กระวนกระวาย
  12. หงุดหงิดง่าย
  13. ใจร้อน โกรธง่าย
  14. วิตกกังวล
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

นอกจากความเครียดจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ที่บางอย่างก็ร้ายแรงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตในระยะยาว เช่น

  • โรคซึมเศร้า
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ไมเกรน
  • หอบหืด
  • อาการทางประสาท
  • โรคมะเร็ง

ทั้งหมดนี้คืออาการและโรคภัยที่เกิดจากความเครียดสะสมซึ่งสะท้อนสัญญาณเตือนมายังร่างกายภายนอก หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น การนอนพัก การทำงานอดิเรก เล่นกีฬาที่ชอบ พบเพื่อน นวดผ่อนคลาย ฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ รวมไปถึงการพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเจ็บป่วยที่มากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง:  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาล BMHH, สสส.