หน้าแรกแกลเลอรี่

­­­ตำนาน “วอลเลย์ไทย” กว่าจะก้าวมาถึง “วันนี้”

ซูม

12 มิ.ย. 2565 05:40 น.


คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในท่ามกลาง “ความทุกข์” ที่ถาโถมเข้าใส่คนไทยอย่างหนักหนาสาหัส นับตั้งแต่โควิด–19, เศรษฐกิจถดถอย, น้ำมันแพง ของแพง, ผู้คนตกงาน ฯลฯ สารพัดสารเพนั้น... เรายังมี “ความสุข” อย่างยิ่งหลงเหลืออยู่ประการหนึ่ง

นั่นก็คือ “ชัยชนะ” ของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยชุดที่เดินทางไปร่วมแข่งขัน ในศึก “วอลเลย์” ระดับโลก “เนชันส์ลีก 2022” ซึ่งจะแข่งกันในหลายๆประเทศสำหรับรอบแรก และสนามแรกที่เราไปร่วมก็คือ ที่กรุงอังการา ประเทศตุรเคีย ชื่อใหม่ล่าสุดของประเทศตุรกีนั่นเอง

จากการลงสนาม 4 ครั้ง เราชนะได้ถึง 3 ครั้ง เริ่มจากการปราบบัลแกเรีย 3-0, ชนะเซอร์เบีย 3-2, พลาดท่าแพ้เบลเยียม 2-3 แล้วกลับมาชนะ จีน ทีมอันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ได้ 3-2 เซต อย่างที่ต้องใช้คำว่า “โคตระมันส์”

เหนืออื่นใด แม้ผลการแข่งขันเราจะไม่ชนะรวดทุกนัด แต่ถ้าวัดรวมทั้งหมดของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะการดูการเชียร์ และความชื่นชมของแฟนๆเข้าไปด้วยแล้ว ทีมสาวไทยของเราไม่แพ้ใครเลยแม้แต่นัดเดียว

เธอสามารถเอาชนะใจของผู้คนได้เกือบทั่วโลก แม้กระทั่งผู้คนที่เป็นกองเชียร์ของชาติที่พวกเธอเอาชนะไปได้หยกๆนั่นเอง

คำถามก็คือ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะถ้าใครที่ติดตามวอลเลย์บอลมาตลอด จะทราบดีว่ากีฬาประเภทนี้คนไทยแทบไม่รู้จักมาก่อน

มิหนำซ้ำเมื่อมีการเริ่มแข่งขัน เริ่มก่อตั้งสมาคม ขึ้นในประเทศเรายุคแรกๆ ก็ลุ่มๆดอนๆมาตลอด กลายเป็นกีฬาที่ไร้ความหวัง ไร้เหรียญทอง เพราะ คนไทยยังไม่รู้จัก จึงไม่ชอบเล่น ไม่ชอบดู

ช่วงที่การแข่งขันในภูมิภาคนี้ยังเป็น เซียพเกมส์ อยู่ เราก็พอได้เหรียญทองชายบ้าง หญิงบ้าง เพราะมีแข่งเพียงไม่กี่ประเทศ แต่พอขยายเป็น ซีเกมส์ เราแทบไม่มีโอกาสสัมผัสเหรียญทองเลย และในระดับ เอเชียนเกมส์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ ในช่วงการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 10-11 และ 12 ระหว่าง พ.ศ.2522-2524-2526 วอลเลย์บอลไทยเราตกต่ำมาก ถึงขั้นไม่ได้เหรียญใดๆ แม้แต่เหรียญเดียว ไม่ว่าทีมชายหรือทีมหญิงก็ตาม

จึงเป็นที่มาของการ “ปฏิรูป” และ “กอบกู้” สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยครั้งใหญ่ เมื่อกรรมการใหม่คนหนึ่งที่ชื่อ กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม เจ้าของบริษัทกีฬา แกรนด์สปอร์ต ได้ชักชวนกรรมการทั้งชุดไปเรียนเชิญให้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ.นั้น...ปลัด พิศาล มูลศาสตรสาทร มาเป็นนายกสมาคมฯ

กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม เคยกล่าวกับหัวหน้าทีมซอกแซกว่า เราจะต้องเผยแพร่กีฬานี้ไปทั่วประเทศไทยให้จงได้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งเรามีเด็กนักเรียนที่แข็งแกร่ง และอดทนบึกบึนโดยธรรมชาติ อยู่จำนวนมาก

กระทรวงมหาดไทยดูแลทุกจังหวัดของประเทศไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะปลัดกระทรวงนั้นถือว่าควบคุมและสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทุกจังหวัด โดยตรง...นี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจเรียนเชิญท่านปลัดพิศาลมาเป็นนายกสมาคมฯของเรา

เพราะท่านมีบารมีที่สามารถจะสั่งให้ทุกจังหวัดร่วมกันค้นหาช้างเผือกมาให้พวกเราได้... เฮียกิจกล่าวย้ำถึงเหตุผลที่จะไปเรียนเชิญท่านปลัด

ผลปรากฏว่า...ท่านปลัด พิศาล มูลศาสตรสาทร ยอมรับคำเชิญ แม้ท่านจะมีงานล้นมือในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย และ “ปลัดคู่ใจ” ของนายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้น อันได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ด้วยก็ตาม

ปี 2528 ปีแรกที่ท่านปลัดพิศาลเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯได้ไม่นาน ประเทศไทยก็เป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ หนังสือ พิมพ์ไทยรัฐ โดย ผอ.กำพล วัชรพล ประกาศโครงการ “สู่เจ้าซีเกมส์” โดย ไทยรัฐ จะขันอาสาเป็นสื่อกลางเชิญชวนบริษัทห้างร้าน หรือสินค้าดังต่างๆมาร่วมเป็น “สปอนเซอร์” สมาคมกีฬาสมาคมละ 1 ล้านบาททุกสมาคม

เพื่อเป้าหมายในการให้กำลังใจแก่นักกีฬาไทย ให้สามารถคว้า “เหรียญทอง” ให้มากที่สุด จน ประเทศไทยของเราได้ “เหรียญทอง” รวมเป็นอันดับ 1 โค่น อินโด นีเซีย ที่เป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์มาโดยตลอด ให้จงได้

สมาคมวอลเลย์ บอลฯโดยท่านนายกฯ พิศาล มูลศาสตรสาทร ก็ได้เข้าร่วมในโครงการนี้กับเราด้วย และเชื่อว่าท่าน ก็คงจะใช้บารมีของท่านจัดหาสปอนเซอร์เพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการมาสมทบด้วยอย่างแน่นอน ส่งผลให้วอลเลย์บอลของเราก็ได้เหรียญทองด้วย

และแล้วประเทศไทยของเราก็คว้าเหรียญทองครองตำแหน่ง “เจ้าซีเกมส์” ได้ในที่สุด นำความปลาบปลื้มใจมาสู่พี่น้องสาวไทยทั่วประเทศอย่างใหญ่หลวง

จากนั้นมากีฬาวอลเลย์ไทยก็ติดลมบนเป็นกีฬา ยอดฮิตของนักเรียนไทยทั่วประเทศ ทำให้ มีนักกีฬาเก่งๆประเภท “ช้างเผือก” จากภูธรเข้ามา เสริมทัพทีมชาติไทยทั้งชายและหญิงอย่างต่อเนื่อง

ท่านปลัดพิศาล หรือ “ปลัดฮิ” เป็นนายกสมาคมวอลเลย์บอล จนถึง พ.ศ.2536 รวมแล้ว 8 ปีเต็ม ได้สร้างรากฐานไว้จนแข็งแกร่ง

จากนั้นก็เป็นประเพณีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย จะเข้ามารับช่วงต่อ...เริ่มจากท่าน อารีย์ วงศ์อารยะ (2536-2540), ท่าน ชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ 2540-2546, ท่าน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช (2546-2550), ท่าน พงศ์โพยม วาศภูติ (2550-2554) และท่าน สมพร ใช้บางยาง (2554-ปัจจุบัน)

ไม่มีท่านเหล่านี้...วอลเลย์บอลไทยเราคงไม่มี “วันนี้”...จึงขอขอบพระคุณทุกท่านย้อนหลังอีกครั้ง

โดยเฉพาะท่านปลัดพิศาลต้องขอขอบ พระคุณมากที่สุดเป็นกรณีพิเศษ...เข้าใจว่า ณ บัดนี้ ดวงวิญญาณของท่านคงจะติดตามการแข่งขันของลูกๆหลานๆด้วยความสุขอันเปี่ยมล้นจากวิมานแมนเบื้องบน เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ.

“ซูม”