หน้าแรกแกลเลอรี่

ถอดบทเรียน “วอลเลย์หญิง” วิธีสร้าง “ตัวตายตัวแทน”

ซูม

10 มิ.ย. 2565 05:38 น.

ผมต้องขอขอบคุณทีมชาติวอลเลย์บอลหญิงไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงในการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์วอลเลย์ระดับโลก “เนชันส์ ลีก2022” สัปดาห์แรกที่ตุรเกีย (ชื่อใหม่ของประเทศตุรกี) ที่จบลงไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และผลปรากฏว่าทีมสาวไทยเรา ซึ่งลงแข่ง 4 ครั้ง เอาชนะได้ถึง 3 ครั้ง แพ้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ปราบทีมบัลแกเรียไป 3-0 เซต, ปราบเซอร์เบียอันดับ 5 โลก 3-2 เซต, พลาดท่าเสียทีแพ้เบลเยียมอย่างน่าเสียดาย 2-3 เซต แล้วมาส่งท้ายตบชนะสาวจีนแผ่นดินใหญ่อันดับ 2 โลกไป 3-2 เซตอย่างสุดมันส์

โดยเฉพาะชัยชนะต่อทีมชาติจีนนั้นถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เลยทีเดียว เพราะส่วนใหญ่เราจะสู้เขาไม่ได้ หลังจากที่เราเคยเอาชนะได้ในการชิงแชมป์เอเชียที่นครราชสีมา เมื่อปี 2556 โน่นแล้ว

ก็ครั้งนี้แหละครับที่สาวไทยมาตบเอาชนะสาวจีนได้อย่างล็อกถล่มทลายอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ศึก “เนชันส์ ลีก 2022” ยังไม่จบครับ ยังต้องใช้เวลาแข่งอีกยาวนานมาก เพราะยังมีสัปดาห์ 2 สัปดาห์ 3 รออยู่

รายละเอียดโปรแกรมการแข่งขันของสาวไทยโปรดติดตามจากหน้าข่าวกีฬาไทยรัฐนะครับ เพื่อที่จะได้ตามลุ้นตามเชียร์กันต่อไป

ที่ผมหยิบมาเขียนถึงในวันนี้ก็ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ 1 อยากจะขอบคุณน้องๆที่นำความสุขและความภูมิใจในความเป็นไทยมาสู่พวกเราชาวไทยอย่างเหลือล้นตลอดสัปดาห์ที่แล้ว

กับ 2 อยากจะให้องค์กรหลักๆของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลลงไปถึงกระทรวง ทบวง กรม บริษัทห้างร้าน ภาคเอกชน รวมทั้งสมาคมกีฬาอื่นๆลองถอดบทเรียนการบริหาร “บุคลากร” ว่าด้วยการสร้าง “ตัวตายตัวแทน” ของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯไปใช้ดูบ้าง

เผื่อจะมีส่วนทำให้องค์กรหลักๆของประเทศทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีผู้บริหารหรือมีคนทำงานที่เก่งกล้าสามารถสืบทอดกันต่อไป โดยไม่สิ้นสุด

มาเริ่มที่การขอบคุณก่อนนะครับ ไม่ว่าจากนี้ผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นไปอีกหรืออาจจะต้องแย่ลงเพราะสาวๆของเราอาจจะกรอบขึ้น...ผมขอเรียนว่าผมพอใจเป็นที่สุดแล้วกับสิ่งที่น้องๆได้ฝากผลงานไว้ใน 4 เกมแรก

ผมมีความสุขอย่างมากกับชัยชนะที่น้องๆเก็บมาได้ และมีความภาคภูมิใจที่สุดกับความเป็น “ไทย” ที่น้องๆได้แสดงให้ชาวโลกเห็นโดยเฉพาะการเล่นแบบ “สู้ไม่ถอย” ควบคู่ไปกับ “ยิ้มสยาม” อันงดงาม

ยิ้มสยามของพวกเธอไม่เพียงชนะใจคนไทยด้วยกันเอง ยังชนะใจแฟนวอลเลย์ทั่วโลก รวมทั้งนักข่าวอีกหลายประเทศที่ตั้งคำถามและมีคอมเมนต์ไว้ว่าไม่เคยเห็นวอลเลย์หญิงทีมไหนในโลกนี้ที่เล่นไปยิ้มไป มีความสุขไป ไม่ว่าจะได้แต้มหรือเสียแต้มเหมือนทีมวอลเลย์หญิงไทยแลนด์

ส่วนในประเด็นที่ 2 เรื่องการ “สร้างตัวตายตัวแทน” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญยิ่งในหลักการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารใดๆก็ตามนั้น ผมขอขอบคุณท่านนายกสมาคมฯ สมพร ใช้บางยาง และทีมงานของท่านเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้

ผมอยากจะเรียนว่า ในทันทีที่ผมไม่เห็นชื่อ “เสาหลัก” ดั้งเดิมอย่าง ปลื้มจิตร์ ถินขาว, วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์, นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์, มลิกา กันทอง, อัมพร หญ้าผา, วรรณา บัวแก้ว ฯลฯ ในรายชื่อทีมชาติวอลเลย์หญิงไทยนั้น...หัวใจของผมแทบหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม

แล้วเราจะไปรอดไหมเนี่ยจากนี้ไปสำหรับรายชื่อของเบอร์รองๆ อย่าง พรพรรณ เกิดปราชญ์, ทัดดาว นึกแจ้ง, แก้วกัลยา กมุลทะลา, ชัชชุอร โมกศรี, พิมพ์พิชยา ก๊กรัมย์, สุพัตรา ไพโรจน์ ฯลฯ นั่นน่ะ?

แม้จะมี “ตัวเชื่อม” ระหว่างยุคสมัยอย่าง ปิยนุช แป้นน้อย อย่าง หัตถยา บำรุงสุข อยู่ร่วมทีมด้วยก็ตาม

ที่ไหนได้ หัวใจของผมกลับกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ “หน้าอก” ข้างซ้ายด้วยความปลาบปลื้มและภูมิใจสุดๆได้อีกครั้ง ดังที่เรียนไว้ข้างต้น

ขอบคุณ...นโยบายสร้าง “ตัวตายตัวแทน” ของสมาคมฯและขอบคุณ 2 ผู้ลงมือปฏิบัติคนสำคัญอันได้แก่ “โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร และ “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชระเมธากุล รวมทั้งสาวๆ นักวอลเลย์บอลหญิงทุกๆรุ่น

ฝากให้ทุกองค์กรทุกสถาบันสำคัญของประเทศ ไม่ว่าภาครัฐภาคเอกชนช่วยกัน “ถอดบทเรียน” และนำไปปฏิบัติด้วยนะครับ

เริ่มจากองค์กรสูงสุดในการบริหารประเทศ อันได้แก่ รัฐบาลก่อนเลยครับ...เตรียมตัวตายตัวแทนไว้หรือยังครับท่านนายกฯตู่...หรือว่าตัดสินใจจะเดินหน้าต่อไปด้วยตนเองแฮ่ม!

“ซูม”