หน้าแรกแกลเลอรี่

สรุปดราม่า "อิมาน เคลิฟ" นักชกหญิงแอลจีเรีย ที่ดันมีฮอร์โมนเพศชาย สูงกว่ากำหนด

ไทยรัฐออนไลน์

2 ส.ค. 2567 15:12 น.

สรุปดราม่า "อิมาน เคลิฟ" นักชกหญิงแอลจีเรีย ที่ดันมีฮอร์โมนชายสูงกว่ากำหนด หลังชนะ "แอลเจลา คารินี" นักชกสาวชาวอิตาลี ใช้เวลาแค่ 46 วินาที เพราะคู่แข่งยอมแพ้ ในศึกมวยสากล "โอลิมปิก 2024" รุ่น 66 กิโลกรัม หญิง

ต้นเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในศึก มวยสากล "โอลิมปิก 2024" รุ่น 66 กิโลกรัม หญิง ที่ทาง แอลเจลา คารินี นักชกสาวชาวอิตาลี ขอยอมแพ้หลังขึ้นชกกับ อิมาน เคลิฟ นักมวยหญิงชาวแอลจีเรีย ได้แค่ 46 วินาทีเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าตัวของเธอนั้นไม่เคยถูกชกแรงขนาดนี้มาก่อนในชีวิต (สื่อความหมายถึงไม่ใช่แรงของผู้หญิง) ก่อนทรุดตัวลงคุกเข่าร้องไห้บนเวที แถมปฏิเสธจับมือกับคู่แข่งด้วยในตอนที่กรรมการชูมือให้อีกฝ่ายชนะ เพราะรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เจอ

ประเด็นเรื่องที่ อิมาน เคลิฟ มีฮอร์โมนชายสูงกว่ากำหนดนั้นกลายเป็นที่ถูกพูดถึงไปในวงกว้าง จนทำให้มีฝ่ายที่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเขาเป็นผู้ชาย หรือนักชกที่ข้ามเพศ, แปลงเพศ เพื่อมาลงทำการแข่งขันกับนักมวยผู้หญิง ก่อนที่จะมีการอ้างอิงข้อมูลว่าเธอคือผู้หญิงจริงๆ แต่มีความผิดปกติในเรื่องของโครโมโซมต่างหาก

ตัดภาพย้อนกลับไปตอนเด็ก อิมาน เคลิฟ เกิดและเติบโตในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ณ จังหวัดเทียเรต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแอลจีเรีย โดยเกิดมาพร้อมสัณฐานอวัยวะเพศแบบหญิง นั่นทำให้บุคลากรทางการแพทย์จึงตั้งเพศกำเนิดให้เธอเป็นหญิง มาตั้งแต่แรก รวมถึงหนังสือทางราชการ หรือพาสปอร์ต ก็ระบุแบบเดียวกันมาตั้งแต่ต้น

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ อิมาน เคลิฟ เข้าสู่วงการมวยหลังจากที่ได้ดูการแข่งขันประเภทนี้ใน โอลิมปิก 2016 ที่บราซิล ซึ่งตัวของ อิมาน เคลิฟ ที่เกือบจะไม่ได้เข้าสู่วงการมวยเพราะความเชื่อ หรือศาสนาของครอบครัว ที่มองว่ามวยคือกีฬาที่มีไว้เพื่อผู้ชายเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวทุ่มเทอย่างจริงจัง ดูได้จากการหาเงินที่ได้มาจากการเก็บโลหะรีไซเคิล และใช้เงินนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางบนรถประจำทางกว่า 10 กิโลเมตร สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริง

ปี 2018 คือครั้งแรกที่ อิมาน เคลิฟ เข้าร่วมการแข่งขันในศึกชิงแชมป์โลก เมื่อตอนอายุ 19 ปี โดยจบอันดับที่ 17 จากการโดนน็อกตั้งแต่ยกแรก ถัดมาปี 2019 ก็จบอันดับ 33 จากการน็อกตั้งแต่ยกแรกในรายการเดียวกัน จากนั้นปี 2020 เป็นตัวแทนของแอลจีเรียไปลุย โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (แข่งปี 2021) โดยเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ

ต่อมาปี 2022 อิมาน เคลิฟ เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ชิงแชมป์โลกมวยหญิง อย่าง IBA Women's World Boxing Championships (จัดโดย IBA) แม้จะแพ้ในรอบชิงฯ แต่ยังมีเรื่องดีตรงที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักมวยหญิงแอลจีเรียคนแรกที่ไปถึงรอบดังกล่าว และปีเดียวกันผลงานก็เริ่มจับต้องได้จากเหรียญทองในการแข่งขัน เมดิเตอร์เรเนียนเกม, อาหรับเกม และชิงแชมป์มวยหญิงแอฟริกัน

คล้อยหลังครั้งต่อมา อิมาน เคลิฟ ที่อุตส่าห์เข้าถึงรอบชิงฯ ในรายการเดียวกัน โดนตัดสิทธิ์ก่อนที่จะทำการแข่งขัน เพราะเหตุผลทางการแพทย์ที่มีการตรวจพบฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอยู่ในระดับสูง ซึ่งคือฮอร์โมนเพศชายนั่นเอง

ทว่าแม้จะมีประเด็นเรื่องดังกล่าวแต่ทาง คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไฟเขียวให้สามารถเข้าร่วมมหกรรม โอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ได้โดยให้เหตุผลว่านักกีฬารายนี้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และข้อกำหนดทางการแพทย์ที่จำเป็นทั้งหมดทุกขั้นตอน จนได้ขึ้นสังเวียนชกกับ แอลเจลา คารินี นักชกสาวชาวอิตาลี เมื่อค่ำคืนวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสดราม่าที่สุดในตอนนี้ หรืออาจจะดราม่าที่สุดในทัวร์นาเมนต์นี้เลยก็ได้

ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีข้อถกเถียงกันว่าควรที่จะหาทางออกกับเรื่องอย่างไร จะให้ อิมาน เคลิฟ เปลี่ยนไปชกกับนักกีฬาชายก็ดูจะใจร้ายเกินไปหรือไม่ หรือถ้าจะให้ยังคงชกกับนักมวยผู้หญิงจะเป็นการเอาเปรียบเกินไปหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหารือกันซึ่งคงไม่ทันในมหกรรมครั้งนี้แน่

แต่ที่แน่ๆ ที่ทุกคนสามารถตระหนักได้เลยคือไม่ควรที่จะลดทอนความสำคัญของความหลากหลายทางเพศ หรือใช้ข้อความเชิงดูถูก บูลลี่ หรือสร้างความแตกแยก แต่ควรที่มองว่ามันคือเคสตัวอย่างน่าสนใจที่สังคมจะได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับเคสที่มีความซับซ้อนนี้ร่วมกัน.