เบี้ยหงาย
ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาอยู่ 2 รายการ หนึ่งในนั้น เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 21-30 พ.ย.ปีนี้ ที่กรุงเทพฯและจ.ชลบุรี หลังจากที่เลื่อนกันมาหลายครั้งมาก นับจากที่จะต้องจัดในปี 2021 หรือ 3 ปีก่อน
และเมื่อเลื่อนบ่อยครั้ง ก็ย่อมมีเงินสูญเปล่าไปเป็นจำนวนมาก และเงินงบประมาณที่จะใช้จัดช่วงปัจจุบันเดิมวางไว้กว่า 1,700 ล้านบาท แต่ถูกให้ปรับลดลงมาอยู่ในราว 1,300 ล้านบาท โดยจะให้ใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเป็นหลัก ซึ่งเงินก้อนนี้เป็นคนละส่วนกับงบเตรียมนักกีฬาที่ต้องใช้อีกก้อนหนึ่ง
วางคิวจัดกัน 36 กีฬาหลัก และ 2 กีฬาสาธิต ชิงเหรียญรางวัลรวม 364 เหรียญทอง นับว่าครั้งนี้จัดชิงกันมโหฬาร ส่วนความสำคัญของเกมนั้น ถ้าพูดตรงๆไม่อ้อมค้อมถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับเกมอื่นๆ ในระดับเอเชีย ซึ่งคนกีฬารู้ดีกันทั้งนั้นในประเด็นนี้ บ้างก็ว่าไม่ควรรับเอามาจัดตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ
ส่วนอีกเกมในปีหน้า กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ซึ่งจะจัดกันใน 3 จังหวัด กรุงเทพฯ ชลบุรี และสงขลา ซึ่งงบประมาณที่วางไว้ รวมทั้งจัดกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ด้วย กว่า 2,000 ล้านบาท
ซีเกมส์แม้เป็นเกมระดับภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ต้องยอมรับว่าดูจะคึกคัก สนุกสนาน และแฟนๆกีฬาให้ความสนใจกันมาก
แต่ที่เป็นประเด็นล่าสุด ก็การกำหนดชนิดกีฬา โดยทาง “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ออกมาโวยว่า กีฬายกน้ำหนักซึ่งเป็นกีฬาที่อยู่ในโอลิมปิกไม่ถูกบรรจุเข้าแข่งขัน
ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงหลักปฏิบัติว่าควรจัดกีฬาที่อยู่ในโอลิมปิก 32 ชนิดก่อน แล้วค่อยเพิ่มกีฬาพื้นบ้านอย่างมวยไทย ตะกร้อ เข้ามา
จากชนิดกีฬาที่ออกมานั้น ซีเกมส์ครั้งนี้ในกลุ่มกีฬาในโอลิมปิก มีครบยกเว้นยกน้ำหนัก กับ คาราเต้, กลุ่มชนิดกีฬาจากเอเชียนเกมส์ รวมทั้งเอเชียนอินดอร์ฯ มีฟุตซอล, มวย (มวยไทย), ปันจักสีลัต, เปตอง, เซปักตะกร้อ, บิลเลียดและสนุ้กเกอร์ และ อีสปอร์ต
กับอีกกลุ่มในส่วนของกีฬาอื่นๆ ที่เลือกกันขึ้นมา 4 ชนิด ฟลอร์บอล, คิกบ็อกซิ่ง, เทคบอล และเนตบอล
เมื่อเทียบกีฬากันเช่นนี้ก็คงจะเห็นได้ว่า การออกมาแสดงความข้องใจของ “ยกน้ำหนัก” นั้น มีเหตุผลและเป็นประเด็นที่ต้องมอง
และ 2 เกมนี้มีกีฬาที่ทับซ้อนแข่งกันอยู่หลายชนิด แม้ไม่ใช่กีฬาสากลในโอลิมปิก และระดับเอเชียนเกมส์ก็ตาม!
หลายอย่างเมื่อมี “คน” เป็นคนจับวาง ต่อให้เป็นรูปแบบคณะกรรมการก็ตาม ก็ย่อมมี “คน” ขับเคลื่อน ชี้นำ ทั้งกีฬา เอเชียนอินดอร์ฯ รวมถึง กีฬาซีเกมส์ หรือแม้แต่การประกบคู่สปอนเซอร์ ในโครงการ “1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส” ที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้วนั้น ก็มีเสียงครหาถึงความสมเหตุสมผลในหลายกีฬาที่มีความแตกต่างกัน
ภาพที่ออกมากีฬาไหนใกล้ชิดอยู่ในเครือข่ายของ “คน” ผู้มีบทบาท มีส่วนชี้นำ มักจะได้ประโยชน์มากกว่า มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ
ทั้ง 3 ส่วน ซึ่งหมายถึง 2 เกม และ 1 โครงการดังกล่าว แม้เป็นคนละเรื่อง แต่ก็ดูจะมีบริบทบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน
หรือ 3 ส่วนนี้จะมีจุดเชื่อมอยู่ด้วยกลุ่มเดียวกัน...
“เบี้ยหงาย”